คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4260/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่พนักงานอัยการโจทก์จะนำพยานหลักฐานใด ๆ มาสืบได้จะต้องยื่นบัญชีระบุพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เสียก่อน การที่พนักงานอัยการประจำศาลที่มีการส่งประเด็นมาสืบซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์นำสรรพเอกสารที่อ้างไว้ในคดีอื่นมาสืบในคดีนี้โดยผิดหลง จึงมีผลเท่ากับนำพยานหลักฐานที่มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้มาสืบ เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าวอันถือได้ว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบ ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะสั่งแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
การสืบ อ. พยานโจทก์เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2541 เป็นกระบวนพิจารณาที่ดำเนินไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถูกศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนแล้ว ย่อมมีผลเป็นการลบล้างการสืบ อ. และทำให้โจทก์กลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการสืบ อ. ในวันนั้นเลย โจทก์จึงมีสิทธินำ อ. ตามที่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้เข้าสืบในวันที่ 20 ธันวาคม 2542 ได้โดยชอบ ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ เพราะการสืบ อ. ถูกเพิกถอนไปแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2539 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2539 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพุทธมณฑล สาย 4 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2539 สั่งจ่ายเงินจำนวน 630,234.37 บาท มอบให้บริษัทสยาม แปซิฟิค อีเล็คทริค ไวร์ แอนด์ เคเบิ้ล จำกัด ผู้เสียหาย เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม 2539 เวลากลางวัน ผู้เสียหายนำเช็คฉบับดังกล่าวไปเข้าบัญชีที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาเพชรบุรีตัดใหม่ เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินในวันดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่ายังไม่มีการตกลงกับธนาคาร จำเลยสั่งจ่ายเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการจ่ายเงินตามเช็คนั้น และออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 และนับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1983 ถึง 1986/2540 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา บริษัทสยาม แปซิฟิค อีเล็คทริค ไวร์ แอนด์ เคเบิ้ล จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จำคุก 6 เดือน ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4828/2543 ของศาลชั้นต้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า คำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2541 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยถูกโจทก์ฟ้องในข้อหาเดียวกันนี้หลายคดี แต่ละคดีโจทก์ขอส่งประเด็นไปสืบนางสาวอรสิริหรือเมตตา เจริญสุข ที่ศาลจังหวัดมีนบุรี โดยโจทก์มิได้ตามประเด็นไป แต่มอบหมายให้พนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดมีนบุรีดำเนินคดีแทน ความเพิ่งปรากฏแก่โจทก์ภายหลังการส่งประเด็นกลับว่า ผู้แทนโจทก์ได้นำสรรพเอกสารที่อ้างเป็นพยานในคดีอื่นมาสืบในคดีนี้ และนำสรรพเอกสารที่อ้างเป็นพยานในคดีนี้ไปสืบในคดีอื่นสลับกันโดยผิดหลง โจทก์ยังมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่ และไม่ได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้น จึงขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผู้แทนโจทก์ดำเนินการผิดพลาดนั้นเสียและขอส่งประเด็นไปสืบพยานดังกล่าวใหม่ เห็นว่า การที่โจทก์จะนำพยานหลักฐานใด ๆ มาสืบได้จะต้องยื่นบัญชีระบุพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เสียก่อน จึงจะมีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบได้ ดังนั้น การที่ผู้แทนโจทก์นำสรรพเอกสารที่อ้างไว้ในคดีอื่นมาสืบในคดีนี้ จึงมีผลเท่ากับนำพยานหลักฐานที่มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้มาสืบ เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น อันถือได้ว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบ ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะสั่งแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า คำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวชอบแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า ศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานชอบหรือไม่ เห็นว่า การสืบพยานของโจทก์ปากนางสาวอรสิริหรือเมตตาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2541 เป็นกระบวนพิจารณาที่ดำเนินไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและถูกศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนแล้ว ย่อมมีผลเป็นการลบล้างการสืบพยานของโจทก์ปากนางสาวอรสิริหรือเมตตาที่ดำเนินการเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2541 และทำให้โจทก์กลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการสืบพยานปากนางสาวอรสิริหรือเมตตาในวันดังกล่าวนั้นเลย โจทก์จึงมีสิทธินำนางสาวอรสิริหรือเมตตา ใบส่งมอบสินค้าเอกสารหมาย จ.3 และใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.4 ตามที่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้ เข้าสืบในวันที่ 20 ธันวาคม 2542 ได้โดยชอบ ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ เพราะการสืบพยานปากนางสาวอรสิริหรือเมตตาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 25441 ถูกเพิกถอนไปแล้ว ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังคำเบิกความของนางสาวอรสิริหรือเมตตาประกอบใบส่งมอบสินค้าเอกสารหมาย จ.3 และใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.4 ที่โจทก์นำสืบในวันที่ 20 ธันวาคม 2542 เป็นพยานหลักฐาน จึงเป็นการไม่ชอบด้วยการรับฟังพยานหลักฐานแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลงหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share