คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7336/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ตามสัญญารับชำระหนี้หรือขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินที่ทำไว้ต่อโจทก์ โดยมิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินก็ตาม แต่จำเลยได้ขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมในฐานะผู้ออกตั๋วเข้ามาเป็นจำเลยร่วม และจำเลยร่วมได้ให้การต่อสู้ปฏิเสธความรับผิดที่จะชำระเงินตามตั๋วให้แก่จำเลย คดีจึงมีข้อพิพาทเกี่ยวกับมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินด้วย
จำเลยร่วมได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทซึ่งมีธนาคารโจทก์สาขา จ. เป็นผู้รับอาวัล ให้แก่จำเลย โดยสัญญาว่าจะใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้ ณ ที่ธนาคารโจทก์สาขา จ. ต่อมาก่อนวันถึงกำหนดใช้เงิน จำเลยได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวไปทำสัญญารับชำระหนี้หรือขายลดให้แก่ธนาคารโจทก์สาขา พ. โดยสัญญาว่า ถ้าเรียกเก็บเงินตามตั๋วไม่ได้ จำเลยยอมรับผิดชำระเงินที่ปรากฏในตั๋วพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ให้แก่โจทก์ เมื่อปรากฏว่าตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทโจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้ แม้จะเป็นเพราะศาลชั้นต้นสั่งอายัดชั่วคราวไว้ในคดีเรื่องอื่นตามคำร้องขอของจำเลยร่วมก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยผิดสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินต่อโจทก์ จำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15ต่อปี ตามสัญญาให้แก่โจทก์
ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทมีโจทก์เป็นผู้รับอาวัล ดังนั้น หากจำเลยได้ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่โจทก์ไปตามที่ได้ตกลงไว้ในสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยก็จะได้ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทมาไว้ในครอบครองในฐานะเป็นผู้รับเงินและเป็นผู้ทรงตั๋วมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินจากโจทก์ผู้รับอาวัลและจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ออกตั๋วได้อีก เช่นนี้ เมื่อปรากฏว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่โจทก์และคดีถึงที่สุดไปแล้ว จึงต้องถือว่าเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไปตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ทรงและโจทก์ได้ใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 940 วรรคสามแล้ว ตั้งแต่วันฟ้อง ฉะนั้น นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จำเลยจึงไม่จำต้องชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่โจทก์อีก ส่วนดอกเบี้ยก่อนฟ้องตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงิน เมื่อจำเลยผิดสัญญาขายลดตั๋วเงิน จำเลยจึงยังคงต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยร่วมคงรับผิดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันฟ้องซึ่งถือว่าเป็นวันที่โจทก์ได้ใช้สิทธิไล่เบี้ย ฉะนั้นดอกเบี้ยก่อนฟ้องจำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์
ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทมิได้ระบุเรื่องดอกเบี้ยไว้ และอัตราดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 968(2) ประกอบมาตรา 985บัญญัติให้มีสิทธิไล่เบี้ยเอาดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 5 ต่อปี การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินและต้องรับผิดในมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยร่วมจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เรื่องดังกล่าวนี้เกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำสัญญารับชำระหนี้ เพื่อนำตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2532 จำนวนเงิน6,000,000 บาท ครบกำหนดวันที่ 30 พฤษภาคม 2533 มาขายลดแก่โจทก์โดยสัญญาว่า หากโจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมรับผิดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินไปแล้ว ต่อมาโจทก์ในฐานะผู้ทรงได้เรียกเก็บเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน แต่ธนาคารผู้รับอาวัลได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ทวงถาม แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิเสธ จึงต้องรับผิดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2533 ถึงวันฟ้อง เป็นเงิน 310,684.93 บาทขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 6,310,684.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 6,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทเกิดจากสัญญาจะซื้อขายที่ดิน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะขายที่ดินให้แก่นายไพฑูรย์ โมกขมรรคกุล และนางปาริชาตโมกขมรรคกุล เป็นเงิน 21,000,000 บาท โดยวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงิน 10,000,000 บาท ส่วนที่เหลือ 11,000,000 บาท ผู้ซื้อได้ชำระโดยตั๋วสัญญาใช้เงิน 3 ฉบับ ผู้ออกตั๋วคือห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมสุขเจริญ โดยนางปาริชาตโมกขมรรคกุล เป็นผู้ลงนามแทนและมีธนาคารโจทก์สาขาซอยจารุรัตน์ เป็นผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทเป็นหนึ่งในสามฉบับดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำไปสลักหลังขายลดให้แก่โจทก์ สาขาถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ต่อมานายไพฑูรย์กับพวกได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกต่อศาลชั้นต้นคดีหมายเลขดำที่ 10140/2533 อ้างว่าที่ดินถูกรอนสิทธิและขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามไปยังธนาคารโจทก์ สาขาซอยจารุรัตน์ ไม่ให้จ่ายเงินตามตั๋วไว้ชั่วคราว ดังนั้นขณะตั๋วสัญญาใช้เงินถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ในฐานะผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินชอบที่จะฟ้องบังคับเอาจากผู้ออกตั๋วมิใช่มาฟ้องบังคับเอาจากจำเลยที่ 1และที่ 2 โจทก์เป็นผู้รับอาวัลย่อมรับผิดชอบต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 อยู่แล้ว โจทก์ในฐานะผู้ทรงและผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน แม้จะถูกปฏิเสธการจ่ายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ หรือหากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์ และเข้าถือเอาแล้วฟ้องผู้ออกตั๋วและโจทก์ในฐานะผู้รับอาวัล โจทก์ก็ต้องรับผิดใช้เงินแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เรียกห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมสุขเจริญ และนางปาริชาตโมกขมรรคกุล ในฐานะผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาตโดยให้เรียกจำเลยร่วมทั้งสองเป็นจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ

จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้องเฉพาะส่วนของจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 6,310,684.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 6,000,000บาท นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ให้ร่วมรับผิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นต้นไป

จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ระหว่างฎีกา จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม นางประหยัด ศุภพิพัฒน์ ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2532จำเลยร่วมที่ 1 โดยจำเลยร่วมที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งมีธนาคารโจทก์ สาขาซอยจารุรัตน์ เป็นผู้รับอาวัลให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2โดยสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวน 6,000,000 บาท ให้ ณ ที่ธนาคารโจทก์ สาขาซอยจารุรัตน์ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2533 ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวไปทำสัญญารับชำระหนี้หรือขายลดให้แก่ธนาคารโจทก์สาขาถนนเพชรบุรีตัดใหม่ โดยสัญญาว่า ถ้าเรียกเก็บเงินตามตั๋วไม่ได้ยอมรับผิดชำระเงินที่ปรากฏในตั๋วพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ให้แก่โจทก์ หลังจากนั้นเมื่อตั๋วถึงกำหนดวันใช้เงินโจทก์เรียกเก็บเงินตามตั๋วไม่ได้เพราะศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดชั่วคราวไว้ตามคำร้องขอของจำเลยร่วมที่ 2 กับพวก

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า แม้โจทก์จะฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดในมูลหนี้ตามสัญญารับชำระหนี้หรือขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินที่ทำไว้ต่อโจทก์ มิได้ฟ้องให้รับผิดในมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ได้ขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้ออกตั๋วเข้ามาเป็นจำเลยร่วมซึ่งจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ได้ให้การต่อสู้ปฏิเสธความรับผิดที่จะชำระเงินตามตั๋วให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 คดีจึงมีข้อพิพาทเกี่ยวกับมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินด้วย เมื่อปรากฏว่าตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทโจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้ แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งอายัดชั่วคราวไว้ในคดีเรื่องอื่นตามคำร้องขอของจำเลยร่วมที่ 2 กับพวกก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2ผิดสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินต่อโจทก์จะต้องรับผิดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญาให้แก่โจทก์

อย่างไรก็ตามเมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทโจทก์เป็นผู้รับอาวัลซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 940 บัญญัติว่า “ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน ฯลฯ

เมื่อผู้รับอาวัลได้ใช้เงินไปตามตั๋วแลกเงินแล้ว ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลซึ่งตนได้ประกันไว้ กับทั้งบุคคลทั้งหลายผู้รับผิดแทนตัวผู้นั้น” และมาตรา 967บัญญัติว่า “ในเรื่องตั๋วแลกเงินนั้น บรรดาบุคคลผู้สั่งจ่ายก็ดี รับรองก็ดี สลักหลังก็ดี หรือรับประกันด้วยอาวัลก็ดีย่อมต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง

ผู้ทรงย่อมมีสิทธิว่ากล่าวเอาความแก่บรรดาบุคคลเหล่านี้เรียงตัวหรือรวมกันก็ได้โดยมิพักต้องดำเนินตามลำดับที่คนเหล่านั้นมาต้องผูกพัน ฯลฯ” ซึ่งมาตรา 985 ให้ยกบทบัญญัติดังกล่าวมาบังคับในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินด้วย ดังนั้น หากจำเลยที่ 1 และที่ 2ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่โจทก์ไปตามที่ได้ตกลงไว้ในสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็จะได้ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทมาไว้ในครอบครองในฐานะเป็นผู้รับเงินกลับเป็นผู้ทรงตั๋วมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินจากโจทก์ผู้รับอาวัลและจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ผู้ออกตั๋วได้อีกตามมาตรา 940 วรรคหนึ่ง และมาตรา 967วรรคหนึ่งและวรรคสอง เมื่อเป็นเช่นนี้และศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่โจทก์และคดีถึงที่สุดไปแล้ว จึงต้องถือว่าเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ทรงและโจทก์ได้ใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ตามมาตรา 940 วรรคสาม แล้วตั้งแต่วันฟ้อง ดังนี้ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่จำต้องชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่โจทก์ ส่วนดอกเบี้ยก่อนฟ้องร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 310,684.93 บาท นั้น เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาจึงต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์ ด้วยเหตุนี้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งหมดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

เมื่อได้วินิจฉัยฟังได้ดังกล่าวมา จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 คงรับผิดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันฟ้องซึ่งถือว่าเป็นวันที่โจทก์ได้ใช้สิทธิไล่เบี้ยฉะนั้นดอกเบี้ยก่อนฟ้องจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ชำระนั้นเป็นการไม่ชอบ เมื่อปรากฏว่าตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทมิได้ระบุเรื่องดอกเบี้ยไว้และอัตราดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 968(2) ประกอบมาตรา 985 บัญญัติให้มีสิทธิไล่เบี้ยเอาดอกเบี้ยได้ร้อยละ 5 ต่อปี การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 จะมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เรื่องดังกล่าวมาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 310,684.93บาท ให้แก่โจทก์ และให้จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 6,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share