แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีนี้จำเลยขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นจึงสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวจนแล้วเสร็จและนัดฟังคำพิพากษา ก่อนถึงวันนัดฟังคำพิพากษาจำเลยมายื่นคำร้องว่ามิได้จงใจขาดนัด ขอให้ศาลไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งพิจารณาคดีใหม่ เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องโดยจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว ต่อมาศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 153เมื่อจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นไว้จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 704/2533 ซึ่งพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยกับพวกร่วมกันชำระเงิน6,210,127.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน4,844,404.13 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้ทันที หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน แต่จำเลยกับพวกผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์บังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแต่ได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยกับพวกคงค้างชำระหนี้โจทก์2,090,235.55 บาท จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1512 และ 1742 ตำบลสีคิ้วอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้โจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 329/2534 ของศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาที่ดินทั้งสองแปลงเป็นเงิน 1,709,125 บาท ไม่พอชำระหนี้โจทก์ในคดีดังกล่าว จำเลยค้างชำระหนี้โจทก์ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,842,597.40 บาท และจำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ พฤติการณ์เข้าข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า คดีนี้จำเลยขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวจนแล้วเสร็จและนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งในวันที่ 13พฤศจิกายน 2540 จำเลยยื่นคำร้องว่ามิได้จงใจขาดนัด ขอให้ศาลไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งพิจารณาคดีใหม่เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน2540 ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2540 และให้นัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งในวันที่ 22มกราคม 2541 จำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้น ต่อมาศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 22มกราคม 2541 ดังนี้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 จำเลยจะต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้จึงจะอุทธรณ์ได้ เมื่อจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นไว้จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ให้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน