แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้เกิดขึ้นในท้องที่ที่ต้องนำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับ เมื่อปรากฏตามบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาของพนักงานอัยการโจทก์ว่า เจ้าพนักงานจับจำเลยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2539 เวลา 14 นาฬิกา และควบคุมตัวจำเลยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2539 เวลา 14.30 นาฬิกา และโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2539 เวลา 15 นาฬิกา เห็นได้ว่า ฟ้องโจทก์ดังกล่าวนั้น ยื่นต่อศาลชั้นต้นเกินกำหนด 72 ชั่วโมง เพียงเล็กน้อย ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแต่เพียงว่า โจทก์จะต้องฟ้องจำเลยภายใน 72 ชั่วโมงนับแต่เวลาถูกจับ โดยมิได้นำข้อยกเว้นที่กฎหมายบัญญัติให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ต้องหาจากที่จับมาที่ทำการของพนักงานสอบสวน จากที่ทำการของพนักงานสอบสวนและหรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาล ขึ้นวินิจฉัยด้วย จึงยังไม่เป็นการถูกต้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499มาตรา 7 และเมื่อคดียังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ฟ้องโจทก์เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายหรือไม่ ดังนี้ ศาลฎีกาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 7 หรือไม่ แล้วส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 61, 73
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 61, 73 จำคุก 3 เดือน ปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อรองจ่าศาลประชาสัมพันธ์ทุก 3 เดือนต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปี
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานหนักและไม่รอการลงโทษโดยอัยการพิเศษประจำเขต 2 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1ยกฟ้องโจทก์ชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คดีนี้ เกิดขึ้นในท้องที่ที่ต้องนำวิธีพิจารณาความอาญา ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับ เจ้าพนักงานจับจำเลยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2539 เวลา 14 นาฬิกา และควบคุมตัวจำเลย เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2539 เวลา 14.30 นาฬิกาโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2539 เวลา 15 นาฬิกา ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า ฟ้องโจทก์ยื่นเกินกำหนด 72 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับ โดยไม่ปรากฏว่า มีการขอผัดฟ้องต่อศาล หรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 7 และพิพากษาให้ยกฟ้อง เห็นว่า ฟ้องโจทก์ดังกล่าวนั้น ยื่นต่อศาลชั้นต้นเกินกำหนด 72 ชั่วโมง เพียงเล็กน้อย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยแต่เพียงว่า โจทก์จะต้องฟ้องจำเลยภายใน 72 ชั่วโมง นับแต่เวลาถูกจับ โดยมิได้นำข้อยกเว้นที่กฎหมายบัญญัติมิให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ต้องหาจากที่จับมาที่ทำการของพนักงานสอบสวน จากที่ทำการของพนักงานสอบสวนและหรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาล ขึ้นวินิจฉัยด้วย ยังไม่เป็นการถูกต้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 7 เมื่อคดียังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ฟ้องโจทก์เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายหรือไม่ จึงเห็นสมควรให้มีการไต่สวนแล้วย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาใหม่
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 7 หรือไม่ แล้วส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาใหม่ตามรูปคดี