คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17227/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาและพิพากษาลงโทษจำคุก มีกำหนด 1 ปี ซึ่งเกินอำนาจผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิพากษาลงโทษ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว และย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ หากผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนยังเห็นควรลงโทษจำคุกจำเลยเกินกว่าหกเดือน ย่อมถือว่าเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 31 (2) ต้องให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในขณะทำคำพิพากษาฉบับใหม่นี้ตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อร่วมเป็นองค์คณะด้วยตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29 (3) โดยไม่อาจย้อนกลับไปให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในขณะที่มีคำพิพากษาฉบับเดิมลงลายมือชื่อร่วมเป็นองค์คณะทำคำพิพากษาได้ เนื่องจากคำพิพากษาฉบับเดิมได้ถูกยกไปโดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน61,597,988.70 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาบริษัทไทม์เว็นเจอร์ส จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 จำคุก 1 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 61,597,988.70 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เดิมคดีนี้ศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษาคนเดียว คือ นางนุชนาถ เป็นองค์คณะพิจารณาและพิพากษาลงโทษจำคุก จำเลยมีกำหนด 1 ปี ซึ่งเกินอำนาจผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิพากษาลงโทษได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว และย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ ดังนี้ ในการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนจึงเพียงแต่ดำเนินกระบวนพิจารณาลงโทษจำเลยและมีคำพิพากษาใหม่เท่านั้น หากยังเห็นควรลงโทษจำคุกจำเลยเกินกว่าหกเดือน ย่อมถือว่าเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 31 (2) ต้องให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในขณะทำคำพิพากษาฉบับใหม่นี้ตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อร่วมเป็นองค์คณะด้วยตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29 (3) ไม่อาจย้อนกลับไปให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในขณะที่มีคำพิพากษาฉบับเดิมลงลายมือชื่อ ร่วมเป็นองค์คณะทำคำพิพากษาได้ เนื่องจากคำพิพากษาฉบับเดิมได้ถูกยกไปโดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ดังนั้น คำพิพากษาศาลชั้นต้น ฉบับใหม่ซึ่งมีนางนุชนาถ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน และนางจรีรัตน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในขณะทำคำพิพากษาได้ตรวจสำนวนคดีนี้แล้วลงลายมือชื่อเป็นองค์คณะทำคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี จึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share