คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7282/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยนั้น ได้ความตามฟ้องว่านับแต่จำเลยกู้และรับเงินไปจากโจทก์ จำเลยมิได้ชำระหนี้ให้โจทก์เป็นประจำทุกๆ เดือนตามสัญญา ค้างชำระติดต่อกันหลายงวดซึ่งโจทก์ถือว่าจำเลยผิดสัญญา และจากเอกสารบัญชีเงินกู้ก็ได้ความว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่งวดเดือนเมษายน 2545 เป็นต้นมา และโจทก์ได้ปรับดอกเบี้ยจากอัตราร้อยละ 8.11 เป็น 13.5 นับแต่เดือนกรกฎาคม 2544 เป็นต้นมา ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเกิดขึ้นหลังจากที่จำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดแล้ว เห็นได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามสัญญากู้เงินที่ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ ดอกเบี้ยจำนวนนี้เป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้โดยคำนึงถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 452,104.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 349,310.57 บาท นัดถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระค่าเบี้ยประกันภัยที่โจทก์ออกแทนไปก่อนสามปีต่อครั้ง เป็นเงินครั้งละ 1,241.20 บาท เริ่มชำระตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดห้องชุดเลขที่ 69/32 ชั้นที่ 1 อาคารเลขที่ ไอ อาคารชุดนิรันดร์เรซิเดนซ์ 3 ซึ่งอยู่บนโฉนดที่ดินเลขที่ 1569 – 1579, 1601 – 1602 ตำบลดอกไม้ อำเภอประเวศ กรุงเทพมหานคร ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 434,533.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 349,310.57 บาท ในอัตราเอ็มอาร์อาร์ (อัตราดอกเบี้ยที่คิดกับลูกค้ารายย่อยชั้นดี) ตามประกาศของโจทก์บวกร้อยละ 1 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ยอดหนี้ทั้งหมดคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 14 กรกฎาคม 2548) ต้องไม่เกิน 452,104.21 บาท และอัตราดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปต้องไม่เกินร้อยละ 13.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอหากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดห้องชุดเลขที่ 69/32 ชั้นที่ 1 อาคารเลขที่ ไอ อาคารชุดนิรันดร์เรซิเดนซ์ 3 ซึ่งอยู่บนโฉนดเลขที่ 1569 – 1579, 1601 – 1602 ตำบลดอกไม้ อำเภอประเวศ กรุงเทพมหานคร ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ถ้าได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้บังคับจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยชำระหนี้จนครบ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า เบี้ยปรับเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่คู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าหากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควรให้เจ้าหนี้ริบหรือเรียกเอาเบี้ยปรับนั้นได้ ตามหนังสือสัญญากู้เงินและบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงิน เอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 มีใจความโดยสรุปว่าในระยะ 3 ปีแรกนับแต่วันทำสัญญากู้เงินโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราคงที่ได้เพียงร้อยละ 8.11 ต่อปีเท่านั้น จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่านั้นไม่ได้จนกว่าจะล่วงพ้น 3 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญา เว้นแต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่ง โจทก์ย่อมมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้เสมอโดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยผู้กู้ทราบล่วงหน้า ดังนั้น ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.11 ต่อปี ในระยะเริ่มแรกก็ดี ดอกเบี้ยหลังจากล่วงพ้น 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้เงินก็ดี ล้วนเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามข้อสัญญาทั้งสิ้น ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ และเป็นดอกผลนิตินัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148 วรรคสาม แต่ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปีที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยนั้นได้ความตามฟ้องว่านับแต่จำเลยกู้และรับเงินไปจากโจทก์จำเลยมิได้ชำระหนี้ให้โจทก์เป็นประจำทุกๆ เดือนตามสัญญา ค้างชำระติดต่อกันหลายงวดซึ่งโจทก์ถือว่าจำเลยผิดสัญญา และจากเอกสารบัญชีเงินกู้หมาย จ.14 ก็ได้ความว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่งวดเดือนเมษายน 2545 เป็นต้นมา และโจทก์ได้ปรับดอกเบี้ยจากอัตราร้อยละ 8.11 เป็น 13.5 นับแต่เดือนกรกฎาคม 2545 เป็นต้นมาดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเกิดขึ้นหลังจากที่จำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดแล้ว เห็นได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามสัญญากู้เงินที่ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ ดอกเบี้ยจำนวนนี้เป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้โดยคำนึงถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ดอกเบี้ยร้อยละ 13.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปเป็นเบี้ยปรับนั้นจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share