คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 73/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นพิพาทข้อ 2 ว่า มีเหตุที่จะต้องเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 7 ที่ 8 ที่ 3 และที่ 9 ตามฟ้องโจทก์หรือไม่ มีข้อต้องวินิจฉัยตามข้ออ้างข้อเถียงในคำฟ้องและคำให้การประการหนึ่งว่า โจทก์ทั้งสองยังเป็นกรรมการสหภาพแรงงานยาสูบหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยพยานหลักฐานต่าง ๆในสำนวนแล้วฟังว่า โจทก์ทั้งสองยังไม่พ้นจากตำแหน่งกรรมการสหภาพแรงงานยาสูบ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคำสั่งของจำเลยที่ให้ลงโทษโจทก์ทั้งสองไม่ชอบ เป็นเหตุให้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่พิพาทกันได้ จึงเป็นการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทโดยตรงมิใช่วินิจฉัยนอกประเด็น พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หมวด 7 บัญญัติวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง วิธีการจดทะเบียน และวิธีการดำเนินกิจการสหภาพแรงงานไว้โดยเฉพาะแตกต่างจากการจัดตั้งบริษัทจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้โจทก์ทั้งสองจะเป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งสหภาพแรงงานผู้ใช้แรงงานยาสูบ แต่โจทก์ทั้งสองมิได้เป็นกรรมการบริหารสหภาพแรงงาน จึงไม่มีบัตรอนุญาตผ่านเข้าออกประจำตัวกรรมการบริการสหภาพแรงงานที่จะใช้แทนในผ่านได้การที่โจทก์ทั้งสองผ่านเข้าออกโรงงานยาสูบ 5 ในระหว่างที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารสหภาพแรงงานโดยไม่มีใบผ่านเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งผู้อำนวยการยาสูบที่ ท.140/2517 ถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ เป็นความผิดวินัย คำสั่งของจำเลยที่ 7 และที่ 8 ที่ลงโทษโจทก์ทั้งสองจึงเป็นคำสั่งที่ชอบไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน จำเลยที่ 7 และที่ 8 ลงโทษให้โจทก์ทั้งสองทำทัณฑ์บนเป็นเวลา6 เดือน และจำเลยที่ 3 ให้โจทก์ทั้งสองงดทำงานล่วงเวลาเป็นเวลา1 ปี มิใช่เป็นการลงโทษภาคทัณฑ์ ตามบัญชีกำหนดอำนาจการลงโทษท้ายระเบียบว่าด้วยวินัยการร้องทุกข์และการเลิกจ้าง พ.ศ. 2515ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ถูกจำกัดให้ใช้บังคับเฉพาะปีงบประมาณเดียวตามข้ออ้างของโจทก์ จำเลยที่ 3 ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองไม่ได้ทำงานล่วงเวลาและไม่ต้องคืนค่าจ้างสำหรับวันที่โจทก์ทั้งสองถูกลงโทษพักงานด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นพนักงานรายชั่วโมง ของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2534 จำเลยที่ 3 ได้แต่งตั้งจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ทั้งสองในข้อหาเข้าออกโรงงานยาสูบ 5 โดยไม่มีใบผ่านระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2532ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2533 จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 สอบสวนแล้วมีความเห็นว่าโจทก์ทั้งสองได้กระทำผิดวินัยเข้าออกโรงงานยาสูบ 5 โดยไม่มีใบผ่านเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อำนวยการยาสูบที่ ท*.140/2517ลงวันที่ 2 เมษายน 2517 ข้อ 2.3 มีความผิดฐานละทิ้งหน้าที่ จำเลยที่ 7 และที่ 8 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ที่ 1และที่ 2 ตามลำดับ จึงมีคำสั่งลงโทษโจทก์ทั้งสอง โดยพักงาน 3 วันตั้งแต่วันที่ 26 ถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2534 และทำทัณฑ์บนเป็นเวลา6 เดือน โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3มีคำสั่งให้ลงโทษโจทก์ทั้งสอง คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6และคำสั่งลงโทษของจำเลยที่ 7 และที่ 8 กับที่ 3 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนั้นโจทก์ทั้งสองยังถูกงดทำงานล่วงเวลามีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2534 จนถึงวันที่ 26 สิงหาคม2535 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 3 และที่ 9 คำสั่งของจำเลยที่ 3 และที่ 9 ขัดต่อระเบียบว่าด้วยวินัย การร้องทุกข์และการเลิกจ้างพ.