คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านเป็นหน่วยงานทางปกครองที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายฝ่ายมหาชนทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนกับผู้ร้องทั้งสาม ผู้คัดค้านทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในฐานะหน่วยงานทางปกครองที่เป็นองค์กรนิติบุคคลข้อ 17 ของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 บัญญัติให้มีผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้กระทำการในนามผู้คัดค้านในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกและเป็นผู้กระทำการแทนผู้คัดค้านตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การใช้อำนาจของผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยซึ่งกระทำการในนามผู้คัดค้านจะผูกพันผู้คัดค้านต่อเมื่ออยู่ภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ นอกจากจะต้องอยู่ภายในขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จัดตั้งกำหนดไว้เป็นไปตามระเบียบวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและไม่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือกฎระเบียบและข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแล้ว การใช้อำนาจของผู้คัดค้านจะต้องมิใช่เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือมีการบิดผันอำนาจทางหนึ่งทางใดอีกด้วย
ผู้คัดค้านโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า นิติกรรมหรือสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนหากมีการทำขึ้นเพราะกลฉ้อฉลก็เป็นเพียงโมฆียะ เมื่อไม่มีการบอกล้าง ก็ไม่ทำให้สัญญาจ้างดังกล่าวตกเป็นโมฆะนั้นไม่ชอบ โดยผู้คัดค้านอ้างทำนองเดียวกันกับที่ได้ยกข้อต่อสู้ไว้แล้วว่า ในการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วน มีการทุจริตและประพฤติมิชอบ เอื้อประโยชน์แก่ผู้ร้อง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมมือกับผู้ร้อง โดยเฉพาะ ศ. ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการของผู้คัดค้านในขณะนั้นและเป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้างดังกล่าวในนามผู้คัดค้านกระทำโดยมิชอบหลายประการ ทั้ง ศ. และเจ้าหน้าที่อื่นและเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยอื่น ๆ รับประโยชน์จากผู้ร้อง สัญญาจ้างดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ เป็นการกล่าวอ้างว่า การใช้อำนาจของ ศ. และเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นดังกล่าวกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ซึ่งเป็นกฎหมายฝ่ายมหาชน เป็นการโต้แย้งว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งผู้คัดค้านย่อมอุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (2) ซึ่งบัญญัติไว้อย่างเดียวกับพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 26 (2) ศ. ช่วยเหลือผู้ร้องโดยเห็นแก่ประโยชน์ที่ผู้ร้องจัดให้จึงถือว่าการใช้อำนาจในฐานะผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยของ ศ. ที่ลงนามในสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และขณะเดียวกันการที่ผู้ร้องเพิ่มทุนและจัดสรรหุ้นของบริษัท ท. ให้แก่ ศ. กับเจ้าหน้าที่ของรัฐคนอื่นมีสิทธิซื้อหุ้นในฐานะผู้มีอุปการะคุณก่อนทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนถือได้ว่าผู้ร้องได้ให้ผลประโยชน์แก่ ศ. และเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วน โดยเอื้อประโยชน์แก่ผู้ร้อง กรณีต้องถือว่า ในการทำสัญญาดังกล่าวของผู้ร้อง ผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริต สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนซึ่งเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันผู้คัดค้าน คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินให้แก่ผู้ร้องตามสัญญาที่เกิดขึ้นจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวนั้นหากศาลบังคับให้ตามคำชี้ขาดนั้นย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนชอบที่ศาลชั้นต้นจะปฏิเสธไม่รับบังคับให้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ดังนั้นคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับตามคำชี้ขาดขออนุญาตโดยตุลาการดังกล่าวจึงฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องทั้งสามในนามกิจการร่วมค้า