แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยอุทธรณ์ว่า ที่ศาลแรงงานกลางฟังว่า เครื่องจักรที่โจทก์ทั้งสี่ควบคุมโดยสภาพไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลภายนอกหรือทรัพย์สินอื่นใดได้ เป็นการวินิจฉัยไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวน เมื่อศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยพิเคราะห์ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 54 แม้ข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างจะระบุว่าการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบดังกล่าวเป็นการกระทำที่ร้ายแรง ก็หามีผลว่าการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดร้ายแรงทุกกรณีไปไม่ จะต้องพิจารณาพฤติการณ์ความเป็นจริงว่าเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ แม้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยจะระบุว่าการหลับขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นความผิดร้ายแรง ก็เป็นเพียงข้อบังคับของนายจ้างที่มีความประสงค์ทั่วไปว่าลูกจ้างต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างขยันขันแข็ง อุทิศเวลาให้แก่การทำงานอย่างเต็มที่โดยไม่หลับขณะปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น การที่โจทก์ทั้งสี่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าวจึงเป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ เมื่อโจทก์ทั้งสี่ทำหน้าที่เพียงควบคุมเครื่องจักรผลิตสินค้าซึ่งโดยสภาพไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลภายนอกหรือทรัพย์สินอื่นใดได้แม้มิได้ควบคุมใกล้ชิดตลอดเวลา การฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าวจึงไม่เป็นกรณีที่ร้ายแรง.
ย่อยาว
คดีทั้งสี่สำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 4
โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์ที่ 1 เข้าทำงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2529 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 3,070 บาท โจทก์ที่ 2 เข้าทำงานเมื่อเดือนสิงหาคม 2533ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 106 บาท โจทก์ที่ 3 เข้าทำงานเมื่อเดือนธันวาคม 2532 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 104 บาทและโจทก์ที่ 4 เข้าทำงานเมื่อเดือนตุลาคม 2533 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 100 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2534จำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ทั้งสี่ออกจากงานโดยกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสี่ดื่มสุราแล้วเข้ามาทำงานในวันที่ 26 กรกฎาคม 2534 ซึ่งไม่เป็นความจริง การเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ครั้งนี้เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และมิได้มีการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า ทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสี่พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2534 จำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ทั้งสี่ออกจากงานเนื่องจากในวันที่ 27 กรกฎาคม 2534 เวลาประมาณ 0.17 นาฬิกาโจทก์ทั้งสี่ดื่มสุราและมีอาการมึนเมาอย่างมากเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตามกะและโจทก์ทั้งสี่ได้หลับในระหว่างที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ซึ่งจำเลยได้มีระเบียบข้อบังคับห้ามพนักงานดื่มสุราและห้ามหลับในขณะปฏิบัติหน้าที่ โจทก์ทั้งสี่ละเลยเสีย อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบและเป็นความผิดร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และจำนวนเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่โจทก์ทั้งสี่เรียกมาไม่ถูกต้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1จำนวน 18,420 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 3,180 บาท โจทก์ที่ 3จำนวน 9,360 บาท และโจทก์ที่ 4 จำนวน 3,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อแรกว่าที่ศาลแรงงานกลางฟังว่า เครื่องจักรที่โจทก์ทั้งสี่ควบคุม โดยสภาพไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลภายนอกหรือทรัพย์สินอื่นใดได้ เป็นการวินิจฉัยไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนนั้น เห็นว่าศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยปัญหานี้ โดยพิเคราะห์ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54
จำเลยอุทธรณ์อีกประการหนึ่งว่า การกระทำของโจทก์ทั้งสี่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงนั้น ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสี่ดื่มสุรามึนเมาเข้ามาทำงานในคืนเกิดเหตุ และหลับในเวลาทำงาน จำเลยมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของพนักงานเอกสารหมาย ล.5ระบุไว้ในหมวดที่ 7 ว่าด้วยระเบียบข้อบังคับและวินัยในการปฏิบัติงานข้อ 3 ระบุว่า ห้ามนอนในเวลาทำงาน และข้อ 21 ระบุว่า ห้ามเสพของมึนเมาหรือของเสพติดก่อนเข้าปฏิบัติงานหรือในระหว่างปฏิบัติงานซึ่งการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในส่วนที่เป็นกรณีหลับขณะปฏิบัติหน้าที่หรือดื่มสุราขณะปฏิบัติหน้าที่ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 7.3 ว่าด้วยวินัยกำหนดว่าเป็นความผิดร้ายแรง ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ เห็นว่า กรณีที่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงอันจะเป็นเหตุให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) นั้นแม้ข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างจะระบุว่าการกระทำใดที่ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบดังกล่าว เป็นการกระทำที่ร้ายแรงก็ตามก็หามีผลว่าการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดร้ายแรงทุกกรณีไปไม่ แต่จะต้องพิจารณาจากพฤติการณ์ตามความเป็นจริงว่า เป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ มิฉะนั้นจะเกิดความไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างที่นายจ้างจะออกข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเช่นใดก็ได้ โดยระบุว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรงทุกกรณีไป พฤติการณ์ในคดีนี้ได้ความว่า โจทก์ทั้งสี่ดื่มสุรามึนเมามาก่อนจะเริ่มเข้าทำงาน มิใช่ดื่มสุราขณะปฏิบัติหน้าที่แต่ได้หลับขณะปฏิบัติหน้าที่ แม้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จะระบุการกระทำในประการหลังนี้ว่าเป็นความผิดร้ายแรงก็ตาม ก็เป็นเพียงข้อบังคับของนายจ้างที่มีความประสงค์ทั่วไปว่าลูกจ้างควรปฏิบัติหน้าที่เช่นใด เป็นไปในลักษณะที่ว่าจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างขยันขันแข็งอุทิศเวลาให้แก่การทำงานอย่างเต็มที่โดยไม่หลับขณะปฏิบัติหน้าที่เท่านั้นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของโจทก์ทั้งสี่ในกรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสี่บกพร่องต่อหน้าที่ เมื่อโจทก์ทั้งสี่มีหน้าที่เพียงควบคุมเครื่องจักรที่ผลิตสินค้าของจำเลย ซึ่งโดยสภาพไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลภายนอกหรือทรัพย์สินอื่น ๆได้ แม้มิได้ควบคุมใกล้ชิดตลอดเวลา การฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าวจึงไม่เป็นกรณีที่ร้ายแรง กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯข้อ 47(3) ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสี่จึงชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.