คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 321/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 19 วรรค 2,4และมาตรา 20 แสดงว่าวิธีพิจารณาของศาลแขวงนั้น ต้องการให้ดำเนินการให้เสร็จไปโดยเร็ว ทั้งการฟ้องด้วยวาจาต่อศาลแขวงนั้นกฎหมายก็มิได้เคร่งครัดเหมือนการฟ้องด้วยลายลักษณ์อักษรตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1121/2502
คดีที่เสนอคำฟ้องด้วยวาจาต่อศาลแขวง กล่าวหาว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควร ที่สั่งห้ามมิให้นำน้ำแข็งเข้ามาในเขตท้องที่โดยอ้างประกาศของคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรเรื่องห้ามนำน้ำแข็งนอกเขตจังหวัดเข้ามาจำหน่ายในเขตจังหวัดซึ่งเป็นประกาศที่เกี่ยวกับเรื่องโดยตรงมาแต่เพียงฉบับเดียวเมื่อศาลสอบถาม จำเลยก็คงรับสารภาพผิดเช่นเดียวกับที่รับสารภาพต่อพนักงานสอบสวน เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยพอเข้าใจข้อหาอันเป็นความผิดได้ดีแล้ว จำเลยจะกลับโต้เถียงมาในฎีกาว่าประกาศฉบับนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่มีผลบังคับหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องด้วยวาจา จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลแขวงธนบุรีบันทึกคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2513 เวลา 19.00 นาฬิกาจำเลยซึ่งได้ทราบประกาศของคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดธนบุรีฉบับที่ 50 พ.ศ.2503 ตามสำเนาประกาศท้ายบันทึกคำฟ้องแล้ว ยังบังอาจฝ่าฝืนประกาศ กล่าวคือ ได้ใช้รถยนต์บรรทุกน้ำแข็ง 40 ซอง (12,000 ปอนด์) จากนอกเขตจังหวัดธนบุรีซึ่งไม่ใช่จังหวัดพระนครเข้ามาจำหน่ายในเขตจังหวัดธนบุรี โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย และน้ำแข็งดังกล่าวไม่ใช่น้ำแข็งที่ใช้แช่ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ กุ้ง หอย ปู ปลา เหตุเกิดที่ตำบลหนองค้างพลู อำเภอหนองแขม จังหวัดธนบุรี ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 มาตรา 8 และ 17 ประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดธนบุรี ฉบับที่ 50 พ.ศ.2503 เรื่องห้ามนำน้ำแข็งนอกเขตจังหวัดเข้ามาจำหน่ายในเขตจังหวัดธนบุรีพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489มาตรา 7, 8

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่มีความผิดเพราะประกาศฉบับที่ 50 ที่โจทก์ฟ้องไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควรแม้ประกาศจะอ้างว่าออกโดยอาศัยมาตรา 8 ของพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควรก็ไม่มีผลบังคับ พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 มาตรา 8, 17 และประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดธนบุรี ฉบับที่ 50 (พ.