คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7278/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้การบังคับคดียึดทรัพย์ในคดีแพ่งของศาลชั้นต้น โจทก์จะมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว แต่โจทก์อ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของโจทก์มาทำการบังคับคดีอันเป็นการไม่ชอบทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์จึงเป็นบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี ซึ่งต้องเสียหาย ดังนั้น เมื่อโจทก์จะขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงดังกล่าว โจทก์ต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลไม่ช้ากว่า8 วันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้น โจทก์ได้ทราบการฝ่าฝืนนั้นแล้วโดยได้ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ในคดีดังกล่าวแล้วมิได้ยื่นคำขอให้ยกเลิก การบังคับคดี จนการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจ ฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง อีก โจทก์เป็นบุคคลภายนอกคดี คำพิพากษาในคดีก่อนย่อมไม่ผูกพันโจทก์ แต่เมื่อการบังคับคดีมีผลกระทบต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ก็ชอบที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ไม่ว่าจะเป็นการร้องขัดทรัพย์หรือขอให้เพิกถอนการบังคับคดี หากโจทก์ไม่ดำเนินการหรือดำเนินการไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ย่อมไม่มีอำนาจที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีนั้น ๆ ได้ คดีก่อนจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่โจทก์คดีนี้ให้ออกจากทรัพย์ พิพาท โจทก์คดีนี้ในฐานะจำเลยในคดีดังกล่าวได้ให้การและ ฟ้องแย้งว่าจำเลยในคดีนี้มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาท สำเนา ใบแทนโฉนดที่ดินเป็นเอกสารไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลใช้บังคับ ขอให้เพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ และยกฟ้องแย้ง แล้วโจทก์กลับมาฟ้องจำเลยในคดีนี้ว่า ทรัพย์พิพาท เป็นของโจทก์มีการออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทโดยไม่ชอบ ขอให้ พิพากษาว่า การออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทไม่ผูกพันโจทก์ ดังนั้น คดีทั้งสองดังกล่าวจึงมีประเด็นแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกัน ถือได้ว่าคดีเดิมศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีแล้ว โดยไม่เพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินพิพาท ฟ้องของโจทก์คดีนี้ ที่ขอให้พิพากษาเกี่ยวกับใบแทนโฉนดที่ดิน จึงเป็นการดำเนินกระบวน พิจารณาซ้ำกับคดีก่อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 2 เพื่อขอแบ่งสินสมรสได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันให้แบ่งสินสมรสและศาลมีคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 259/2531ของศาลชั้นต้น ต่อมาจำเลยที่ 1 ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 2457 ซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ อ้างว่าเป็นสินสมรส ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยึดตามที่จำเลยที่ 1 ขอต่อมาจำเลยที่ 3น้องชายของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 2457ดังกล่าว จากการขายทอดตลาดของศาล โดยจำเลยที่ 3 ทราบอยู่แล้วว่าที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จึงเป็นการซื้อโดยไม่สุจริต โจทก์ได้ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวว่าโจทก์ไม่จำเป็นต้องส่งต้นฉบับโฉนดต่อศาล และขอให้ศาลมีคำสั่งชัดแจ้งแสดงเหตุผลตามกฎหมาย เพื่อโจทก์จะได้ใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาต่อไป แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้โจทก์ส่งต้นฉบับโฉนดที่ดินพิพาท กลับถือว่าเป็นกรณีที่ไม่อาจได้มาซึ่งโฉนดที่ดินและถือว่าเป็นกรณีสูญหาย จึงให้ออกใบแทนโฉนดที่ดินใหม่ เป็นเหตุให้มีการออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทโดยมิชอบ และจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 259/2531การดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์คำสั่งให้ยึดและการยึดที่ดินของโจทก์พร้อมอาคารและการขายทอดตลาดทรัพย์ใช้ยันโจทก์ไม่ได้และไม่ผูกพันโจทก์ขอให้พิพากษาว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 259/2531 ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้นไม่ผูกพันโจทก์การยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 2457 การขายทอดตลาดที่ดินและอาคารที่ยึดไว้โดยไม่ชอบดังกล่าว และการออกใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 2457 รวมทั้งการจดทะเบียนสิทธิในใบแทนนั้นไม่ผูกพันโจทก์ และใช้ยันโจทก์ไม่ได้
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า บ้านเลขที่ 182/3 และที่ดินโฉนดเลขที่ 2457 ซึ่งเป็นทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 หย่าขาดจากกันและจำเลยที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 2 เพื่อขอแบ่งสินสมรส โดยจำเลยที่ 2ยอมแบ่งสินสมรสซึ่งรวมทั้งทรัพย์พิพาทดังกล่าวให้จำเลยที่ 1ครึ่งหนึ่งตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่เนื่องจากไม่อาจแบ่งได้โดยสภาพ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดจำเลยที่ 3 ซื้อทรัพย์พิพาทได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริต หลังจากจำเลยที่ 3 ซื้อทรัพย์ดังกล่าวแล้ว โจทก์ขัดขวางมิให้จำเลยที่ 3 เข้าครอบครองทรัพย์พิพาทแม้โจทก์จะเป็นผู้มีชื่อในโฉนดเลขที่ 2457 แต่โจทก์หาได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว เพราะโจทก์เป็นตัวแทนของนายวิโรจน์และนางวัชรีไม่ทราบนามสกุลพี่เขยและพี่สาวของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อทรัพย์ดังกล่าวจากนายวิโรจน์และนางวัชรี ซึ่งโจทก์และนายวิโรจน์กับนางวัชรีได้มอบการครอบครองให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2จึงได้สร้างบ้านเลขที่ 182/3 ขึ้นในที่ดินดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2457 ซึ่งมีบ้านเลขที่ 182/3 ปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภรรยากัน ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2หย่าขาดจากกัน และจำเลยที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 2 เพื่อขอแบ่งสินสมรสได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันให้แบ่งสินสมรสและศาลมีคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 259/2531 ของศาลชั้นต้น ในการบังคับคดีจำเลยที่ 1 ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 2457 พร้อมบ้านเลขที่ 182/3 ดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์พิพาทอ้างว่า เป็นสินสมรสที่มีชื่อบุคคลภายนอกครอบครองแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยึดเพื่อดำเนินการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความต่อไป โจทก์ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์ หลังจากนั้นได้นำทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาด จำเลยที่ 3 เป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์พิพาทได้จากการขายทอดตลาด แต่โฉนดที่ดินอยู่ที่โจทก์ ศาลชั้นต้นหมายเรียกโจทก์มาสอบถามเพื่อส่งโฉนดที่ดิน โจทก์คัดค้านการส่งโฉนดที่ดินศาลชั้นต้นสั่งให้ออกใบแทนโฉนดที่ดิน แล้วโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 ต่อมาจำเลยที่ 3 เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่โจทก์คดีนี้ให้ออกจากทรัพย์พิพาท และโจทก์คดีนี้ฟ้องแย้งว่าทรัพย์พิพาทเป็นของโจทก์ ขอให้เพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 676/2534 ของศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่30 ธันวาคม 2534 ให้ยกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้ง
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการแรกตามที่โจทก์ฎีกาข้อ 2(ก) ว่า โจทก์มิได้เป็นคู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 259/2531 ของศาลชั้นต้นที่ดำเนินการบังคับคดี โดยในคดีดังกล่าวไม่เคยส่งหมายบังคับคดีและไม่เคยแจ้งการยึดทรัพย์บังคับคดีเอาที่ดินพิพาทไปให้โจทก์ทราบ มีเพียงหมายนัดพร้อมเพื่อสอบถามเท่านั้น กำหนดเวลาที่จะให้ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกกระบวนการบังคับคดีเสียภายในไม่ช้ากว่า 8 วัน จึงไม่อาจเริ่มนับได้อำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีของโจทก์ย่อมไม่สิ้นไป เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองบัญญัติว่า ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายโดยการฝ่าฝืนนั้น แล้วแต่กรณี อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้น ฯลฯ การบังคับคดียึดทรัพย์พิพาทในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 259/2531 ของศาลชั้นต้นแม้โจทก์จะมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว แต่โจทก์อ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์พิพาทของโจทก์มาทำการบังคับคดีอันเป็นการไม่ชอบทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์จึงเป็นบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี ซึ่งต้องเสียหาย ดังนั้น เมื่อโจทก์จะขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงดังกล่าว โจทก์ต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลไม่ช้ากว่า8 วันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้น แต่โจทก์ได้ทราบการฝ่าฝืนดังกล่าวนั้นแล้ว โดยได้ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ในคดีดังกล่าวตั้งแต่วันที่2 ธันวาคม 2531 แล้วมิได้ยื่นคำขอให้ยกเลิกการบังคับคดีจนการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการบังคับคดีได้อีก
มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อ 2(ข) ว่า เมื่อคำพิพากษาในคดีก่อนไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดี การบังคับคดีที่มีขึ้นก็ย่อมไม่ผูกพันโจทก์และใช้ยันโจทก์ไม่ได้ดุจกัน เห็นว่า แม้โจทก์เป็นบุคคลภายนอกคดี คำพิพากษาในคดีก่อนย่อมไม่ผูกพันโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อการบังคับคดีมีผลกระทบต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายโจทก์ก็ชอบที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ว่าจะเป็นการร้องขัดทรัพย์หรือขอให้เพิกถอนการบังคับคดีหากโจทก์ไม่ดำเนินการหรือดำเนินการไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ย่อมไม่มีอำนาจที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีนั้น ๆ ได้ หาใช่เป็นกรณีที่การบังคับคดีจะมีผลผูกพันโจทก์หรือไม่ดังโจทก์ฎีกา
มีปัญหาตามฎีกาโจทก์ข้อสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ เห็นว่าจำเลยที่ 3 เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่โจทก์คดีนี้ให้ออกจากทรัพย์พิพาทในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 676/2534 ของศาลชั้นต้น โจทก์คดีนี้ในฐานะจำเลยในคดีดังกล่าวได้ให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยที่ 3 ในคดีนี้มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาท สำเนาใบแทนโฉนดที่ดินเป็นเอกสารไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลใช้บังคับขอให้เพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้ง แล้วโจทก์กลับมาฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ว่าทรัพย์พิพาทเป็นของโจทก์มีการออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทโดยไม่ชอบขอให้พิพากษาว่า การออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทไม่ผูกพันโจทก์ ดังนั้นคดีทั้งสองดังกล่าวจึงมีประเด็นแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกัน ถือได้ว่าคดีเดิมศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีแล้ว โดยไม่เพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินพิพาท ฟ้องของโจทก์คดีนี้ในข้อ 4 ที่ขอให้พิพากษาเกี่ยวกับใบแทนโฉนดที่ดิน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 676/2534ของศาลชั้นต้นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share