ศ. 2515 ขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยลงโทษของจำเลยที่ 7 และที่ 8และคำสั่งลงโทษของจำเลยที่ 3 และที่ 9 โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3คืนสิทธิประโยชน์ ที่โจทก์ทั้งสองพึงได้รับเสมือนไม่เคยถูกลงโทษและให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 คืนค่าจ้างระหว่างวันที่ 26 ถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2534 จำนวน 1,369.68 บาท และ 1,333.44 บาทแก่โจทก์ทั้งสองตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และชดใช้ค่าเสียหายที่ห้ามโจทก์ทั้งสองทำงานล่วงเวลาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2534 จนถึงวันฟ้องคนละ 7,500 บาท และค่าเสียหายถัดจากเดือนที่ฟ้องถึงเดือนสิงหาคม2534 รวมเป็นเงินค่าเสียหาย 165,500 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งเก้าให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 2ได้ออกคำสั่งที่ ท.140/2517 ลงวันที่ 2 เมษายน 2517 กำหนดให้พนักงานยาสูบที่เข้าออกบริเวณโรงงานต้องมีใบผ่านและคำสั่งที่ท.53/2520 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2520 กำหนดให้พนักงานยาสูบที่เป็นกรรมการสหภาพแรงงานผ่านเข้าออกบริเวณโรงงานยาสูบโดยไม่ต้องใช้ใบผ่าน แต่ต้องใช้บัตรอนุญาตผ่านเข้าออกประจำตัวกรรมการสหภาพ ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2532 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม2532 และ วันที่ 6 ธันวาคม 2532 ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2533โจทก์ทั้งสองเข้าออกบริเวณโรงงานยาสูบ 5 โดยไม่ได้ใช้ใบผ่านจำเลยที่ 2 จึงสั่งลงโทษทางวินัยโจทก์ทั้งสองให้พักงานคนละ 3 วันโดยไม่จ่ายค่าจ้าง ฐานละทิ้งหน้าที่ ตามระเบียบโรงงานยาสูบว่าด้วยวินัย การร้องทุกข์และการเลิกจ้าง พ.ศ. 2515 และคำสั่งของจำเลยที่ 3 และที่ 9 ที่ห้ามพนักงานยาสูบที่ถูกลงโทษทางวินัยทำงานล่วงเวลาเป็นเวลา 1 ปี เป็นคำสั่งที่มีต่อลูกจ้างทั่วไป มิได้ใช้บังคับเฉพาะโจทก์ทั้งสองเท่านั้น จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยที่ 2 เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เป็นกิจการที่ประกาศของคณะปฎิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ไม่ใช้บังคับ มีผลทำให้คดีนี้ไม่ได้อยู่ในบังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายแรงงานสัมพันธ์อีกต่อไป คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน โจทก์ทั้งสองไม่ปฎิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พ.ศ. 2534 มาตรา 18(2) และมาตรา 11(2) จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางเห็นว่า มีปัญหาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานหรือไม่ จึงได้ส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยแล้วว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสองขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2ศาลแรงงานกลางอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองมิได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ ตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 