ศ.2503) ปรับ 500 บาท ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับ 250 บาท ยกคำขอให้จ่ายสินบนนำจับ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องที่ศาลแขวงและเป็นการฟ้องด้วยวาจา ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 19 วรรค 2 วรรค 4 กับมาตรา 20 บัญญัติไว้แสดงให้เห็นว่าวิธีพิจารณาของศาลแขวงต้องการให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็วจนถ้าผู้ต้องหารับสารภาพแล้วก็ไม่ต้องสอบสวนให้ผู้ว่าคดีนำตัวมาฟ้องด้วยวาจาได้เลย แต่ถ้าผู้ต้องหาปฏิเสธชั้นศาล ศาลต้องสั่งให้ผู้ว่าคดีรับตัวไปเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งการฟ้องด้วยวาจาที่ศาลแขวงนั้น กฎหมายก็มิได้เคร่งครัดเหมือนการฟ้องด้วยลายลักษณ์อักษร เพียงมีรายละเอียดพอสมควรให้ จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีก็พอเพียงแล้ว ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1121/2502 ระหว่าง ผู้ว่าคดีศาลแขวงพระนครใต้ โจทก์นายฉอย้ง แซ่ฉั่ว จำเลย

คดีนี้ปรากฏว่าจำเลยได้รับสารภาพตั้งแต่ต้นต่อพนักงานสอบสวนจนเมื่อผู้ว่าคดีนำตัวฟ้องต่อศาลแขวงด้วยวาจา จำเลยก็ยังรับสารภาพต่อศาลอีกอาจเป็นเพราะเหตุนี้เองก็ได้ที่ผู้ว่าคดีจึงอ้างแต่เพียงประกาศคณะกรรมการฯ ฉบับที่ 50 เรื่องห้ามนำน้ำแข็งนอกเขตจังหวัดเข้ามาจำหน่ายในเขตจังหวัดธนบุรีเพราะเป็นประกาศที่เกี่ยวกับเรื่องโดยตรง คือ ห้ามนำน้ำแข็งนอกเขตเข้ามาในจังหวัดธนบุรีและจำเลยก็คงจะทราบข้อหาดีว่าตนนำน้ำแข็งนอกเขตเข้ามาในจังหวัดธนบุรีเป็นการฝ่าฝืนประกาศฉบับนี้จริงจึงได้รับสารภาพว่าได้กระทำความผิดจริง หากแต่ศาลชั้นต้นได้หยิบยกเอาข้อที่ผู้ว่าคดีไม่อาจคาดหมายได้มาเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์เสียเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษากลับศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลย จำเลยกลับยกขึ้นเป็นเหตุฎีกาว่าประกาศฉบับที่ 50 นี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งความจริง หากจำเลยจะปฏิเสธไม่ยอมรับสารภาพในตอนที่โจทก์ยื่นฟ้อง ศาลก็ต้องสั่งให้โจทก์รับตัวคืนไปเพื่อดำเนินการสอบสวนนำตัวมาฟ้องใหม่ต่อไปเสียแล้ว หรือถ้าจำเลยโต้เถียงว่าประกาศฉบับที่ 50 ไม่มีผลบังคับ โจทก์ก็ต้องรับตัวจำเลยคืนไปเพื่อดำเนินการสอบสวนและนำมายื่นฟ้องใหม่ และโจทก์คงจะได้ยื่นประกาศฉบับอื่นที่ใช้ประกอบกับประกาศฉบับที่ 50 มาด้วยเป็นแน่ ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องด้วยวาจา จำเลยให้การรับสารภาพว่านำน้ำแข็งนอกเขตเข้ามาในจังหวัดธนบุรีจริงการที่โจทก์อ้างประกาศฉบับที่ 50 ซึ่งเป็นเรื่องห้ามนำน้ำแข็งนอกเขตเข้ามาเพียงฉบับเดียวในกรณีเช่นนี้ก็ถือว่า จำเลยพอเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว เมื่อจำเลยรับสารภาพก็ฟังลงโทษได้ส่วนในข้อวัตถุประสงค์นั้น คณะกรรมการฯ ก็ได้ระบุไว้ในตอนต้นของประกาศฉบับที่ 50 พ.ศ.2503 แล้วว่า เพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควร และข้อเท็จจริงในสำนวนไม่เพียงพอให้ฟังได้ว่าประกาศฉบับที่ 50 นี้ นอกเหนือวัตถุประสงค์ในการป้องกันการค้ากำไรเกินควรประกาศฉบับที่ 50 พ.ศ.2503 มีผลใช้บังคับตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 2068/2514 ระหว่างผู้ว่าคดีศาลแขวงธนบุรี โจทก์นายสาคร พุทธาราม จำเลย จำเลยฝ่าฝืนประกาศ จำเลยต้องมีความผิดตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share