คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7313/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ท. มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการเขตภาคเหนือของบริษัท ฮ. มีหน้าที่บริหารงานของบริษัท ฮ. ให้สามารถผลิตสินค้าให้แก่ลูกค้าโดยมีประสิทธิภาพ รับผิดชอบโรงงานของบริษัท ฮ. ถึง 4 แห่ง แต่กลับให้ บริษัท ช. ซึ่งประกอบกิจการอย่างเดียวกันกับบริษัท ฮ. จัดตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ในบริเวณโรงงานของบริษัท ฮ. โดย อ. ภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของ ท. ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท ช. พฤติการณ์ของ ท. จึงเป็นปรปักษ์ต่อทางการค้าและเป็นการดำเนินธุรกิจแข่งขันกับบริษัท ฮ. ซึ่งเป็นนายจ้าง จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมอันเป็นกรณีที่ร้ายแรง บริษัท ฮ. จึงเลิกจ้าง ท. ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4) ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 655,220 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 65,522 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 3,931,320 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 65,522 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จ่ายค่าชดเชยจำนวน 655,220 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะใช้ให้โจทก์เสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการเดียวว่า โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย บทที่ 7 ข้อ 39 ระบุว่า “พนักงานเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจส่วนตัวที่มีลักษณะงานประเภทเดียวกันหรือเหมือนกันกับนายจ้างถือว่าเป็นความผิดขั้นร้ายแรง” ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวห้ามมิให้พนักงานเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจส่วนตัวประเภทเดียวกันหรือเหมือนกันกับนายจ้างเพื่อมิให้พนักงานซึ่งรับทราบข้อมูลภายในธุรกิจของนายจ้างแล้วไปดำเนินธุรกิจซึ่งอาจเป็นการแข่งขันกับนายจ้างอันมีผลให้ประโยชน์ส่วนตนของพนักงานกับประโยชน์ของนายจ้างมีความขัดแย้งกัน และอาจเสียหายแก่นายจ้างได้ ตามข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ปรากฏว่าจำเลยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2535 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายคอนกรีตผสมเสร็จโดยโจทก์เข้าทำงานเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2537 จนกระทั่งได้เป็นผู้จัดการเขตภาคเหนือประจำจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2546 ได้มีการจัดตั้งบริษัทเชียงใหม่คอนกรีตโปรดักส์ (2003) จำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายคอนกรีตผสมเสร็จเช่นเดียวกับจำเลย มีที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในบริเวณเดียวกันกับโรงงานของจำเลย (โรงงานแม่โจ้ เชียงใหม่ 3) โดยมีนางสาวอำพรรณ์ ภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของโจทก์เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่จำนวน 9,999 หุ้น นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2546 ได้มีการจัดตั้งบริษัทเชียงใหม่เพอร์เฟกท์โฮม จำกัด ประกอบกิจการจัดสรรที่ดินและค้าอสังหาริมทรัพย์ โดยโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวด้วย ดังนั้นการที่โจทก์ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการเขตภาคเหนือของจำเลย มีหน้าที่ในการบริหารงานของจำเลยให้สามารถผลิตสินค้าให้แก่ลูกค้าโดยมีประสิทธิภาพ และรับผิดชอบโรงงานของจำเลยถึง 4 แห่ง คือโรงงานที่จังหวัดเชียงใหม่ 3 แห่ง และโรงงานที่จังหวัดพิษณุโลก 1 แห่ง ไม่ดูแลรักษาประโยชน์ของจำเลย ทราบว่าบริษัทเชียงใหม่คอนกรีตโปรดักส์ (2003) จำกัด ซึ่งประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายคอนกรีตผสมเสร็จเช่นเดียวกับจำเลย จัดตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ในบริเวณเดียวกับโรงงานของจำเลย และให้นางสาวอำพรรณ์ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว พฤติการณ์ของโจทก์จึงเป็นปรปักษ์ต่อทางการค้าของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง เป็นการดำเนินธุรกิจแข่งขันกับจำเลย แม้โจทก์จะไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทเชียงใหม่คอนกรีตโปรดักส์ (2003) จำกัด ด้วยตนเอง แต่เป็นการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจส่วนตัวที่มีลักษณะงานประเภทเดียวกันหรือเหมือนกันกับนายจ้างอันเป็นความผิดร้ายแรงตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานบทที่ 7 ข้อ 39 ซึ่งจำเลยสามารถเลิกจ้างได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานบทที่ 9 ข้อ 4 เมื่อการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมอันเป็นกรณีที่ร้ายแรง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) และเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงซึ่งจำเลยจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ทั้งการเลิกจ้างเพราะเหตุที่โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมอันเป็นกรณีที่ร้ายแรงย่อมมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์จึงไม่ถูกต้อง อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share