คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7350/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า น. จดทะเบียนจำนองเรือพิพาทเป็นประกันหนี้ที่บุคคลต่าง ๆ มีต่อโจทก์ ส่วนจำเลยได้รับประกันภัยเรือพิพาทจากผู้รับโอนกรรมสิทธิ์เรือ เรือพิพาทเกิดอุบัติเหตุไม่สามารถใช้การได้ จำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่ได้รับประกันภัยแก่โจทก์ แต่จำเลยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัยทำให้โจทก์ไม่มีหลักประกันที่จะบังคับชำระหนี้ได้อีกต่อไปจึงขอให้บังคับเอาเงินประกันภัย เป็นการฟ้องโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายในเรื่องช่วงทรัพย์ ไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่า บุคคลต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นหนี้โจทก์จำนวนเท่าไร และหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วหรือไม่ และโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับชำระหนี้เอาแก่บุคคลต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วหรือไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม สัญญาประกันภัยทางทะเลตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 868 ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายทะเล แต่กฎหมายทะเลของประเทศไทยยังไม่มี ทั้งจารีตประเพณีก็ไม่ปรากฏ จึงต้องวินิจฉัยคดีตามหลักกฎหมายทั่วไป กรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลทำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ จึงควรถือกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยทางทะเลของประเทศอังกฤษเป็นกฎหมายทั่วไปเพื่อเทียบเคียงวินิจฉัย เงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยมีข้อความเป็นคำรับรอง(Warranty) ของผู้เอาประกันภัยว่า เรือพิพาทจะได้รับการตรวจสภาพและจะปฏิบัติตามคำแนะนำภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มคุ้มครองจึงเป็นคำมั่นสัญญาของผู้เอาประกันภัยที่จะต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัดตาม พระราชบัญญัติ ประกันภัยทางทะเล 1906 ของประเทศอังกฤษมาตรา 33 เมื่อเรือพิพาทเกิดอุบัติเหตุอับปางซึ่งจะเกิดจากการที่ผู้เอาประกันภัยไม่ปฏิบัติตามคำรับรองหรือไม่ก็ตาม การที่ผู้เอาประกันภัยฝ่าฝืนคำรับรองผู้รับประกันภัยย่อมปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2526 นางสาวนภาลัยปาสาทิกา ได้จำนองเรือยนต์ “เกื้อกูล” ไว้แก่โจทก์ เป็นประกันหนี้ของห้างหุ้นส่วน ป.รุ่งโรจน์ค้าวัสดุภัณฑ์และ/หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดสหสิทธิทิมเบอร์ และ/หรือบริษัทรุ่งโรจน์ทิมเบอร์ จำกัด และ/หรือนางสาวนภาลัย ปาสาทิกาวงเงินจำนอง 7,500,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีต่อมามีการโอนกรรมสิทธิ์เรือดังกล่าวให้แก่บริษัทรุ่งศิรินาวีจำกัด และเปลี่ยนชื่อเป็นเรือยนต์ “รุ่งทวี” บริษัทรุ่งศิรินาวีจำกัดได้เอาไปประกันภัยความเสียหายไว้กับจำเลยในวงเงิน จำนวน4,000,000 บาท ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2529 ระหว่างอายุกรมธรรม์ประกันภัยเรือรุ่งทวีเกิดประสบอุบัติเหตุที่เมืองแจมบี้ประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย จำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนเงินที่รับประกันภัยไว้ โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวในฐานะผู้รับจำนอง จำเลยไม่จ่ายให้โจทก์ กลับจ่ายให้บริษัทรุ่งศิรินาวี จำกัด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 4,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากไม่บรรยายฟ้องว่าลูกหนี้ตามสัญญาจำนองเป็นหนี้โจทก์อยู่จำนวนเท่าไร ถึงกำหนดชำระเมื่อใด มีการเรียกร้องและบังคับชำระหนี้เอาแก่ลูกหนี้แล้วหรือไม่ อย่างไร โจทก์ไม่ใช่ผู้รับจำนองเรือรุ่งทวีห้างหุ้นส่วนจำกัดป.