คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7305/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยฎีกาข้อกฎหมายว่า จำเลยตัดไม้ยางแล้วทอนเป็นท่อน ไม้ยางที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเป็นไม้ที่ได้มาจากการที่จำเลยทำไม้หลังจากนั้นจำเลยแปรรูปไม้ดังกล่าวโดยเลื่อยตัดให้เป็นท่อนซึ่งเป็นการกระทำแก่ไม้ยางต้น จึงน่าจะเป็นฟ้องซ้ำในส่วนการครอบครองไม้ที่แปรรูป ทำนองว่าการกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีไม้ยางแปรรูปไว้ในครอบครองกับความผิดฐานมีไม้ยางอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง เป็นกรรมเดียวกันนั้น แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในชั้นอุทธรณ์ว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทแต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ลักษณะของความผิดในข้อหามีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีไม้อันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต อาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแตกต่างแยกจากกันได้ แม้ไม้หวงห้ามที่จำเลยมีไว้ในครอบครองจะตัดมาจากต้นเดียวกันและเป็นจำนวนเดียวกันก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2547 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันทำไม้ยาง ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. โดยการตัดฟันออกจากต้นแล้วทอนเป็นท่อน ๆ จำนวนหลายท่อน ปริมาตร 1.61 ลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และมิได้รับสัมปทานหรือได้รับยกเว้นให้ทำไม้ดังกล่าว จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันแปรรูปไม้ยางภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยใช้เลื่อยโซ่ยนต์เลื่อยเป็นเหลี่ยม 4 เหลี่ยม รวมปริมาตร 0.91 ลูกบาศก์เมตร อันเป็นการทำให้ไม้เปลี่ยนรูปและขนาดไปจากเดิมโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันมีไม้ยางแปรรูปจำนวนดังกล่าวและร่วมกันมีไม้ยางอันยังมิได้แปรรูป 1 ท่อน ปริมาตร 0.70 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองโดยไม้ดังกล่าวไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตราของรัฐบาลขาย และจำเลยทั้งสองพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ไม้ดังกล่าวมาโดยชอบด้วยกฎหมาย เหตุทั้งหมดเกิดที่ตำบลเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 7, 11, 47, 48, 64 ทวิ, 69, 73, 74, 74 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (1), 73 วรรคสอง (1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำไม้ยางโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน ฐานร่วมกันแปรรูปไม้ยางโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันมีไม้ยางแปรรูปไว้ในครอบครองเกินกว่า 0.20 ลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันมีไม้ยางอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนะล 2 ปี รวมจำคุกคนละ 8 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 4 ปี 3 เดือน ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันทำไม้ยางโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันแปรรูปไม้ยางโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันมีไม้ยางแปรรูปไว้ในครอบครองเกินกว่า 0.20 ลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันมีไม้ยางอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 1 ปีรวมจำคุกคนละ 4 ปี ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสองฎีกาข้อกฎหมายว่าจำเลยทั้งสองตัดไม้ยาง แล้วทอนเป็นท่อน ไม้ยางที่จำเลยทั้งสองมีไว้ในครอบครองเป็นไม้ที่ได้มาจากการที่จำเลยทั้งสองทำไม้หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองแปรรูปไม้ดังกล่าวโดยเลื่อยตัดให้เป็นท่อนซึ่งเป็นการกระทำแก่ไม้ยางต้นดังกล่าว จึงน่าจะเป็นฟ้องซ้ำในส่วนการครอบครองไม้ที่แปรรูป ทำนองว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานมีไม้ยางแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตกับความผิดฐานมีไม้ยางอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นกรรมเดียวกันนั้น แม้ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในชั้นอุทธรณ์แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยทั้งสองจึงยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยให้ เห็นว่า ลักษณะของความผิดในข้อหาการมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และการมีไม้อันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต อาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแตกต่างแยกจากกันได้ แม้ไม้หวงห้ามที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้ในครอบครองจะตัดมาจากต้นเดียวกันและเป็นจำนวนเดียวกันก็ตาม การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานดังกล่าวเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share