แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 โดยไม่ปิดประกาศแจ้งการขายไว้ที่หน้าสำนักงานบังคับคดีจังหวัดจันทบุรีต่างไปจากการขายทอดตลาดในคดีอื่น ย่อมทำให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขายทอดตลาดไม่เป็นที่เปิดเผยตามวิถีทางที่ควรจะเป็น ส่งผลกระทบถึงการตัดสินใจเข้าสู้ราคาและจำนวนผู้เข้าสู้ราคาซึ่งอาจต้องถูกจำกัดให้น้อยลง ขัดต่อเจตนารมณ์ของการขายทอดตลาดที่ต้องเปิดโอกาสให้มีการสู้ราคากันโดยเปิดเผยเพื่อให้ได้ราคาสูงสุด จึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. เป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 308 แม้จะเป็นการขายครั้งที่ 4 ซึ่งตามคำสั่งกรมบังคับคดีกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถือเอาราคาที่ผู้เข้าสู้ราคาเสนอสูงสุดซึ่งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของราคาประเมินหรือราคาของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการกำหนดราคาทรัพย์แล้วแต่กรณีเป็นราคาที่สมควรขาย ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบนั้นเสียได้ตามมาตรา 296 วรรคสอง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,018,015.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์ขอให้บังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 8151 ตำบลฉมัน อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี เนื้อที่ 34 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา ของจำเลยที่ 2 ขายทอดตลาดไปในราคา 350,000 บาท
โจทก์และจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องทำนองเดียวกันว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยอนุญาตให้ขายทรัพย์แก่ผู้ซื้อทรัพย์ต่ำกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีขณะยึดทรัพย์ประมาณครึ่งหนึ่ง และต่ำกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินและราคาที่สามารถขายได้จริง ในวันขายทอดตลาดวันที่ 10 กรกฎาคม 2545 ผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 2 เดินทางไปที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดจันทบุรีเพื่อดูแลการขายแต่ประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งปิดไว้ที่หน้าสำนักงาน ไม่ปรากฏว่ามีการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 โจทก์และจำเลยที่ 2 เข้าใจว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียกเลิกวันนัดจึงพากันกลับ ทำให้สามารถคัดค้านราคาที่ผู้ซื้อทรัพย์เสนอในครั้งนั้นได้ อันเป็นผลมาจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าพนักงานบังคับคดี ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์และดำเนินการขายทอดตลาดใหม่
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า วันที่ 10 กรกฎาคม 2545 เวลาประมาณ 8.30 นาฬิกา ผู้ซื้อทรัพย์เดินทางไปที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดจันทบุรี ไม่พบรายชื่อคดีนี้ จึงสอบถามเจ้าหน้าที่สำนักงานบังคับคดี เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดถึงทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นการขายครั้งที่ 4 ปรากฏว่าไม่มีผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 2 มาดูแลการขาย เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงอนุญาตขายทอดตลาดให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเสนอราคาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งกรมบังคับคดีที่ 283/2540 ถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดโดยชอบและเป็นราคาที่เหมาะสม ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่สั่งขายที่ดินโฉนดเลขที่ 8151 ตำบลฉมัน อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี โดยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของโจทก์และจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2543 ผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 8151 ตำบลฉมัน อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี เนื้อที่ 34 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา ของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีราคาประเมิน 1,695,800 บาท และเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาขณะนำยึด 687,800 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ในวันที่ 6 ธันวาคม 2543 วันที่ 10 มกราคม 2544 วันที่ 19 มิถุนายน 2544 วันที่ 10 กรกฎาคม 2545 และวันที่ 7 สิงหาคม 2545 เวลา 9.30 นาฬิกา ทุกนัด ปรากฏว่าในวันนัดขายทอดตลาด 3 นัดแรก ไม่มีผู้เข้าสู้ราคา เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงงดการขายไว้ ต่อมาวันที่ 10 กรกฎาคม 2545 ผู้ซื้อทรัพย์เข้าสู้ราคาและเสนอราคาสูงสุดเป็นเงิน 350,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าราคาที่เสนอเป็นราคาที่เหมาะสม ผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 2 ทราบนัดแล้วไม่มาดูแลการขายจึงอนุญาตให้ขายทรัพย์แก่ผู้ซื้อทรัพย์ในราคาดังกล่าว ปัญหาข้อแรกที่โจทก์ฎีกาในข้อกฎหมายว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์เป็นการไม่ชอบ เนื่องจากคำฟ้องอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์เป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่โต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น เห็นว่า ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์เป็นใจความสำคัญว่า การขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้วโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศนัดขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดจันทบุรีรวม 5 ครั้ง และมีหมายแจ้งวันนัดให้โจทก์และจำเลยที่ 2 ทราบกำหนดนัดแล้วทุกครั้ง วันนัดขายทอดตลาดวันที่ 10 กรกฎาคม 2545 ผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 2 เดินทางไปที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดจันทบุรีตามกำหนด แต่ไม่เข้าไปติดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 2 คำฟ้องอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์เป็นการโต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 ทราบกำหนดนัดขายทอดตลาดโดยชอบและเดินทางไปที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดจันทบุรีตามกำหนดนัดแล้ว แต่ผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่สอบถามเจ้าพนักงารบังคับคดีเกี่ยวกับการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 อันเป็นความบกพร่องของผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 2 เอง โจทก์และจำเลยที่ 2 จะอ้างความเข้าใจผิดคิดว่าไม่มีการขายทอดตลาดดังที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัยไม่ได้นั้น คำฟ้องอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์จึงเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับวินิจฉัยคำฟ้องอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาสุดท้ายที่โจทก์ฎีกาว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 โดยไม่ปิดประกาศไว้ที่หน้าสำนักงานบังคับคดีจังหวัดจันทบุรีเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 308 วรรคหนึ่ง ตอนท้ายบัญญัติว่า “…การขายนั้นให้ดำเนินตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎกระทรวงว่าด้วยการนั้น และตามข้อกำหนดของศาลซึ่งระบุไว้ในคำสั่งอนุญาตให้ขายทรัพย์สินนั้น ถ้าหากมี” และบทนิยามคำว่า “ขายทอดตลาด” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายความว่า “การขายทรัพย์สินที่กระทำโดยเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปด้วยวิธีเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อสู้ราคากัน ผู้ใดให้ราคาสูงสุดและผู้ทอดตลาดแสดงความตกลงด้วยเคาะไม้หรือด้วยกิริยาอย่างอื่นตามจารีตประเพณีในการขายทอดตลาด ผู้นั้นเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินนั้น” ดังนี้ การดำเนินการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงต้องประกาศขายอย่างเปิดเผยโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจเข้าสู้ราคาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของคู่ความให้ได้ราคาสูงสุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 513 ไม่ใช่ขายให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ ข้อเท็จจริงได้ความจากคำร้องของผู้ซื้อทรัพย์ว่า ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2545 เวลาประมาณ 8.30 นาฬิกา ผู้ซื้อทรัพย์เดินทางไปที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดจันทบุรี เพื่อซื้อที่ดินของจำเลยที่ 2 ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีนำออกขายทอดตลาดเป็นครั้งที่ 4 แต่ไม่พบรายชื่อคดีในประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ซึ่งปิดไว้ที่หน้าสำนักงาน จึงใช้วิธีสอบถามจากเจ้าหน้าที่สำนักงานบังคับคดี เจือสมกับประกาศขายทอดตลาดวันที่ 10 กรกฎาคม 2545 เอกสารหมาย จ.6 ที่ไม่ได้ระบุลำดับ หมายเลขคดีแดง ชื่อโจทก์ จำเลย ทรัพย์สินที่จะขาย วิธีขาย ราคาเริ่มต้นและครั้งที่ขายของการขายทอดตลาดทรัพย์ในคดีเหมือนดังเช่นคดีอื่นๆ แสดงให้เห็นชัดว่าระเบียบปฏิบัติในการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามปกติ นอกจากจะมีการประกาศให้ทราบทั่วกันล่วงหน้าก่อนวันขายแล้ว ในการขายทอดตลาดแต่ละวันเจ้าพนักงานบังคับคดียังต้องปิดประกาศหน้าสำนักงานบังคับคดีให้ทราบทั่วกันว่า ในวันดังกล่าวจะทำการขายทรัพย์สินอะไร ในคดีใด ตลอดจนวิธีขาย ราคาเริ่มต้น และครั้งที่ขาย เพื่อให้ประชาชนที่ไม่ทราบประกาศมาแต่ต้น แต่เพิ่งมา ณ สถานที่ที่จะขายทอดตลาด ได้ทราบถึงการขายทอดตลาดที่จะมีขึ้นในวันนั้นๆ ด้วย และเพื่อให้ประชาชนผู้สนใจสามารถตรวจสอบประกอบการตัดสินใจว่าสมควรจะเข้าสู้ราคาหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 นัดนี้เป็นการขายครั้งที่ 4 ซึ่งผู้ซื้อทรัพย์กล่าวอ้างมาในคำร้องว่า ตามคำสั่งกรมบังคับคดีที่ 283/2544 กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถือเอาราคาที่ผู้เข้าสู้ราคาเสนอสูงสุดซึ่งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของราคาประเมินหรือราคาของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการกำหนดราคาทรัพย์แล้วแต่กรณี เป็นราคาที่สมควรขาย ทำให้ราคาเริ่มต้นของทรัพย์รายนี้ลดลงครึ่งหนึ่งจากราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่เคยประกาศไว้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 โดยไม่ปิดประกาศแจ้งการขายไว้ที่หน้าสำนักงานบังคับคดีจังหวัดจันทบุรีต่างไปจากการขายทอดตลาดในคดีอื่น ย่อมทำให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นที่เปิดเผยตามวิถีทางที่ควรจะเป็น ส่งผลกระทบถึงการตัดสินใจเข้าสู้ราคาและจำนวนผู้เข้าสู้ราคาซึ่งอาจต้องถูกจำกัดให้น้อยลง ขัดต่อเจตนารมณ์ของการขายทอดตลาดที่ต้องเปิดโอกาสให้มีการเข้าสู้ราคากันโดยเปิดเผยเพื่อให้ได้ราคาสูงสุด จึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 308 แม้การขายทอดตลาดนัดนี้จะเป็นการขายครั้งที่ 4 ซึ่งตามคำสั่งกรมบังคับคดีที่ 283/2544 กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถือเอาราคาที่ผู้เข้าสู้ราคาเสนอสูงสุดซึ่งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของราคาประเมินหรือราคาของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการกำหนดราคาทรัพย์แล้วแต่กรณี เป็นราคาที่สมควรขาย แต่เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำสั่งหรือคำพิพากษา ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบนั้นเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ.