คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2709/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ไว้ก่อนแล้ว หลังจากนั้น ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาด เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2531ครั้นวันที่ 20 มิถุนายน 2533 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ที่โจทก์นำยึด เช่นนี้ จำเลยที่ 2 จะร้องคัดค้านการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวไม่ได้ ต้องห้ามตาม มาตรา 22(3) แห่งพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 เพราะอำนาจในการดำเนินคดีย่อมตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว จำเลยที่ 2 ต้องไปแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ยื่นคำคัดค้านการขายทอดตลาดต่อศาล หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ดำเนินการให้ จำเลยที่ 2 จึงอาศัยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา146 ยื่นคำขอต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งตามที่เห็นสมควร

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลได้พิพากษาตามยอม จำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามสัญญายอม โจทก์ขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานที่ดินยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2533 มีผู้ประมูลซื้อได้ในราคารวม 6,500,000 บาท
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า การขายทอดตลาดมิชอบ เพราะเจ้าพนักงานบังคับคดี มิได้แจ้งการขายให้จำเลยที่ 2 ทราบ ทั้งราคาทรัพย์ที่ขายก็ต่ำไป
โจทก์และผู้ซื้อทรัพย์ต่างคัดค้านว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งวันขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 2 ทราบโดยชอบแล้ว และราคาทรัพย์ที่ขายไปสูงกว่าราคาประเมินไว้มาก
ในระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณานัดไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 2เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ยื่นคำแถลงคัดค้านว่าศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาด เมื่อวันที่ 2กันยายน 2531 และเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์โดยชอบแล้ว ขอให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นงดการไต่สวนและมีคำสั่งว่า การต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจมาร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 มีอำนาจยื่นคำคัดค้านการขายทอดตลาดต่อศาลได้ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146 นั้น เห็นว่า มาตรา 146บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลล้มละลาย เจ้าหนี้ หรือบุคคลใดได้รับความเสียหายโดยการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์บุคคลนั้นอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบสี่วัน นับแต่วันที่ได้ทราบการกระทำหรือคำวินิจฉัยนั้น ศาลมีอำนาจสั่งยืนตาม กลับหรือแก้ไข หรือสั่งประการใดตามที่เห็นสมควร”เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์วินิจฉัยหรือกระทำก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 2 แต่ในกรณีการขายทอดตลาด จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จะต้องไปแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ทราบเสียก่อน และขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านการขายทอดตลาดต่อศาล หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ดำเนินการให้ตามที่จำเลยที่ 2 ขอจำเลยที่ 2 จึงอาศัยบทมาตรา 146 ยื่นคำขอต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งตามที่เห็นสมควร การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดด้วยตนเอง เป็นกรณีการต่อสู้ใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้อันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 22(3) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share