คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7312/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญากู้เงินระบุว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคารผู้ให้กู้ ตามคำสั่งและประกาศของโจทก์ที่ 57/2537 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2537 ประกอบคำสั่งและประกาศของโจทก์ที่ 126/2539 ที่ใช้บังคับขณะทำสัญญากู้เงินรายนี้ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 กำหนดให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยและส่วนลดในกรณีลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี และเรียกจากลูกต้าทั่วไปที่ไม่ผิดเงื่อนไขในอัตราที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี คือ ร้อยละ 14.5 ต่อปี บวกด้วยอัตราร้อยละ 2 ต่อปี รวมเป็นอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี จากประกาศดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้อัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในกรณีลูกค้าผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระ มิใช่อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าทั่วไปที่กำหนดไว้เพียงร้อยละ 16.5 ต่อปี ตามประกาศของโจทก์ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น การที่โจทก์กำหนดดอกเบี้ยในสัญญากู้อัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราลูกค้าผิดเงื่อนไข มิใช่อัตราดอกเบี้ยทั่วไปเช่นนี้ จึงเป็นการกำหนดดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศของโจทก์ไม่เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดไว้ และเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจึงขัดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475 ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นโมฆะทั้งหมด ส่วนเงินค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 416 บาท ซึ่งโจทก์นำมาสมทบรวมเข้ากับต้นเงินกู้ที่ค้างชำระก็กำหนดให้คิดดอกเบี้ยอัตราเดียวกับที่จำเลยทั้งสองต้องชำระให้โจทก์ตามสัญญากู้ด้วยซึ่งเท่ากับอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ดอกเบี้ยของจำนวนเงินดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะ เช่นกัน โจทก์คงคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเท่านั้น แม้ในสัญญากู้เงินจะมิได้ระบุว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุด ขณะทำสัญญาเป็นเท่าใดแต่ก็มีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราสูงสุดตามประกาศของผู้ให้กู้ ซึ่งตามประกาศอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อของโจทก์ฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2541 ที่ใช้บังคับขณะทำสัญญา กู้เงินรายนี้ ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิเรียกได้ทั้งในกรณีลูกค้าปกติทั่วไปที่ไม่ผิดนัด และลูกค้าที่ผิดนัดผิดเงื่อนไขไว้โดยชัดแจ้ง การที่โจทก์จะคิดดอกเบี้ยอัตราใดย่อมจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขในประกาศของโจทก์ซึ่งสามารถตรวจดูได้ การที่โจทก์ไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่จะเรียกเก็บจากจำเลยทั้งสองขณะทำสัญญาว่าเป็นเท่าใด หาทำให้ข้อกำหนดเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกจากจำเลยทั้งสองไม่ชัดเจนไม่มีผลบังคับดังศาลชั้นต้นวินิจฉัยแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้จำนวน ๑,๖๔๘,๑๗๙.๐๕ บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ ๑๗ ต่อปี ของต้นเงิน ๑,๓๔๖,๐๐๔.๐๒ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๙๐๘๘ พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวและทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ …
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ทวิ
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า อัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศของโจทก์ ซึ่งขณะทำสัญญาร้อยละ ๑๙ ต่อปี ที่กำหนดในสัญญากู้เงินขัดต่อกฎหมายเป็นโมฆะหรือไม่ สำหรับอัตราดอกเบี้ย ในสัญญากู้เงินซึ่งระบุว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคารผู้ให้กู้นั้น ตามคำสั่งและประกาศของโจทก์ที่ ๕๗/๒๕๓๗ ลงวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๓๗ ประกอบคำสั่งและประกาศของโจทก์ที่ ๑๒๖/๒๕๓๙ ที่ใช้บังคับขณะทำสัญญากู้เงินรายนี้ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดฉบับลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๖ กำหนดให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยและส่วนลดในกรณีลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้ ในอัตราไม่เกินร้อยละ ๑๙ ต่อปี และเรียกลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดเงื่อนไขในอัตราที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี คือ ร้อยละ ๑๔.๕ ต่อปี บวกด้วยอัตราร้อยละ ๒ ต่อปี รวมเป็นอัตราร้อยละ ๑๖.๕ ต่อปี จากประกาศดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี ในกรณีลูกค้าผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระ มิใช่อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าทั่วไปที่กำหนดไว้เพียงร้อยละ ๑๖.๕ ต่อปี ตามประกาศของโจทก์ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น การที่โจทก์กำหนดดอกเบี้ยในสัญญากู้อัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราลูกค้าผิดเงื่อนไข มิใช่อัตราดอกเบี้ยทั่วไปเช่นนี้ จึงเป็นการกำหนดดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศของโจทก์ไม่เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดไว้ และเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจึงขัดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช ๒๔๗๕ ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นโมฆะทั้งหมด ส่วนเงินค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน ๔๑๖ บาท ที่โจทก์นำมาสบทบรวมเข้ากับต้นเงินกู้ที่ค้างชำระก็กำหนดให้คิดดอกเบี้ยอัตราเดียวกับที่จำเลยทั้งสองต้องชำระให้โจทก์ตามสัญญากู้ด้วยเท่ากับอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี ดอกเบี้ยของจำนวนเงินดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะเช่นกัน โจทก์คงคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเท่านั้น
ปัญหาประการต่อไปมีว่า การที่ในสัญญากู้เงินระบุเพียงว่า จำเลยทั้งสองยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราสูงสุดตามประกาศของโจทก์ โดยไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยที่แน่นอนว่าร้อยละเท่าใดจะทำให้ข้อกำหนดเกี่ยวกับ อัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ไม่มีผลบังคับหรือไม่ เห็นว่า แม้ในสัญญากู้เงินจะมิได้ระบุไว้ว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดขณะทำสัญญาเป็นเท่าใดแต่ก็มีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราสูงสุดตามประกาศของผู้ให้กู้ ซึ่งตามประกาศอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อของโจทก์ฉบับลงวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๑ ที่ใช้บังคับขณะทำสัญญากู้เงินรายนี้ ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิเรียกได้ทั้งในกรณีลูกค้าปกติทั่วไปที่ไม่ผิดนัด และลูกค้าที่ผิดนัดผิดเงื่อนไขไว้โดยชัดแจ้ง การที่โจทก์จะคิดดอกเบี้ยอัตราใดย่อมจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขในประกาศของโจทก์ ซึ่งสามารถตรวจดูได้ การที่โจทก์ไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่จะเรียกเก็บจากจำเลยทั้งสองขณะทำสัญญาว่าเป็นเท่าใด หาทำให้ข้อกำหนดเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกจากจำเลยทั้งสองไม่ชัดเจน ไม่มีผลบังคับดังศาลชั้นต้นวินิจฉัยแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตามฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑,๔๔๒,๔๖๔.๒๙ บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๙๔๕,๕๘๘.๐๒ บาท นับแต่วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๑ ของต้นเงินจำนวน ๔๑๖ บาท นับแต่วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๑ และอัตราร้อยละ ๑๗ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๒ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จโดยให้นำเงินที่จำเลยทั้งสองชำระให้แก่โจทก์ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๑ และวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๒ รวม ๒๒,๒๐๐ บาท ตามการ์ดบัญชีเอกสารหมาย จ.๒๑ หักชำระดอกเบี้ยที่คำนวณได้จากต้นเงิน ๙๔๕,๕๘๘.๐๒ บาท และต้นเงิน ๔๑๖ บาท ดังกล่าวข้างต้น หากยังเหลือให้หักชำระต้นเงิน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น .

Share