รุ่งโรจน์ค้าวัสดุภัณฑ์ และ/หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดสหสิทธิทิมเบอร์ และ/หรือบริษัทรุ่งโรจน์ทิมเบอร์ จำกัด และ/หรือนางสาวนภาลัย ปาสาทิกาไม่ได้เป็นลูกหนี้โจทก์ โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวบังคับจำนองและฟ้องบังคับจำนองเรือรุ่งทวีจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยบริษัทรุ่งศิรินาวี จำกัด ไม่นำเรือไปตรวจสภาพกับบริษัทมารีนเซอร์เวเยอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และดำเนินการซ่อมแซมตามที่บริษัทดังกล่าวแนะนำภายใน 30 วัน ก่อนที่จะนำเรือไปบรรทุกสินค้าอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจำเลยได้รับเงินจากบริษัทประกันภัยต่างประเทศมาให้บริษัทรุ่งศิรินาวี จำกัดในรูปสินไหมกรุณา คือ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โดยที่ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดและโจทก์สามารถบังคับเอาจากซากเรือเป็นเงิน 286,000 บาทได้ โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 4,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2526 นางสาวนภาลัย ปาสาทิกาได้จดทะเบียนจำนองเรือชื่อเกื้อกูล หมายเลขทะเบียน ก.ท.2014แก่โจทก์เป็นประกันหนี้ของบุคคลต่าง ๆ และของนางสาวนภาลัยเองที่มีต่อโจทก์ในวงเงิน 7,500,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองและสำเนาสัญญาต่อท้ายเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ต่อมาวันที่ 2 ธันวาคม 2526 นางสาวนภาลัยได้โอนกรรมสิทธิ์เรือดังกล่าวให้บริษัทไทยรุ่งโรจน์นาวี จำกัด ตามเอกสารหมายจ.7 และวันที่ 25 เมษายน 2529 บริษัทไทยรุ่งโรจน์นาวี จำกัดได้โอนกรรมสิทธิ์เรือให้ บริษัทรุ่งศิรินาวี จำกัด และเปลี่ยนชื่อเรือจาก “เกื้อกูล” เป็น “รุ่งทวี” ตามเอกสารหมาย จ.7 (แผ่นที่ 2)ในการนี้โจทก์ได้ให้ความยินยอมแล้วตามเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.11เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2529 บริษัทรุ่งศิรินาวี จำกัด ได้เอาประกันภัยเรือรุ่งทวีไว้แก่จำเลยเป็นเงิน 4,000,000 บาท ระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2529 ถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2530 ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.13 (คำแปลเอกสารหมายจ.14 และ ล.1) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2529 เรือรุ่งทวีได้เกิดอุบัติเหตุอับปางในแม่น้ำเมืองแจมบี้ประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียจำเลยยอมจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัยเพียง 2,700,000 บาท
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่จำเลยให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้แจ้งชัดถึงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดป.รุ่งโรจน์ค้าวัสดุภัณฑ์และ/หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดสหสิทธิทิมเบอร์ และ/หรือบริษัทรุ่งโรจน์ทิมเบอร์ จำกัด และ/หรือนางสาวนภาลัยเป็นหนี้โจทก์จำนวนเท่าไรและหนี้ถึงกำหนดชำระเมื่อใด กับทั้งโจทก์ได้เรียกร้องหรือบังคับชำระหนี้เอาจากนิติบุคคลหรือบุคคลดังกล่าวแล้วหรือไม่อย่างไร จำเลยไม่เข้าใจว่า การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์กล่าวอ้างโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่า นางสาวนภาลัยได้จดทะเบียนจำนองเรือเป็นประกันหนี้ที่บุคคลต่าง ๆ มีต่อโจทก์ ในวงเงิน 7,500,000 บาทส่วนจำเลยได้รับประกันภัยเรือรุ่งทวีจากบริษัทรุ่งศิรินาวีจำกัด ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์เรือ จำนวนเงิน 4,000,000 บาท เรือรุ่งทวีเกิดอุบัติเหตุไม่สามารถใช้การได้ จำเลยมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่ได้รับประกันภัย โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองมีสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยได้โดยตรง แต่จำเลยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัยทำให้โจทก์ไม่มีหลักประกันที่จะบังคับชำระหนี้ได้อีกต่อไป ฟ้องโจทก์จึงเป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองเรียกร้องเอาเงินประกันภัยซึ่งเรือรุ่งทวีเกิดวินาศภัยไม่มีทรัพย์ที่เป็นประกันแก่โจทก์ต่อไปดังเดิม โจทก์จึงขอให้บังคับเอาเงินประกันภัยโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายในเรื่องช่วงทรัพย์ เพื่อโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จะบังคับเอาแก่เงินประกันภัยได้เหมือนอย่างเรือที่เป็นประกัน ดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 231 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าบุคคลต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นหนี้โจทก์จำนวนเท่าไร และหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วหรือไม่ และโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับชำระหนี้เอาแก่บุคคลต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วหรือไม่ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อมามีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเงินประกันภัยจากจำเลยได้หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยรับประกันภัยทางทะเลเรือรุ่งทวีจากบริษัทรุ่งศิรินาวี จำกัด ผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.13 จำเลยนำสืบว่า เนื่องจากเรือรุ่งทวีเป็นเรือเก่ามีอายุการใช้งานเกิน 15 ปีแล้ว บริษัทยูไนเต็ดอินเดียจำกัด ผู้รับประกันภัยต่อในประเทศสิงคโปร์ต้องการให้มีเงื่อนไขตรวจสภาพเรือโดยบริษัทมารีนเซอร์เวเยอร์ส (ประเทศไทย) จำกัดและข้อแนะนำต่าง ๆ จะได้รับการปฏิบัติตามภายใน 30 วันเมื่อจำเลยได้แจ้งเงื่อนไขดังกล่าวให้ผู้เอาประกันภัยทราบ ผู้เอาประกันภัยตกลงรับเงื่อนไขนี้ จำเลยจึงได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยตามเอกสารหมาย จ.13 ให้ผู้เอาประกันภัย เมื่อเรือรุ่งทวีเกิดอุบัติเหตุอับปางในแม่น้ำเมืองแจมบี้ ประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย จำเลยตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่าผู้เอาประกันภัยไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยที่กำหนดให้ผู้เอาประกันภัยไปตรวจสภาพกับบริษัทมารีนเซอร์เวเยอร์ส (ประเทศไทย)จำกัด และดำเนินการซ่อมแซมตามที่บริษัทดังกล่าวแนะนำภายใน 30 วันก่อนที่จะนำเรือไปบรรทุกสินค้า เงื่อนไขที่ว่านี้ได้ระบุไว้เป็นภาษาอังกฤษในกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.13 ที่หมายดอกจันสีน้ำเงิน 1 ดอก ซึ่งคำแปลของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.14 มีว่า”รับประกันว่าเงื่อนไขซึ่งสำรวจโดยมารีนเซอร์เวเยอร์ส (ประเทศไทย)จำกัด และคำแนะนำจะเป็นไปภายใน 30 วัน นับจากวันเริ่มต้น”ส่วนคำแปลของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 มีว่า “รับรองว่า การสำรวจสภาพโดยบริษัทมารีนเซอร์เวเยอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และข้อแนะนำต่าง ๆ จะได้รับการปฏิบัติตามภายใน 30 วันนับจากวันเริ่มต้น” คำแปลทั้งสองฝ่ายจึงมีความหมายว่า ผู้เอาประกันภัยได้รับรองที่จะให้บริษัทมารีนเซอร์เวเยอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ตรวจสภาพของเรือและจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของบริษัทดังกล่าวภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มคุ้มครองคือวันที่การประกันภัยเริ่มมีผลบังคับ ปัญหาจึงมีว่าผู้เอาประกันภัยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้วหรือไม่ จำเลยมี นางกานดา สุโกศล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการของจำเลย และนายพิชิต เมฆกิตติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและกรรมการของบริษัทเซ็คจวิค (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นนายหน้าประกันภัยต่อเบิกความต้องกันว่า หลังจากทราบเหตุจากผู้เอาประกันภัยว่าเรือรุ่งทวีเกิดอุบัติเหตุอับปางตามเอกสารหมาย จ.15 (คำแปลเอกสารหมาย จ.16) จำเลยได้มีหนังสือให้ผู้เอาประกันภัยส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยกับรายงานการตรวจสภาพเรือและคำแนะนำให้ซ่อมแซมเรือของบริษัทมารีนเซอร์เวเยอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ตามเอกสารหมาย ล.3เพื่อพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ปรากฏว่าผู้เอาประกันภัยส่งมอบเฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยให้จำเลยเท่านั้น จำเลยได้สอบถามไปยังบริษัทมารีนเซอร์เวเยอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด แล้วได้รับแจ้งว่าผู้เอาประกันภัยไม่ได้ดำเนินการซ่อมแซมเรือตามที่ได้แนะนำจำเลยจึงได้แจ้งให้ผู้เอาประกันภัยและบริษัทยูไนเต็ดอินเดียจำกัด ผู้รับประกันต่อทราบโดยผ่านบริษัทเซ็คจวิค (ประเทศไทย)จำกัด เห็นว่า เมื่อผู้เอาประกันภัยแจ้งความสูญเสียของเรือรุ่งทวีแก่จำเลยและจำเลยได้ขอหลักฐานการตรวจสภาพของเรือและคำแนะนำของบริษัทมารีนเซอร์เวเยอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด แล้ว ถ้าจำเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวเพื่อสิทธิประโยชน์ที่ผู้เอาประกันภัยจะพึงได้รับจากกรมธรรม์ประกันภัยผู้เอาประกันภัยย่อมจะต้องมีหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ตามที่จำเลยต้องการอย่างแน่นอน และเมื่อจำเลยได้มีหนังสือถึงผู้เอาประกันภัยขอชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน 2,700,000 บาท ในรูป Ex gratia paymentหรือสินไหมกรุณาซึ่งเป็นเงินที่ผู้รับประกันภัยจ่ายให้แก่ผู้เรียกร้องค่าเสียหายแม้จะมีความเห็นว่าผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย ตามเอกสารหมาย ล.9 ก็ตามและเป็นจำนวนน้อยกว่าที่ได้เอาประกันภัยไว้ถึง 1,300,000 บาท ผู้เอาประกันภัยก็เต็มใจยอมรับเงินจำนวน 2,700,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.11 โดยมิได้โต้แย้งว่า ผู้เอาประกันภัยมิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในข้อดังกล่าวตามกรมธรรม์ประกันภัย เอกสารหมาย จ.13 อีกทั้งข้อนำสืบของโจทก์มิได้แสดงให้เห็นว่าผู้เอาประกันภัยมิได้ฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวด้วย ข้อนำสืบของจำเลยจึงเป็นหลักฐานเพียงพอที่ฟังได้ว่า ผู้เอาประกันภัยได้ฝ่าฝืนเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุให้ผู้เอาประกันภัยนำเรือรุ่งทวีไปตรวจสภาพของเรือรุ่งทวีโดยบริษัทมารีนเซอร์เวเยอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และข้อแนะนำต่าง ๆ จะได้รับการปฏิบัติตามภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มคุ้มครองคือวันที่การประกันภัยเริ่มมีผลบังคับ ส่วนปัญหาที่ว่าการที่ผู้เอาประกันภัยฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวเป็นข้อสาระสำคัญอันจะเป็นเหตุให้จำเลยผู้รับประกันภัยปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยได้หรือไม่ เห็นว่า ประกันภัยรายนี้เป็นสัญญาประกันภัยทางทะเลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 868 บัญญัติว่า “อันสัญญาประกันภัยทะเล ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายทะเล” แต่กฎหมายทะเลของประเทศไทยยังหามีไม่ ทั้งจารีตประเพณีก็ไม่ปรากฏ จึงต้องวินิจฉัยคดีเรื่องประกันภัยทางทะเลตามหลักกฎหมายทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 กรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลรายนี้ทำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ จึงควรถือกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยทางทะเลของประเทศอังกฤษหรือสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ เป็นกฎหมายทั่วไปเพื่อเทียบเคียงวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกันภัยทางทะเล 1906 ของประเทศอังกฤษ(The Marine Insurance Act 1906) เงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.13 ที่ทำเครื่องหมายดอกจันสีน้ำเงิน1 ดอก มีข้อความเป็นคำรับรอง (Warranty) ของผู้เอาประกันภัยว่าเรือจะได้รับการตรวจสภาพโดยบริษัทมารีนเซอร์เวเยอร์ส (ประเทศไทย)จำกัด และจะปฏิบัติตามคำแนะนำภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มคุ้มครองคือวันที่การประกันภัยเริ่มมีผลบังคับ พระราชบัญญัติประกันภัยทางทะเล 1906 ของประเทศอังกฤษ มาตรา 33 บัญญัติถึงสภาพของการรับรองว่า
(1) การรับรองให้หมายถึง การรับรองที่เป็นคำมั่น กล่าวคือเป็นคำรับรองของผู้เอาประกันภัยว่าตนรับที่จะให้หรือไม่ให้การกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะหรือว่าเงื่อนไขบางอย่างจะต้องสำเร็จขึ้นหรือรับรองว่าภาวะข้อเท็จจริงโดยเฉพาะบางอย่างมีอยู่หรือมิได้มี
(2) การรับรองอาจจะเป็นไปโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย
(3) การรับรองดังที่นิยามไว้ข้างต้นเป็นเงื่อนไขซึ่งต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้นอย่างตรงที่สุด ไม่ว่าการรับรองนั้นจะมีสาระสำคัญต่อการเสี่ยงภัยหรือหาไม่ถ้าหากไม่มีการปฏิบัติตามเช่นว่านั้นผู้รับประกันภัยเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิดนับจากวันที่การรับรองถูกละเมิด ฯลฯ
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าข้อความที่เป็นคำรับรองของผู้เอาประกันภัยในกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.13 ที่หมายดอกจันสีน้ำเงินเป็นคำมั่นสัญญาของผู้เอาประกันภัยที่จะต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัด คำรับรองดังกล่าวมิใช่เป็นข้อแนะนำให้นำเรือไปตรวจสภาพและไม่จำต้องมีข้อความต่อท้ายว่า ถ้าผู้เอาประกันภัยไม่ต้องปฏิบัติแล้ว ผู้รับประกันภัยจะหลุดพ้นความรับผิดตามสัญญาประกันภัยเมื่อเรือรุ่งทวีเกิดอุบัติเหตุอับปาง ตามรายงานการสำรวจของสมาคมกู้เรือประเทศสิงคโปร์ เอกสารหมาย ล.4 (คำแปลเอกสารหมาย ล.6)แม้ว่าได้ระบุถึงสาเหตุการสูญเสียของเรือรุ่งทวีว่า เรือออกเดินทางจากแม่น้ำเมืองแจมบี้ โดยมีการทรงตัวทางขวาที่ไม่เพียงพอและในระหว่างแล่นไปตามกระแสน้ำเรือมีแรงมากกว่าการทรงตัวจึงทำให้น้ำไหลเข้าห้องเครื่องยนต์และเกิดล่มลงในเวลาต่อมาตามภาพถ่ายหมาย ล.5 ก็ตาม ดังนั้นเมื่อเรือรุ่งทวีเกิดการสูญเสียจะเกิดจากการที่ผู้เอาประกันภัยไม่ปฏิบัติตามคำรับรองหรือไม่ก็ตามแต่เรือที่เอาประกันภัยต้องมีสภาพพร้อมออกทะเลในการเผชิญกับภัยที่จะต้องประสบอยู่เป็นปกติธรรมดาในการเดินทาง การที่ผู้เอาประกันภัยเริ่มฝ่าฝืนคำรับรองซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ผู้เอาประกันภัยต้องปฏิบัติ จำเลยผู้รับประกันภัยย่อมปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยได้ และไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองเรือรุ่งทวีจึงไม่อาจเข้ารับช่วงทรัพย์ที่จะเรียกร้องเงินประกันภัยอันเป็นค่าสินไหมทดแทนตามที่โจทก์ฟ้องได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น ปัญหาอื่นตามฎีกาของจำเลยจึงไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share