คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7352/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เอกสารที่ระบุว่า ธ. และ บ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เป็นเอกสารที่โจทก์มิได้ระบุอ้างเป็นพยานและนำสืบไว้ จึงไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวว่า ธ. และ บ. เป็นกรรมการของโจทก์ได้ แม้หนังสือมอบอำนาจจะระบุว่า ธ. และ บ. เป็นกรรมการของโจทก์เป็นผู้มอบอำนาจให้ ก. มีอำนาจลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อก็ตาม ก. ก็มิใช่ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อก็ตาม ก. ก็มิใช่ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อนั้นแทนโจทก์ เนื่องจากมิได้รับมอบอำนาจจากกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เมื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 วรรคสอง กำหนดว่าสัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือ และมาตรา 798 กำหนดว่ากิจการใดบังคับโดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือการตั้งตัวแทนเพื่อกิจการนั้นต้องทำเป็นหนังสือด้วย การที่ ก. ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อดังกล่าว สัญญาเช่าซื้อจึงมีเพียงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อแต่ฝ่ายเดียว ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 572 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อพร้อมอุปกรณ์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 160,819.56 บาท แทนใช้ค่าขาดประโยชน์ 90,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาเสร็จ และใช้ค่าขาดประโยชน์อีกเดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาเสร็จ กับให้ใช้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 17,557.36 บาท แก่โจทก์
หลังจากยื่นคำฟ้องแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า หนังสือรับรองนิติบุคคลของโจทก์ระบุชื่อกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ไว้ 4 คน เท่านั้น ซึ่งกรรมการดังกล่าวไม่ได้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้ผู้ใดลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อ ผู้มอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจท้ายคำฟ้องหมายเลข 8 ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ ผู้รับมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ได้ สัญญาเช่าซื้อตามฟ้องจึงเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนก็เพียงมีสิทธิเรียกเงินที่ค้างชำระจำนวน 160,819.56 บาท เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดนัด โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันที แต่โจทก์ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจึงเป็นการสละเงื่อนเวลา โจทก์จะเรียกค่าใช้จ่ายต่างๆ และเบี้ยปรับ รวมทั้งดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 3 หาได้ไม่ จำเลยที่ 3 ไม่ได้ทำหนังสือค้ำประกัน ลายมือชื่อในหนังสือค้ำประกันเป็นลายมือชื่อปลอม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 3 จำนวน 1,500 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลมีกรรมการและอำนาจกรรมการตามหนังสือรับรอง เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1ษ – 6175 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ในราคา 618,240 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อ รวม 48 งวด งวดละ 12,037.38 บาท ชำระครั้งแรกในวันที่ 23 พฤษภาคม 2539 หลังจากนั้นชำระภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ ตามสัญญาเช่าซื้อ มีนายโกศลเป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวแทนโจทก์ ตามหนังสือมอบอำนาจ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์เพียง 38 งวด แล้วไม่ชำระอีกเลย ที่โจทก์ฎีกาว่า ในขณะมอบอำนาจให้นายโกศลทำสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 แทนโจทก์นั้น นายธีระและนายบริวัตรเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ตามหนังสือรับรองเอกสารแนบท้ายคำฟ้องฎีกา จึงเป็นการมอบอำนาจโดยชอบ นายโกศลผู้รับมอบอำนาจ จึงลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์โดยชอบ สัญญาเช่าซื้อจึงไม่เป็นโมฆะนั้น เห็นว่า แม้ตามหนังสือรับรองแนบท้ายคำฟ้องฎีกาจะระบุว่า นายธีระและนายบริวัตรเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ในช่วงระยะเวลาระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม 2538 ถึงวันที่ 16 กันยายน 2539 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่มีการทำสัญญาเช่าซื้อก็ตาม แต่โจทก์ก็มิได้ระบุอ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน ทั้งมิได้นำสืบพยานเอกสารดังกล่าวในชั้นพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้ ดังนั้น ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ คือ กรรมการที่มีรายชื่ออยู่ในหนังสือรับรองเท่านั้น ซึ่งตามหนังสือรับรองระบุว่ากรรมการของบริษัทมี 4 คน คือ นายพรชัย นายบุญรักษ์ นายลักษณ์และนางสาวนภาพร อีกทั้งกำหนดว่าต้องมีกรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์จึงจะผูกพันโจทก์ได้ ดังนั้น นายธีระและนายบริวัตรจึงมิใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ แม้หนังสือมอบอำนาจจะระบุว่านายธีระ และนายบริวัตร เป็นกรรมการของโจทก์เป็นผู้มอบอำนาจให้นายโกศล มีอำนาจลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อก็ตาม นายโกศล ก็มิใช่ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อนั้นแทนได้ เนื่องจากมิได้รับมอบอำนาจจากกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรคสอง กำหนดว่าสัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือ และมาตรา 798 กำหนดว่ากิจการใดบังคับโดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการนั้นต้องทำเป็นหนังสือด้วย ดังนั้น การที่นายโกศลลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อดังกล่าว สัญญาเช่าซื้อจึงมีเพียงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อแต่ฝ่ายเดียวย่อมตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรคสอง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อต่อโจทก์ ผู้ค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ปัญหาตามฎีกาข้ออื่นของโจทก์จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share