คำวินิจฉัยที่ 22/2553

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๒/๒๕๕๓

วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดสระบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคระกรรมการ
ศาลจังหวัดสระบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๑ นางสาวเพชรา สัณฑิติ โจทก์ ยื่นฟ้องนายปรีดา รวมเมฆ จำเลย ต่อศาลจังหวัดสระบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๔๕๙/๒๕๕๑ ความว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๔๙ ตำบลหินซ้อน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เนื้อที่ ๔๘ ไร่ จำเลยยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินโดยใช้หลักฐาน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๑๘ ตำบลหินซ้อน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เนื้อที่ ๒๒ – ๐ – ๐๕ ไร่ ที่ออกทับซ้อนที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๔๙ ของโจทก์ โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ต่อมาเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรี สาขาแก่งคอย มีคำสั่งเปรียบเทียบคัดค้านการออกโฉนดที่ดินที่ ๔๑/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ให้ออกโฉนดที่ดินแก่จำเลย โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวและทำประโยชน์อยู่จริง ที่ดินตามหลักฐานของจำเลยทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์โดยจำเลยมิได้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินแปลงดังกล่าวแต่อย่างใด ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งเปรียบเทียบคัดค้านการออกโฉนดที่ดิน คำสั่งที่ ๔๑/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๑ และให้ยกเลิกการออกโฉนดที่ดินตามคำสั่งดังกล่าว

