คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7366/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในส่วนที่ 3 การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวง ข้อ 63 ถึงข้อ 80 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 และมาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติว่า การเวนคืนและการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงที่ได้ปฏิบัติไปแล้วก่อนวันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้เป็นอันใช้ได้ แต่การดำเนินการต่อไป ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์คือดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 กรณีของโจทก์ขณะที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 พ.ศ. 2515(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 มีผลใช้บังคับการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ ยังไม่เสร็จสิ้น เพราะจำเลยยังไม่ได้กำหนดค่าตอบแทนที่ดินให้แก่โจทก์ ดังนั้นการดำเนินการต่อไปจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ซึ่งตามมาตรา 25 วรรคหนึ่งกำหนดว่า ถ้าผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนการเวนคืนไม่พอใจในราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทน มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาภายใน 60 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือให้มารับเงินค่าทดแทน และตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ แต่เมื่อจำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่จะถูกเวนคืนให้แก่โจทก์แล้วโจทก์ได้รับเงินดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2531 โดยไม่ได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ซึ่งเมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ก็ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2527 ทางราชการได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตดุสิต เขตบางกอกน้อยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2527 ออกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม2527 ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 14588 ตำบลบางกรวย เนื้อที่1 งาน 32 ตารางวา อยู่ภายในเขตที่จะถูกเวนคืนด้วย ต่อมาวันที่20 พฤษภาคม 2531 จำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ตารางวาละ 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 660,000 บาทต่ำกว่าราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาด ในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับที่ดินของโจทก์มีราคาตารางวาละ 15,000 บาทรวมเป็นเงิน 1,980,000 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นอีก 1,320,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,773,750 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า เงินค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดให้แก่โจทก์เหมาะสมและเป็นธรรม โดยคิดตามราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากจำเลยเพราะจำเลยยังมิได้ผิดนัด ประกอบกับโจทก์มิได้อุทธรณ์จำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดให้แก่โจทก์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 ก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนเพิ่มขึ้นได้โดยไม่ต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก่อนนั้น เห็นว่า แม้ในขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางกรวยจังหวัดนนทบุรี และเขตดุสิต เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2527 ใช้บังคับนั้น มีประกาศของคณะปฏิบัติฉบับที่ 295ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ใช้บังคับอยู่ และพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวได้ตราขึ้นโดยอาศัยคำสั่งข้อ 63 ของประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว แต่ต่อมามีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 ประกาศใช้บังคับ โดยมีบทบัญญัติในมาตรา 7 ให้ยกเลิกความในส่วนที่ 3 การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวง ข้อ 63 ถึงข้อ 80 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวและมาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติว่า การเวนคืนและการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงที่ได้ปฏิบัติไปแล้วก่อนวันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้เป็นอันใช้ได้ แต่การดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งหมายถึงให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 นั่นเอง กรณีของโจทก์ขณะที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 มีผลใช้บังคับ การดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ ยังไม่เสร็จสิ้น เพราะจำเลยยังไม่ได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ ดังนั้นการดำเนินการต่อไปจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติเป็นใจความว่า ถ้าผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนการเวนคืนไม่พอใจในราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาภายใน 60 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือให้มารับเงินค่าทดแทน และตามมาตรา 26 วรรคหนึ่งบัญญัติเป็นใจความว่า ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ แต่คดีนี้ปรากฏว่า เมื่อจำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่จะถูกเวนคืนให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ได้รับเงินดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2531 โดยไม่ได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ซึ่งเมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ก็ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล เพราะตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ว่า ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้เมื่อได้ปฏิบัติตามมาตรา 25 แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลและพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share