บีบีซีดี มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 36/2544 ระหว่างผู้ร้องทั้งสามกับผู้คัดค้าน ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการแห่งสถาบันอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2544 ให้ผู้คัดค้านชำระเงินให้แก่ผู้ร้องทั้งสาม จำนวน 3,371,446,114 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 75 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ผู้คัดค้านหาได้ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่ กลับมีหนังสือให้ผู้ร้องทั้งสามนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาและบังคับให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องทั้งสามตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ข้อกำหนดในสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา – บางพลี – บางประกง ที่ให้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ขอให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสาม โดยไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ พิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 36/2544 โดยให้ผู้คัดค้านชำระเงินให้แก่ผู้ร้องทั้งสาม คือชำระเงินจำนวน 3,371,446,114 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และจำนวน 2,668,447,140 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 15 มกราคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องทั้งสามโดยกำหนดค่าทนายความ 500,000 บาท
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าผู้ร้องทั้งสามได้รวมเข้ากันเป็นกิจการร่วมค้า มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการรับจ้างเหมาและก่อสร้างทางพิเศษ (ทางด่วน) ให้ชื่อว่า “กิจการร่วมค้า บีบีซีดี” ผู้ร้องทั้งสามและผู้คัดค้านโดยนายศิวะ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ลงนามในสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางพลี – บางปะกง โดยตกลงราคาจ้างเหมาซึ่งรวมถึงเงินกำไรค่าภาษี ต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นเงินทั้งสิ้น 25,192,950,000 บาท ซึ่งเรียกว่า “ราคาคงที่” ผู้คัดค้านตกลงชำระให้แก่ผู้ร้องทั้งสาม ในการดำเนินการตามสัญญาผู้คัดค้านได้แต่งตั้งวิศวกรที่ปรึกษาของผู้คัดค้านเป็นตัวแทนของผู้คัดค้านในการตรวจสอบและออกหนังสือรับรองการแล้วเสร็จงาน รวมทั้งรับรองการปรับราคาคงที่และปรับวันกำหนดแล้วเสร็จของงาน ทั้งนี้ ตามสัญญากำหนดให้ผู้ร้องทั้งสามดำเนินการก่อสร้างงานทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายใน 42 เดือน นับจากวันที่ผู้คัดค้านได้มีหนังสือแจ้งบอกกล่าว ผู้ร้องทั้งสามมีหนังสือถึงผู้คัดค้านแจ้งให้ยืนยันเกี่ยวกับการส่งมอบพื้นที่เพื่อก่อสร้างในส่วนย่อยที่ 1.1 และที่ 1.2 นายศิวะเข้าร่วมประชุมกับผู้ร้องทั้งสามผู้ร้องทั้งสามแจ้งยืนยันกำหนดเวลาขอรับมอบในส่วนย่อยที่ 1 และที่ 2 นายศิวะมีหนังสือแจ้งผู้ร้องทั้งสามยืนยันว่าจะส่งมอบพื้นที่ในส่วนย่อยที่ 1 และที่ 2 แต่เมื่อผู้ร้องทั้งสามได้เริ่มงานตามหนังสือแจ้งบอกกล่าวของนายศิวะแล้ว ปรากฏว่าผู้คัดค้านไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ที่ก่อสร้างให้แก่ผู้ร้องทั้งสามได้ พื้นที่ดังกล่าวส่งมอบเป็นครั้งแรกซึ่งเป็นเวลาที่นายศิวะพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยไปแล้ว ผู้ร้องทั้งสามและผู้คัดค้านได้ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 1) โดยขยายวันกำหนดแล้วเสร็จออกของงานไปอีก 11 เดือน และต่อมาประมาณกลางปี 2542 อันเป็นเวลาที่ผู้ร้องทั้งสามได้ดำเนินการก่อสร้างทางด่วนสายนี้ใกล้จะแล้วเสร็จ ผู้ร้องทั้งสามได้มีหนังสือถึงวิศวกรที่ปรึกษาแจ้งว่า การที่ผู้คัดค้านส่งมอบสิทธิในเขตทางล่าช้ารวมทั้งการไม่สามารถจัดให้ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองพื้นที่ว่างเปล่าของสถานที่ก่อสร้างในเวลาต่อมาและมีเหตุการณ์ที่ผู้คัดค้านไม่สามารถดำเนินการให้มีการอนุมัติแบบได้ทันภายในกำหนดเวลาในสัญญา ได้ส่งผลกระทบถึงการปฏิบัติงานของผู้ร้องทั้งสาม ทำให้ราคาคงที่ตามสัญญาเพิ่มสูงขึ้น 8,621,656,047 บาท จึงได้แจ้งให้ผู้คัดค้านทราบและแจ้งให้ผู้ร้องทั้งสามทราบด้วย แต่ผู้คัดค้านได้มีหนังสือแจ้งไปยังวิศวกรที่ปรึกษาว่า ผู้ร้องทั้งสามไม่มีสิทธิจะได้รับการปรับราคาคงที่และได้รับการชดเชยตามที่วิศวกรที่ปรึกษาได้รับรอง ต่อมามีการประชุมร่วมกันเพื่อระงับข้อพิพาทแต่ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ ผู้ร้องทั้งสามเสนอข้อขัดแย้งต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระราคาคงที่ที่เพิ่ม ผู้คัดค้านได้ยื่นคำคัดค้านต่ออนุญาโตตุลาการคณะอนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินให้แก่ผู้ร้องทั้งสาม คือชำระเงินจำนวน 3,371,446,114 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จ และจำนวน 2,668,447,140 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จ ผู้คัดค้านได้มีหนังสือถึงผู้ร้องทั้งสามได้ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยอ้างว่าเป็นคำชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ผู้คัดค้านโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โดยอ้างเหตุต่างๆ รวม 8 ข้อ คือข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.8 ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยข้อ 2.8 เป็นประการแรก สืบเนื่องจากข้อต่อสู้ของผู้คัดค้านซึ่งให้การว่าสัญญาอนุญาโตตุลาการทำขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐและเจ้าหน้าที่ของผู้คัดค้านที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาร่วมกับผู้ร้องทั้งสามมีพฤติการณ์ฉ้อฉลหลายประการ นอกจากนั้น ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยบางคนถือหุ้นอยู่ในบริษัทผู้ร้องทั้ง 2 และบริษัททางด่วนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) ที่ผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยซื้อหุ้นดังกล่าวในราคาจองแล้วขายไปภายหลังลงนามในสัญญา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของผู้คัดค้านหลายคนก็ได้รับสิทธิจากผู้ร้องทั้งสามในทำนองเดียวกัน ศาลแพ่งกรุงเทพใต้วินิจฉัยข้อต่อสู้ของผู้คัดค้านว่า นิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้ร้องทั้งสามและผู้คัดค้านหากมีการทำขึ้นเพราะกลฉ้อฉล ผลในทางกฎหมายอย่างมากก็เป็นเพียงโมฆียะ ในเมื่อไม่ปรากฏว่ามีการบอกล้าง สัญญาระหว่างผู้ร้องทั้งสามและผู้คัดค้านจึงชอบด้วยกฎหมายและฟังไม่ได้ว่าเกิดจากการฉ้อฉล ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำวินิจฉัยข้อนี้ว่าในการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนมีการทุจริตและประพฤติมิชอบโดยเอื้อประโยชน์แก่คู่สัญญาก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และมีเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมมือกับผู้ร้องทั้งสามโดยเฉพาะนายศิวะ และเป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วน ในนามผู้คัดค้านกระทำโดยมิชอบหลายประการรวมทั้งถือหุ้นทั้งของบริษัทผู้ร้องที่ 2 และของบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะมิใช่โมฆียะดังข้อวินิจฉัยของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นในเบื้องแรกว่า ผู้คัดค้านเป็นหน่วยงานทางปกครองที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายฝ่ายมหาชน คือ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 ข้อที่ 2 สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนที่ผู้คัดค้านทำไว้กับผู้ร้องทั้งสาม ผู้คัดค้านทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ในฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองที่เป็นองค์กรนิติบุคคล ข้อ 17 ของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้บัญญัติให้มีผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้กระทำในนามผู้คัดค้านในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกและเป็นผู้กระทำแทนผู้คัดค้าน ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การใช้อำนาจของผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยซึ่งกระทำในนามผู้คัดค้านจะผูกพันผู้คัดค้านต่อเมื่ออยู่ในหลักความชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ นอกจากต้องอยู่ภายในขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จัดตั้งกำหนดไว้ เป็นไปตามระเบียบวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและไม่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือกฎระเบียบและข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแล้ว การใช้อำนาจของผู้คัดค้านจะต้องไม่เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือการบิดผันอำนาจทางหนึ่งทางใดอีกด้วย สำหรับข้อเท็จจริงของผู้คัดค้านอ้างในอุทธรณ์ว่ามีพฤติการณ์ฉ้อฉล เช่น ข้อที่นายศิวะผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่อื่นของผู้คัดค้านและเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยอื่น ๆ รับประโยชน์จากผู้ร้องทั้งสาม หากมีอยู่จริงดังคำคัดค้านการใช้อำนาจตามกฎหมายของนายศิวะในฐานะของผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยในการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วน ในนามผู้คัดค้านย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย การใช้อำนาจของนายศิวะและเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นมิใช่เป็นเรื่องภายในของผู้คัดค้านดังที่ผู้ร้องทั้งสามแก้อุทธรณ์ ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ไม่ฟังข้อเท็จจริงดังที่ผู้คัดค้านยกขึ้นต่อสู้ในคำคัดค้าน โดยวินิจฉัยว่านิติกรรมหรือสัญญา หากมีการทำขึ้นเพราะกลฉ้อฉลหากมีอยู่จริงก็ไม่ทำให้สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วน เป็นโมฆะนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และถือว่าการอุทธรณ์โดยอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวของผู้คัดค้านเป็นการโต้แย้งว่าคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ในส่วนนี้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งผู้คัดค้านอุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (2) ซึ่งบัญญัติไว้อย่างเดียวกับพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 26 (2)
ปัญหาต่อไปคือว่า ในการใช้อำนาจตามกฎหมายในฐานะผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ของนายศิวะในการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วน เจ้าหน้าที่ของผู้คัดค้านและเจ้าหน้าที่ของรัฐคนอื่นได้รับประโยชน์จากผู้ร้องทั้งสามหรือไม่เพียงใด ก่อนการลงนามในสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนของนายศิวะ นายศิวะได้รายงานให้ที่ประชุมทราบว่าผู้คัดค้านได้ดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีทางด้านการเงินและวิศวกรรมเรียบร้อยแล้วรวมทั้งข้อกฎหมายที่กรมทางหลวงหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้ข้อยุติ โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าผู้คัดค้านสามารถเข้าใช้พื้นที่เกาะกลางถนนทางหลวงแผ่นดินเพื่อก่อสร้างทางด่วนตามโครงการได้ ส่วนข้อเท็จจริงหลังการลงนามได้ความว่าผู้ร้องทั้งสามมีหนังสือถึงผู้คัดค้านแจ้งให้ยืนยันเกี่ยวกับการส่งมอบพื้นที่เพื่อก่อสร้างทางด่วน ผู้ร้องทั้งสามแจ้งยืนยันกำหนดเวลาขอรับมอบพื้นที่ก่อสร้างตามสัญญา ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาสำคัญที่นำไปสู่การพิพาทกรณีนี้คือ การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้แก่ผู้ร้องทั้งสาม จากข้อเท็จจริงที่ว่าพื้นที่ดังกล่าวผู้คัดค้านได้ส่งมอบให้แก่ผู้ร้องในครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2539 ซึ่งเป็นเวลาหลังวันที่นายศิวะลงนามในสัญญากว่า 1 ปี 7 เดือน เหตุที่ต้องใช้เวลานานจึงจะส่งมอบได้ก็เพราะต้องผ่านกระบวนการประสานงานกับการทางหลวงซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอก นายศิวะได้มีหนังสือรายงานสภาพปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากการส่งมอบพื้นที่รวมทั้งประสานงานกับกรมทางหลวงขอให้นางสุดารัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งควบคุมกำกับดูแลการทางพิเศษแห่งประเทศไทยรับทราบและขอให้นางสุดารัตน์ช่วยประสานกับกระทรวงคมนาคมเพื่อขจัดปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้น ข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่า