แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยต่างรับราชการครูโรงเรียนเดียวกัน วันเกิดเหตุโจทก์ไปถึงโรงเรียนก่อนจำเลยและลงเวลามาทำงานว่า 8.00 นาฬิกา จำเลยลบเวลาที่โจทก์เขียนไว้ออกแล้วเขียนทับลงไปว่า 7.46 นาฬิกาเป็นการแก้ว่าโจทก์มาทำงานเร็วกว่าเดิม และเวลาที่โจทก์เขียนไว้เดิมกับเวลาที่จำเลยเขียนแก้ต่างยังไม่ถึงเวลาปฏิบัติราชการ การเขียนแก้จึงไม่อาจเป็นการโกงเวลาราชการไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ และการแก้ไขเวลาดังกล่าวก็มิใช่การกระทำของโจทก์ โจทก์ไม่อาจถูกลงโทษทางวินัยได้โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264,265
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์จำเลยต่างรับราชการครูโรงเรียนเดียวกันต้องไปถึงโรงเรียนในวันที่ทำการสอนไม่เกิน 8.15 นาฬิกา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2528 โจทก์ไปถึงโรงเรียนเวลา 8.00 นาฬิกาโจทก์ลงเวลาและลงลายมือชื่อไว้ในบัญชีลงเวลามาทำงานของข้าราชการครูเป็นอันดับ 5 จำเลยไปถึงโรงเรียนเป็นอันดับที่ 6และใช้ยางลบลบเวลาที่โจทก์เขียน 8.00 ออกแล้วเขียนตัวเลขทับลงไปว่า 7.46 โดยพลการเป็นการแก้ไขเอกสารราชการทำให้โจทก์เสียหายเพราะโจทก์จะต้องถูกผู้บังคับบัญชากล่าวหาว่าโจทก์โกงเวลาทำงานของข้าราชการและจดแจ้งเวลามาทำงานอันเป็นเท็จต่อผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นความผิดทางวินัยขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265
ศาลชั้นต้นเห็นว่าการกระทำของจำเลยมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เพราะเป็นการแก้ว่าโจทก์มาถึงที่ทำงานเร็วกว่าเดิมและเวลาที่แก้ก็ยังไม่ถึงเวลาราชการตามปกติไม่อาจเป็นการโกงเวลาราชการตามที่โจทก์อ้างไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265 ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าความผิดฐานปลอมเอกสารนั้นจะต้องปรากฏด้วยว่าน่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงการที่จำเลยใช้ยางลบลบเวลาที่โจทก์เขียนเวลามาทำงาน 8.00นาฬิกาออกแล้วเขียนตัวเลขทับลงไปใหม่ว่าเวลา 7.46 นาฬิกาในบัญชีลงเวลามาทำงานของข้าราชการครูนั้นการกระทำของจำเลยเป็นการแก้ไขข้อความในเอกสารแต่การแก้เวลาดังกล่าวเป็นการแก้ว่าโจทก์มาทำงานเร็วกว่าเดิมและเวลาที่โจทก์เขียนไว้เดิมกับเวลาที่จำเลยเขียนแก้ต่างยังไม่ถึงเวลาปฏิบัติราชการการเขียนแก้จึงไม่อาจเป็นการโกงเวลาราชการไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์และการแก้ไขเวลาดังกล่าวก็มิใช่การกระทำของโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจถูกลงโทษทางวินัยได้ ดังนั้น โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265
พิพากษายืน.