คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2987/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดของกลางฟันผู้เสียหายทั้งสองโดยยังไม่มีภยันตรายที่ใกล้จะถึง อันเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 จำต้องกระทำเพื่อป้องกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดทำสวนขนาดยาวประมาณ 35 เซนติเมตรซึ่งมีขนาดใหญ่และหนาพอสมควรฟันที่บริเวณคอผู้เสียหายทั้งสองอันเป็นอวัยวะสำคัญจำเลยที่ 1 ย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำได้ว่าผู้เสียหายทั้งสองอาจถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสอง
การกระทำของจำเลยที่ 1 จะเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่าหรือเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลย่อมวินิจฉัยได้จากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน มิใช่ต้องถือเอาตามคำเบิกความของแพทย์เพียงอย่างเดียว
แม้ในฟ้องข้อ 1 โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันเพียง 2 ข้อ คือ ข้อ ก. จำเลยทั้งสองร่วมกันพาอาวุธมีดติดตัวไปในเมืองและชุมนุมชนโดยไม่มีเหตุสมควร กับข้อ ข. จำเลยทั้งสองร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสองก็ตาม แต่ในฟ้องข้อ ข.โจทก์ได้บรรยายให้เห็นว่าจำเลยทั้งสอง ร่วมกันใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายทั้งสองโดยเจตนาฆ่าและคมมีดถูกผู้เสียหายทั้งสองที่บริเวณคอ รายละเอียดบาดแผลปรากฏตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง ซึ่งปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลที่บริเวณคอหนึ่งแผล และผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลที่บริเวณคอสองแผล อันเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนแยกออกจากกันได้ อีกทั้งโจทก์ได้ระบุ ป.อ. มาตรา 91 มาในคำขอท้ายฟ้องด้วย ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ได้เดินตามไปฟันผู้เสียหายที่ 2 ขณะกำลังเดินเข้าไปในงาน ห่างประมาณ 5 เมตร อันเป็นการฟันผู้เสียหายทั้งสองคนละคราวกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานพยายามฆ่าเป็นสองกระทงความผิด จึงมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ หรือมิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก
ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับ 60 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 นั้น ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องปรับบทตามมาตรา 29 เพียงบทเดียว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๘๐, ๘๓, ๙๑, ๒๘๘ และ ๓๗๑ นับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๔๒/๒๕๓๗ ของศาลจังหวัดเบตง และริบอาวุธมีดของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ ๑ รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๘๐, ๓๗๑ การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามมาตรา ๙๑ แม้จำเลยที่ ๑ อายุไม่เกิน ๒๐ ปี ก็ไม่เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้ตามมาตรา ๗๖ ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ให้ลงโทษ จำคุกกระทงละ ๑๒ ปี ฐานพาอาวุธไปในชุมนุมชน ให้ลงโทษปรับ ๙๐ บาท รวมจำคุก ๒๔ ปี และปรับ ๙๐ บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก ๑๖ ปี และปรับ ๖๐ บาท ให้นับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๔๒/๒๕๓๗ ของศาลจังหวัดเบตง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา ๒๙, ๓๐ ริบอาวุธมีดของกลาง ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นแต่เพียงกระทงเดียว มีกำหนด ๑๒ ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก ๘ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙ โดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้ง คัดค้านว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ ๑ ใช้อาวุธมีดของกลางขนาดยาวประมาณ ๓๕ เซนติเมตร ฟันนายหมัน โดยมังสา ผู้เสียหายที่ ๑ และนายตน มานิต ผู้เสียหายที่ ๒ ถูกบริเวณคอ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายทั้งสองเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า เมื่อผู้เสียหายทั้งสองกับพวกไปที่ทำงานจำหน่ายสินค้าพบจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ ๑ พูดโต้เถียงกับผู้เสียหายทั้งสอง จำเลยที่ ๑ ใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายที่ ๑ ถูกบริเวณคอแล้ว วิ่งตามไปฟันผู้เสียหายที่ ๒ ถูกที่บริเวณคอเช่นกัน ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เบิกความเป็นพยานเพียงปากเดียว โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน และในชั้นสอบสวนจำเลยที่ ๑ มิได้ให้การถึงเรื่องที่ถูกวัยรุ่นทำร้ายทั้งจำเลยที่ ๑ มิได้โต้แย้งว่าบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.