ในฐานะที่นายศิวะเป็นเจ้าหน้าที่ของระดับผู้ว่าการ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่นายศิวะจะไม่ทราบถึงขั้นตอนของการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ จึงเชื่อว่านายศิวะรู้อยู่แล้วว่าการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้แก่ผู้ร้องทั้งสามไม่อาจทำได้ในเวลาอันสมควร การที่นายศิวะแถลงในที่ประชุมคณะกรรมการ กทพ. ว่าไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ในเขตทางหลวงแผ่นดินในลักษณะปิดบังอำพรางข้อเท็จจริงนี้ เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงภายหลังการลงนามในสัญญาแล้วจะเห็นว่า นายศิวะแถลงเพื่อให้คณะกรรมการ กทพ. ให้ความเห็นชอบในการลงนามในสัญญาจ้างเหมารวมก่อสร้างโครงการทางด่วนให้จงได้ โดยไม่คำนึงว่าผู้คัดค้านหรือรัฐเป็นฝ่ายเสียเปรียบสักเพียงใด การที่หนังสือถึงผู้ร้องทั้งสามยืนยันการส่งมอบพื้นที่และให้ผู้ร้องทั้งสามเริ่มงาน อันเป็นผลให้ผู้ร้องทั้งสามมีสิทธิได้รับเงินงวดแรกจำนวน 1,977,000,000 บาท และเป็นการเริ่มนับของกำหนดเวลาเสร็จของการดำเนินการก่อสร้างงานทั้งหมด การกระทำของนายศิวะเพื่อให้มีการลงนามในสัญญาดังกล่าวให้จงได้นับเป็นการผิดปกติวิสัยของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ข้อผิดปกติวิสัยนี้เพื่อพิจารณาประกอบกับข้อที่นายศิวะได้รับประโยชน์จากการซื้อหุ้นจองของบริษัทผู้ร้องที่ 2 และของบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่แล้ว มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่านายศิวะต้องการจะช่วยเหลือผู้ร้องทั้งสามโดยเห็นแก่ประโยชน์ที่ผู้ร้องทั้งสามจัดให้ จึงถือว่าการใช้อำนาจในฐานะผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยของนายศิวะที่ลงนามในสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วน เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายและขณะเดียวกัน การที่ผู้ร้องที่ 2 เพิ่มทุนและจัดสรรหุ้นให้แก่นายศิวะและเจ้าหน้าที่ของรัฐคนอื่นได้ซื้อหุ้นในฐานะผู้มีอุปการะคุณ รวมทั้งการจัดสรรหุ้นของบริษัททางด่วนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) ให้นายศิวะกับเจ้าหน้าที่ของรัฐคนอื่นมีสิทธิซื้อก่อนทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วน ฯ ก็ถือได้ว่าผู้ร้องทั้งสามได้ให้ผลประโยชน์แก่นายศิวะและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเพื่อจูงใจให้นายศิวะและเจ้าหน้าที่ดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วน ฯ โดยเอื้อประโยชน์แก่ผู้ร้องทั้งสามนั้นเองกรณีจึงต้องถือว่า ในการทำสัญญาดังกล่าวของผู้ร้องทั้งสาม ผู้ร้องทั้งสามใช้สิทธิโดยไม่สุจริตอีกด้วย สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนซึ่งเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันผู้คัดค้าน คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินให้แก่ผู้ร้องทั้งสามตามสัญญาซึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายชอบที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้จะปฏิเสธไม่รับบังคับให้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ดังนั้น คำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ที่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวจึงฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเกี่ยวดัวยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ส่วนที่ผู้ร้องทั้งสามแก้อุทธรณ์ขอไม่ให้รับฟังรายงานของคณะอนุกรรมการนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้คณะอนุกรรมการดังกล่าวมิใช่พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ข้อสรุปของคณะอนุกรรมการก็สรุปจากหลักฐานอื่นที่ผู้ร้องทั้งสามสามารถหักล้างได้ และการฟังเอกสารศาลฎีกาก็ฟังประกอบกับหลักฐานอื่น ๆ เหล่านั้น โดยสรุปแล้วอุทธรณ์ข้อ 2.8 ของผู้คัดค้านฟังขึ้น ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษามาศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อวินิจฉัยดังนี้ อุทธรณ์ข้ออื่น ๆ ของผู้คัดค้านและคำแก้อุทธรณ์ข้ออื่นของผู้ร้องทั้งสามจึงไม่ต้องวินิจฉัย
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share