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๔๙ เพราะที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ที่โจทก์อ้างไม่มีอยู่จริง เอกสาร น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทับซ้อนกับที่ดินของจำเลยที่ออกเป็น น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๑๘ มาก่อน และที่ดินของจำเลยมีการครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องกันมาตลอด จำเลยรับโอนสิทธิมาโดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คำสั่งเปรียบเทียบของเจ้าพนักงานที่ดินชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง กับฟ้องแย้งขอให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๔๙ ของโจทก์ อ้างว่าสำนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรี สาขาแก่งคอยออกให้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั้น อ้างว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นคดีปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗๒ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดสระบุรีพิจารณาแล้ว โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๒๔๙ ซึ่งทับซ้อนกับที่ดินของจำเลย ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๒๑๘ ที่จำเลยยื่นขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรี สาขาแก่งคอย ออกคำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบกรณีคัดค้านการออกโฉนดที่ดินแล้วมีคำสั่งเห็นควรออกโฉนดที่ดินบริเวณที่พิพาทให้แก่จำเลย ตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๑๘ ของจำเลยทั้งแปลง ตามคำสั่งสำนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรี สาขาแก่งคอย ที่ ๔๑/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ส่วนจำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองที่ดินที่แท้จริง ขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับของโจทก์ เห็นว่า โจทก์และจำเลยต่างอ้างว่าตนเองเป็นผู้ครอบครองที่ดินที่แท้จริง อันเข้าลักษณะตามบรรพ ๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่า ผู้ใดมีสิทธิดีกว่ากันย่อมอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติในเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษ สำหรับคดีนี้การพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทต้องพิจารณาประมวลกฎหมายที่ดินประกอบด้วย โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่กรณี ซึ่งตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน เมื่อมีการโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับการขอออกโฉนดที่ดิน ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๐ จึงได้แก่ศาลยุติธรรม ทั้งการพิจารณาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน กฎหมายกำหนดให้ต้องฟ้องต่อศาล เมื่อศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งถึงที่สุดประการใดให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการไปตามนั้น เช่น มาตรา ๖๐ วรรคสาม มาตรา ๖๑ วรรคห้า มาตรา ๖๒ และมาตรา ๖๙ ทวิ วรรคห้าและวรรคหก แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนั้น คดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลจึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๒๑๘ เป็นหลักฐานขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน ตามคำขอฉบับที่ ๑๕๕/๔๖ ลงวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๖ โจทก์เห็นว่า ที่ดินที่จำเลยนำรังวัดออกโฉนดที่ดินทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์แปลง น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๔๙ จึงคัดค้านการขอรังวัดตามคำขอคัดค้านการขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน ฉบับที่ ๑๓๐/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรี สาขาแก่งคอย ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๘ ทำการสอบสวนเปรียบเทียบโดยเห็นว่า น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๑๘ ของจำเลยออกก่อน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๔๙ ของโจทก์ จึงออกคำสั่งสำนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรี สาขาแก่งคอย ที่ ๔๑/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๑ สั่งให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยพร้อมทั้งแจ้งในคำสั่งว่า คำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบฉบับดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครอง ผู้ไม่พอใจสามารถอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งภายในระยะเวลาที่กำหนด ในกรณีที่ไม่พอใจผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเพิกถอนคำสั่งภายในอายุความตามที่กำหนดในมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เห็นว่า เมื่อพิจารณาตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้อง โจทก์มีความประสงค์ที่จะโต้แย้งคัดค้านว่า คำสั่งสำนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรี สาขาแก่งคอย ที่ ๔๑/๒๕๕๑ ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะอ้างว่า สิทธิในที่ดินแปลงพิพาทดีกว่าสิทธิในที่ดินของจำเลย แต่ก็เป็นเพียงการอ้างข้อเท็จจริงที่นำมาสนับสนุนว่าคำสั่งพิพาทออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อฟังข้อเท็จจริงได้ว่า คำสั่งที่พิพาท เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรี สาขาแก่งคอย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๘ ทำการสอบสวนเปรียบเทียบกรณีพิพาทมูลเหตุการฟ้องคดีนี้และออกคำสั่งที่พิพาท จึงอนุมานได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นคดีพิพาท ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง และการที่ศาลปกครองจะวินิจฉัยว่าคำสั่งที่พิพาทออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ศาลจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยเสียก่อน ซึ่งไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดที่ห้ามมิให้ศาลปกครองสามารถดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินแปลงพิพาทดังกล่าวเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาว่าคำสั่งทางปกครองที่พิพาทออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อีกทั้งคำฟ้องแย้งของจำเลยอ้างว่าโจทก์มิได้เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๔๙ จำนวนเนื้อที่ ๔๘ ไร่ ตามเอกสารท้ายฟ้องแต่ประการใด เพราะที่ดิน น.ส. ๓ ก. ที่โจทก์อ้างไม่มีอยู่จริง เอกสาร น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวของโจทก์ออกมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทับซ้อนกับที่ดินของจำเลยซึ่งได้ออกมาก่อน โจทก์จึงไม่อาจอ้างว่าตนครอบครองและทำประโยชน์ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ โดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๔๙ กรณีดังกล่าวนี้แม้ประเด็นตามฟ้องแย้งของจำเลยจะไม่ใช่ประเด็นที่มีการโต้แย้งเกี่ยวกับเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลโดยตรงก็ตาม แต่จำเลยก็ได้ให้การในทำนองเดียวกันกับฟ้องแย้ง และก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานที่ดินจะมีคำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบการออกโฉนดที่ดินตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานที่ดินต้องตรวจสอบถึงสิทธิของคู่กรณีในที่ดินพิพาทว่า แต่ละฝ่ายมีสิทธิอย่างไร มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินหรือไม่ และหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวได้ออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของแต่ละฝ่าย เมื่อได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้วจึงจะพิจารณาคำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบการออกโฉนดที่ดินต่อไป ดังนั้น ในคดีนี้การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งสำนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรี สาขาแก่งคอย ที่ ๔๑/๒๕๕๑ ที่สอบสวนเปรียบเทียบให้ออกโฉนดที่ดินแก่จำเลยนั้น ศาลจำต้องวินิจฉัยด้วยว่า น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๔๙ ได้ออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้แก่เอกชน ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดิน การออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของบุคคลอันเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และการตรวจสอบว่า น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๔๙ ได้ออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็อยู่ในอำนาจของศาลปกครองเช่นกัน การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองทั้งหมดหรือบางส่วนกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ศาลปกครองมีอำนาจที่จะกำหนดคำพิพากษาหรือกำหนดคำบังคับอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้นคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง” คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๔๙ เนื้อที่ ๔๘ ไร่ จำเลยยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินโดยใช้หลักฐาน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๑๘ เนื้อที่ ๒๒ – ๐ – ๐๕ ไร่ ที่ออกทับซ้อนที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๔๙ ของโจทก์ โจทก์ยื่นคำคัดค้าน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรี สาขาแก่งคอย มีคำสั่งเปรียบเทียบที่ ๔๑/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ให้ออกโฉนดที่ดินแก่จำเลย ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งเปรียบเทียบคัดค้านการออกโฉนดที่ดิน และให้ยกเลิกการออกโฉนดที่ดินตามคำสั่งดังกล่าว ส่วนจำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๔๙ เพราะที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ที่โจทก์อ้างไม่มีอยู่จริง เอกสาร น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทับซ้อนกับที่ดินของจำเลยที่ออกเป็น น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๑๘ มาก่อน และที่ดินของจำเลยมีการครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องกันมาตลอด จำเลยรับโอนสิทธิมาโดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คำสั่งเปรียบเทียบของเจ้าพนักงานที่ดินชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง กับฟ้องแย้งขอให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๔๙ ของโจทก์ ซึ่งออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น แม้โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเปรียบเทียบคัดค้านการออกโฉนดของเจ้าพนักงานที่ดินก็ตาม แต่คดีนี้เป็นคดีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันเอง ไม่มีคู่ความฝ่ายใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ แต่อย่างใด ทั้งศาลจำต้องวินิจฉัยให้ได้ความว่า โจทก์หรือจำเลยใครมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางสาวเพชรา สัณฑิติ โจทก์ นายปรีดา รวมเมฆ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share