๗ ไม่ถูกต้องประกอบกับร้อยตำรวจนิพล เหมสลาหมาด พนักงานสอบสวนเบิกความว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา เอกสารหมาย จ.๗ การที่จำเลยที่ ๑ ให้การต่อพนักงานสอบสวนในทันทีหลังเกิดเหตุ จึงยังไม่ทันมีเวลาคิดปรุงแต่งเรื่องเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ตนเองพ้นผิด จึงน่าเชื่อว่า จำเลยที่ ๑ ให้การตามความเป็นจริง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ ใช้อาวุธมีดของกลางฟันผู้เสียหายทั้งสองโดยยังไม่มีภยันตรายที่ใกล้จะถึง อันเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ จำต้องกระทำเพื่อป้องกันแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ต่อไปว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นพยานฆ่าผู้เสียหายทั้งสอง
หรือไม่ ศาลฎีกา เห็นว่า แม้จำเลยที่ ๑ ให้การในชั้นสอบสวนว่า ตั้งใจใช้อาวุธมีดตบผู้เสียหายทั้งสองเพื่อเป็นการ สั่งสอนไม่ได้มีเจตนาฆ่าก็ตาม แต่ปรากฏจากผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.๒ และ จ.๓ ว่า ผู้เสียหายทั้งสองมีบาดแผลขอบค่อนข้างเรียบ แสดงว่าจำเลยที่ ๑ ใช้คมมีดฟันลงไปที่บริเวณคอผู้เสียหายทั้งสอง มิใช่ใช้อาวุธมีดตบผู้เสียหายทั้งสองดังที่ให้การ การที่จำเลยที่ ๑ ใช้อาวุธมีดขนาดยาวประมาณ ๓๕ เซนติเมตรและมีลักษณะดังที่ปรากฏในภาพถ่ายในบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเอกสารหมาย ต.๙ แผ่นสุดท้าย ซึ่งมีขนาดใหญ่และหนาพอสมควรฟันที่บริเวณคอผู้เสียหายทั้งสองอันเป็นอวัยวะสำคัญ จำเลยที่ ๑ ย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำได้ว่า ผู้เสียหายทั้งสองอาจถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙ วรรคสอง ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า แพทย์ผู้ตรวจบาดแผลไม่ได้เบิกความโดยชัดแจ้งว่าบาดแผลของผู้เสียหายทั้งสองเป็นบาดแผลที่จำเลยที่ ๑ ประสงค์จะฟันให้ตายหรือเป็นบาดแผลที่เกิดจากจำเลยที่ ๑ กระทำเพื่อป้องกันตัว จึงรับฟังว่าจำเลยที่ ๑ มีเจตนาฆ่าไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ จะเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่าหรือเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลย่อมวินิจฉัยได้จากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน … มิใช่ต้องถือเอาตามคำเบิกความของแพทย์เพียงอย่างเดียวดังที่จำเลยที่ ๑ ฎีกา
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ ฐานพยายามฆ่า ผู้อื่นเป็นสองกระทงความผิด เป็นการพิพากษาเกินคำขอดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษา หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ในฟ้องข้อ ๑ โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันเพียง ๒ ข้อ คือข้อ ก. จำเลยทั้งสองร่วมกันพาอาวุธมีดติดตัวไปในเมืองและชุมนุมชนโดยไม่มีเหตุสมควร กับข้อ ข. จำเลยทั้งสองร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสองก็ตาม แต่ในฟ้องข้อ ข. โจทก์ได้บรรยายให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายทั้งสองโดยเจตนาฆ่าและคมมีดถูกผู้เสียหายทั้งสองที่บริเวณคอ รายละเอียดบาดแผลปรากฏตามผล การตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง ซึ่งปรากฏว่าผู้เสียหายที่ ๑ มีบาดแผลที่บริเวณคอหนึ่งแผล และผู้เสียหายที่ ๒ มีบาดแผลที่บริเวณคอสองแผล อันเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนแยกออกจากกันได้ อีกทั้งโจทก์ได้ระบุประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ มาในคำขอท้ายฟ้องด้วยประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙ โดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่า หลังจากจำเลยที่ ๑ ใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายที่ ๑ แล้ว ได้เดินตามไปฟัน ผู้เสียหายที่ ๒ ขณะกำลังเดินเข้าไปในงาน ห่างประมาณ ๕ เมตร อันเป็นการฟันผู้เสียหายทั้งสองคนละคราวกัน การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ ฐานพยายามฆ่าเป็นสองกระทงความผิด จึงมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ หรือมิได้กล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคแรก ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ วินิจฉัยแต่ประการใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นแต่เพียงกระทงเดียวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
อนึ่ง ความผิดฐานพาอาวุธไปในชุมนุมชน ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับ ๖๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ นั้น ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องปรับบทตามมาตรา ๒๙ เพียงบทเดียว ศาลฎีกา เห็นสมควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ .

Share