คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 728/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อข้อ5กำหนดว่าในกรณีที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไม่ว่าโดยเหตุสุดวิสัยหรือโดยเหตุใดผู้เช่าซื้อต้องรับผิดแต่ฝ่ายเดียวชำระค่าเช่าซื้อทั้งสิ้นจนครบการที่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อฟ้องขอให้จำเลยที่1ผู้เช่าซื้อชำระค่ารถยนต์ที่ค้างตามสัญญาดังกล่าวจึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยที่1ชำระราคาทรัพย์สินที่เช่าซื้อจนครบตามที่ระบุไว้ในสัญญาหาใช่ฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไม่(อ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่366/2521) ในกรณีฟ้องเรียกราคารถยนต์ที่เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวข้างต้นไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงต้องใช้อายุความ10ปีตามป.พ.พ.มาตรา164มิใช่อายุความ2ปี.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์ดัทสันกระบะของโจทก์ไป 1 คัน มีจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน ค่าเช่าซื้อเป็นเงิน 132,400 บาท จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญา21,000 ส่วนที่เหลือสัญญาจะผ่อนชำระเป็น 30 งวด ๆ ละเดือน แต่จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 20 ซึ่งจะต้องชำระในวันที่ 15 กันยายน2523 ให้โจทก์เพียง 2,100 บาท ยังขาดอีก 1,500 บาท แล้วผิดนัดตั้งแต่งวดดังกล่าวเป็นต้นมา เกิน 2 งวดติดต่อกัน เมื่อวันที่ 14สิงหาคม 2524 จำเลยที่ 1 ได้นำความไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่ารถคันที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไปเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2524 ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 5 จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดฝ่ายเดียว ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์จนครบ เงินค่ารถยังค้างชำระอยู่อีก 37,900บาท จำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินค่ารถ 37,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การว่า สิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างทั้งหมดเริ่มแต่วันที่ 15 กันยายน 2523 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่27 เมษายน 2526 เกิน 2 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ที่ 3 ไม่ต้องรับผิดตามฟ้องเพราะสัญญาค้ำประกันไม่ได้ระบุไว้ชัดว่า ทรัพย์สินที่เช่าซื้อสูญหายแล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ทุนทรัพย์พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาทต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบด้วยมาตรา 238 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3, จ.4 จำเลยที่ 1 ชำระเงินในวันทำสัญญาและต่อมาผ่อนชำระเป็นงวดให้โจทก์ครบ19 งวด แต่งวดที่ 20 ประจำวันที่ 15 กันยายน 2523 ชำระให้โจทก์ไม่ครบถ้วน แล้วไม่ชำระให้โจทก์อีกเลย ยังคงค้างค่าเช่าซื้ออยู่ทั้งหมด 37,900 บาท ต่อมารถยนต์ที่เช่าซื้อหาย
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 5 ซึ่งกำหนดว่า ในกรณีที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไม่ว่าโดยเหตุสุดวิสัยหรือโดยเหตุใด จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดแต่ฝ่ายเดียวชำระค่าเช่าซื้อทั้งสิ้นจนครบ การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่ารถยนต์ที่ค้างตามข้อสัญญาดังกล่าวจำนวน 37,900บาท จึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ชำระราคาทรัพย์สินที่เช่าซื้อจนครบตามที่ระบุไว้ในสัญญา หาใช่ฟ้องเรียกว่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไม่ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 366/2521 ระหว่าง บริษัทสยามกลการ จำกัด โดยนายพยุง วัฒนสิงหะ ผู้รับมอบอำนาจ โจทก์ นายทองม้วนธงฤทธิ์ หรือธุงฤทธิ์ หรือม้วน ทรงฤทธิ์ กับพวก จำเลย ในกรณีฟ้องเรียกราคารถยนต์ที่เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 มิใช่อายุความ 2 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องจากโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อของจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาจึงมีอำนาจฟ้อง และตามสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.3, จ.4 กำหนดว่า ถ้าผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชอบชดใช้เงินในความเสียหายใด ผู้ประกันยอมค้ำประกันและรับผิดชอบร่วมกับผู้เช่าซื้อในความรับผิดชอบใช้เงินนั้นทุกประการจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน 37,900 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามข้อสัญญาในต้นเงิน37,900 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท.

Share