เป็นการไม่ปฎิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่น พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องแต่ประเด็นข้อ 2 ถึง ข้อ 4 ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดไว้เป็นข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัย เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวข้างต้น แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองเป็นกรรมการของสหภาพแรงงานยาสูบ สหภาพแรงงานยาสูบมีกรรมการ35 คน หลังจากที่โจทก์ทั้งสองพ้นจากตำแหน่งกรรมการสหภาพแรงงานยาสูบตามวาระแล้วโจทก์ทั้งสองเป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งสหภาพแรงงานผู้ใช้แรงงานยาสูบ ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2532 และได้จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกตามกฎหมายเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2533 ดังนั้นในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2532 ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2533 แม้โจทก์ทั้งสองจะยังมิได้เป็นกรรมการของสหภาพ แต่การเป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้มีการเลือกตั้งกรรมการสหภาพตามระเบียบและกฎหมายถือได้ว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นการทำแทนสหภาพเทียบได้กับการเป็นกรรมการผู้ก่อตั้งบริษัทจำกัดที่มีอำนาจดำเนินการแทนบริษัท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัทการทำงานของโจทก์ทั้งสองในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการทำงานในนามของสหภาพแรงงานผู้ใช้แรงงานยาสูบ ไม่ถือว่าเป็นการขาดงานตามคำสั่งของโรงงานยาสูบที่ ท.53/2520 ที่จำเลยที่ 4ถึงที่ 6 มีมติให้พักงานโจทก์ทั้งสองคนละ 3 วัน ให้ลงโทษภาคทัณฑ์คนละ 6 เดือน จึงไม่ชอบ และคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองพักงานมีกำหนด3 วัน ของจำเลยที่ 7 และที่ 8 กับคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองงดทำงานล่วงเวลา 1 ปี ของจำเลยที่ 3 และที่ 9 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการยาสูบต้องคืนเงินค่าจ้างที่จำเลยที่ 7 และที่ 8 ให้โจทก์ทั้งสองพักงานระหว่างวันที่ 26 ถึง 28สิงหาคม 2534 และใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองที่เสียโอกาสทำงานล่วงเวลาคนละ 10,000 บาท ส่วนสิทธิประโยชน์อย่างอื่นโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นจึงไม่วินิจฉัยให้ พิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่ ฝผล.3/2534 และคำสั่งที่ ฝผล.1/2534 ของจำเลยที่ 7 และที่ 8ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และ 2 คำสั่งลงโทษของจำเลยที่ 3และที่ 9 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 และ 12 ให้จำเลยที่ 3คืนค่าจ้างระหว่างวันที่ 26 ถึง 28 สิงหาคม 2534 จำนวน1,369.61 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 1,333.44 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองและให้จำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองอีกคนละ 10,000 บาทคำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 9 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 9 ประการแรกว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า ตามประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดว่ามีเหตุที่จะต้องเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 7 ที่ 8 ที่ 3 และที่ 9 ตามฟ้องโจทก์หรือไม่มีข้อต้องวินิจฉัยตามข้ออ้างข้อเถียงในคำฟ้องและคำให้การประการหนึ่งว่า ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2532 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2532โจทก์ทั้งสองยังเป็นกรรมการสหภาพแรงงานยาสูบอยู่หรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยพยานหลักฐานต่าง ๆ ในสำนวน แล้วฟังว่าคณะกรรมการสหภาพแรงงานยาสูบที่ได้ประชุมกันในวันที่ 17 สิงหาคม2532 และมีมติให้โจทก์ทั้งสองพ้นจากตำแหน่งกรรมการ มีกรรมการเข้าร่วมประชุมลงมติเพียง 23 คน ไม่ถึงจำนวน 2 ใน 3 ของคณะกรรมการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับจึงไม่มีผล ส่วนมติที่ลงในวันที่ 18 สิงหาคม2532 ก็ไม่มีผลเนื่องจากไม่มีการประชุมตามระเบียบข้อบังคับของสหภาพแรงงานยาสูบ โจทก์ทั้งสองจึงยังไม่พ้นจากตำแหน่งกรรมการสหภาพแรงงานยาสูบ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคำสั่งของจำเลยที่ให้ลงโทษโจทก์ทั้งสองไม่ชอบ เป็นเหตุให้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่พิพาทกันได้ จึงเป็นการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทโดยตรงมิใช่วินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1และที่ 3 ถึงที่ 9 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 9 อุทธรณ์ประการที่สองว่า สถานะของผู้เริ่มก่อการจัดตั้งสหภาพแรงงานมีพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 หมวด 8 (ที่ถูกเป็นหมวด 7) ว่าด้วยสหภาพแรงงานอันเป็นกฎหมายเฉพาะใช้บังคับอยู่แล้วไม่อาจนำไปเทียบเคียงกับผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้เริ่มก่อการจัดตั้งสหภาพแรงงานแม้ว่าจะยังไม่ได้เป็นกรรมการสหภาพแรงงานแต่ก็ถือว่าการกระทำของผู้เริ่มก่อการจัดตั้งเป็นการกระทำของสหภาพแรงงานจึงไม่ถือว่าโจทก์ทั้งสองขาดงานโดยเทียบเคียงกับผู้เริ่มก่อการบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นการคลาดเคลื่อนนั้นเห็นว่า การจัดตั้งสหภาพแรงงาน พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หมวด 7 ได้บัญญัติวัตถุที่ประสงค์ในการจัดตั้ง วิธีการจดทะเบียนสหภาพแรงงาน และวิธีการดำเนินกิจการสหภาพแรงงานไว้โดยเฉพาะ แตกต่างจากการจัดตั้งบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกรณีเป็นเรื่องจำเลยที่ 7 และที่ 8 ลงโทษโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นพนักงานของโรงงานยาสูบกระทรวงการคลัง โดยกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนคำสั่งผู้อำนวยการยาสูบที่ ท.140/2517 ลงวันที่ 2 เมษายน 2517 มีความผิดฐานละทิ้งหน้าที่ จึงมีปัญหาวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองกระทำผิดดังที่จำเลยกล่าวหาหรือไม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาตามคำสั่งและระเบียบหรือข้อบังคับของโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง คือคำสั่งผู้อำนวยการยาสูบที่ ท.140/2517 เรื่องหลักเกณฑ์การปฎิบัติภายในโรงงานตามเอกสารหมาย ล.1 ที่กำหนดว่าพนักงานยาสูบที่เข้าปฎิบัติงานในโรงงานแล้วหากประสงค์จะผ่านออกนอกโรงงานจะต้องแจ้งให้หัวหน้างานทราบและรับอนุญาตจากหัวหน้าแผนกหรือประจำแผนกที่ได้รับมอบหมายเสียก่อนแล้วจึงจะขอใบผ่านได้การออกนอกโรงงานโดยไม่ปฎิบัติให้ถูกต้องตามที่กล่าวถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่และมีข้อยกเว้นคือคำสั่งโรงงานยาสูบกระทรวงการคลังที่ ท.53/2520 เรื่องการใช้บัตรอนุญาตผ่านเข้าออกประจำตัวกรรมการบริหารสหภาพแรงงานยาสูบตามเอกสารหมาย ล.2 ที่กำหนดให้กรรมการบริหารสหภาพที่มีความจำเป็นต้องไปปฎิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนสมาชิกสหภาพใช้บัตรอนุญาตผ่านเข้าออกประจำตัวกรรมการบริหารสหภาพแทนใบผ่านได้เฉพาะวันทำงานปกติ โดยต้องแสดงบัตรและแจ้งเหตุผลต่อผู้บังคับบัญชาศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงยุติว่า โจทก์ทั้งสองพ้นจากตำแหน่งกรรมการสหภาพแรงงานยาสูบตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2532 ต่อมาโจทก์ทั้งสองได้เป็นผู้ก่อการจัดตั้งสหภาพแรงงานผู้ใช้แรงงานยาสูบนายทะเบียนรับจดทะเบียนสหภาพแรงงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม2532 และได้มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งกรรมการสหภาพแรงงานผู้ใช้แรงงานยาสูบเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2533 ระหว่างวันที่ 6ธันวาคม 2532 ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2533 โจทก์ทั้งสามมิได้เป็นกรรมการสหภาพแรงงานและได้ผ่านเข้าออกโรงงานยาสูบ 5 โดยไม่มีใบผ่านศาลฎีกาเห็นว่า ในระหว่างวันที่ 6 ธันวาคม 2532 ถึงวันที่28 มีนาคม 2533 แม้โจทก์ทั้งสองจะเป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งสหภาพแรงงานผู้ใช้แรงงานยาสูบ แต่โจทก์ทั้งสองมิได้เป็นกรรมการบริหารสหภาพแรงงาน โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีบัตรอนุญาตผ่านเข้าออกประจำตัวกรรมการบริหารสหภาพแรงงานที่จะใช้แทนใบผ่านได้ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจะอ้างว่าเป็นกรรมการบริหารสหภาพแรงงานมีสิทธิผ่านเข้าออกโรงงานยาสูบ 5 โดยไม่ต้องมีใบผ่านตามคำสั่งโรงงานยาสูบกระทรวงการคลังที่ ท.53/2520 เรื่องการใช้บัตรอนุญาตผ่านเข้าออกประจำตัวกรรมการบริหารสหภาพแรงงานยาสูบ เอกสารหมายล.2 หาได้ไม่ การที่โจทก์ทั้งสองผ่านเข้าออกโรงงานยาสูบ 5ระหว่างวันที่ 6 ธันวาคม 2532 ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2533 โดยไม่มีใบผ่านจึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งผู้อำนวยการยาสูบที่ ท.140/2517ถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ ซึ่งเป็นความผิดวินัยจำเลยที่ 7 และที่ 8 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชามีอำนาจลงโทษโจทก์ทั้งสองตามระเบียบว่าด้วยวินัย การร้องทุกข์และการเลิกจ้าง พ.ศ. 2515 ได้ และแม้โจทก์ทั้งสองจะไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2532 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2532 แต่โจทก์ทั้งสองได้ละทิ้งหน้าที่ระหว่างวันที่ 6 ธันวาคม 2532 ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2533 คำสั่งของจำเลยที่ 7 และที่ 8 ที่ลงโทษโจทก์ทั้งสองตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และ 2 โดยระบุว่าโจทก์ทั้งสองกระทำผิดวินัยเข้าออกโรงงานยาสูบ 5 โดยไม่มีใบผ่านให้ลงโทษพักงานมีกำหนด 3 วันจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยระเบียบว่าด้วยวินัย การร้องทุกข์และการเลิกจ้าง พ.ศ. 2515 ของโรงงานยาสูบกระทรวงการคลังไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน และตามบัญชีกำหนดอำนาจการลงโทษลดขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้าง ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง พักงานหรือภาคทัณฑ์ท้ายระเบียบว่าด้วยวินัย การร้องทุกข์และการเลิกจ้างพ.ศ. 2515 ของโรงงานยาสูบกระทรวงการคลังดังกล่าว กำหนดว่าโทษภาคทัณฑ์ให้ใช้บังคับเฉพาะปีงบประมาณเดียวจำเลยที่ 7 และที่ 8 ให้โจทก์ทั้งสองทำทัณฑ์บนเป็นเวลา 6 เดือน และจำเลยที่ 3ให้โจทก์ทั้งสองงดทำงานล่วงเวลาเป็นเวลา 1 ปี มิใช่เป็นการลงโทษภาคทัณฑ์ จึงไม่ถูกจำกัดให้ใช้บังคับเฉพาะปีงบประมาณเดียวดังข้ออ้างของโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองไม่ได้ทำงานล่วงเวลา และจำเลยที่ 3 ไม่ต้องคืนค่าจ้างสำหรับวันที่โจทก์ทั้งสองถูกลงโทษพักงานด้วย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share