แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญากู้ตามฟ้องจำเลยลงชื่อเป็นผู้ให้กู้ กับมี ภ.กับ น.ลงลายมือชื่อในฐานะผู้กู้จริง สัญญากู้ดังกล่าวจึงเป็นเอกสารของจำเลย และเมื่อจำเลยไม่ได้ปลอมว่าเป็นเอกสารของผู้ใด สัญญากู้นั้นจึงไม่ใช่เอกสารปลอม
กรมตำรวจยื่นฟ้องจ่าสิบตำรวจ ภ.กับพวกเป็นจำเลยในคดีแพ่งบังคับให้ชำระเงินฐานทุจริตและละเมิด ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษายึดทรัพย์รถยนต์ของจ่าสิบตำรวจ ภ.ออกขายทอดตลาดโดยเก็บรักษาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไว้ เมื่อทรัพย์ที่กรมตำรวจขอให้ศาลยึดไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาดังกล่าวนั้น ก็เพื่อป้องกันการจำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์เพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา ทรัพย์ดังกล่าวจึงมิใช่ทรัพย์ที่ส่งไว้ต่อศาล หรือที่ศาลรักษาไว้ในการพิจารณาคดีตาม ป.อ.มาตรา 185
จำเลยในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งแม้จะเป็นหนี้ที่ไม่มีมูลหนี้ต่อกันจริง จำเลยก็ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ และเมื่อศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ดังนี้ การที่จำเลยดำเนินการบังคับคดีแก่จ่าสิบตำรวจ ภ.ลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยขออายัดเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวที่ผู้เสียหายขอให้ศาลสั่งยึดไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาในคดีนั้นมาชำระหนี้จำเลยในคดีนี้ จึงมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยมีเจตนาเอาทรัพย์ดังกล่าวไปโดยพลการ ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 187
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา265 และมาตรา 185, 187 ประกอบมาตรา 80, 350 เรียงกระทงลงโทษฐานปลอมเอกสารสิทธิจำคุก 1 ปี ฐานพยายามเอาไปซึ่งทรัพย์ที่ส่งไว้ต่อศาล หรือที่ศาลได้รักษาไว้ในการพิจารณาคดี จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 3 ปี ข้อหาอื่นให้ยกโจทก์ไม่อุทธรณ์ ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องในข้อหาความผิดตาม ป.อ.มาตรา 185, 187, 90 และ 265 เสียด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ.มาตรา 350เมื่อการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 350 แต่ศาลชั้นต้นได้กำหนดโทษจำเลยตามข้อหาความผิดฐานพยายามเอาไปซึ่งทรัพย์ที่ส่งไว้ต่อศาลหรือที่ศาลได้รักษาไว้ในการพิจารณาคดี ตาม ป.อ.มารา 185 ซึ่งเป็นบทหนักจึงมิได้กำหนดโทษจำเลยตามมาตรา 350 ไว้นั้น หากเมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยคงมีความผิดตามมาตรา 350 เพียงฐานเดียวเช่นนี้ และตามป.วิ.อ.มาตรา 185 วรรคสอง บัญญัติว่า เมื่อศาลเห็นว่าจำเลยได้กระทำผิดและไม่มีการยกเว้นโทษตามกฎหมาย ให้ศาลลงโทษแก่จำเลยตามความผิด และมาตรา186 (7) และ (8) บัญญัติให้คำพิพากษาต้องมีบทมาตราที่ยกขึ้นปรับ และคำชี้ขาดให้ยกฟ้องหรือลงโทษ ซึ่งหมายความว่า เมื่อศาลเห็นว่าจำเลยกระทำผิดและไม่มีการยกเว้นโทษตามกฎหมายให้ศาลลงโทษแก่จำเลยตามความผิดโดยอ้างว่ากระทำผิดบทมาตราใด และมีคำชี้ขาดหรือคำพิพากษาให้ลงโทษไปตามนั้น ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ไม่มีคำชี้ขาดหรือคำพิพากษาให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามป.อ.มาตรา 350 จึงเป็นการมิชอบ และกรณีเช่นนี้มิใช่เป็นกรณีที่ต้องห้ามตามป.วิ.อ.มาตรา 212 เพราะมิใช่เป็นกรณีที่ศาลพิพากษาเพิ่มเติมโทษของจำเลยแต่อย่างใด เมื่อโจทก์ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงมีอำนาจกำหนดโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้