แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ขณะฟ้องคดีโจทก์ยังมิได้ชำระเงินค่าซ่อมรถยนต์คันที่รับประกันภัยเนื่องจากอู่ยังซ่อมไม่เสร็จ แต่การที่โจทก์นำรถยนต์ไปให้อู่ทำการซ่อมและทางอู่ได้รับทำการซ่อมให้ในราคาที่ตกลงกันไว้นั้น โจทก์ย่อมมีความผูกพันที่จะต้องชำระค่าซ่อมตามจำนวนเงินที่ตกลงกันไว้ ทั้งต่อมาทางอู่ได้ทำการซ่อมรถยนต์จนเสร็จและมอบรถยนต์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปเรียบร้อยแล้ว จึงถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วตามจำนวนเงินราคาค่าจ้างที่ได้ตกลงไว้กับอู่ โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าของรถยนต์มาเรียกร้องค่าซ่อมรถยนต์จากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดต่อโจทก์ในฐานะโจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ได้จ่ายเงินจำนวนนั้นไป โจทก์จ่ายค่าซ่อมรถยนต์ให้อู่ไปเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2542 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากโจทก์ฟ้องแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน กค – 627 ปทุมธานีไว้จากนายอดุลย์ จันทร์อำรุง ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 89 – 8453 กรุงเทพมหานคร ไว้จากจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2540 นายอดุลย์ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน กค – 627 ปทุมธานี ไปตามถนนสายรังสิต – นครนายก จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 89 – 8453 กรุงเทพมหานคร ในทางการที่จ้างหรือกิจการของจำเลยที่ 2 สวนทางมาแล้วเฉี่ยวชนกับรถยนต์ของนายอดุลย์เป็นเหตุให้นายอดุลย์ได้รับบาดเจ็บสาหัส นางจินตนา จันทร์อำรุงและเด็กชายดนัย จันทร์อำรุง ซึ่งโดยสารมาด้วยถึงแก่ความตาย โจทก์ได้จัดการซ่อมรถยนต์ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว เสียค่าซ่อมเป็นเงิน 370,000 บาท และจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถให้แก่นายอดุลย์เป็นเงิน 10,000 บาทและในฐานะทายาทของนางจินตนากับเด็กชายดนัยอีกรายละ 10,000 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิมาไล่เบี้ยจากจำเลยทั้งสาม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ยังไม่จ่ายค่าซ่อมรถยนต์ จึงไม่มีอำนาจรับช่วงสิทธิ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2540 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 89 – 8453 กรุงเทพมหานครของจำเลยที่ 2 ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน กค – 627 ปทุมธานี ของนายอดุลย์ จันทร์อำรุง ได้รับความเสียหาย นายอดุลย์ได้รับบาดเจ็บสาหัสนางจินตนา จันทร์อำรุง และเด็กชายดนัย จันทร์อำรุง ซึ่งโดยสารมาด้วยถึงแก่ความตายโจทก์ได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ให้แก่นายอดุลย์ทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะทายาทของนางจินตนากับเด็กชายดนัยรวมเป็นเงิน 30,000 บาท และได้นำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าซ่อมที่อู่โดยจ่ายค่าซ่อมรถยนต์ไปเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2542 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 2 ตุลาคม 2541 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าซ่อมรถยนต์จากจำเลยทั้งสามได้หรือไม่เห็นว่า แม้ขณะฟ้องคดีนี้โจทก์ยังมิได้ชำระเงินค่าซ่อมรถยนต์คันที่รับประกันภัยเนื่องจากอู่ยังซ่อมรถยนต์คันดังกล่าวไม่เสร็จก็ตาม แต่การที่โจทก์นำรถยนต์คันที่รับประกันภัยไปให้อู่ทำการซ่อมและทางอู่ได้รับทำการซ่อมให้ในราคาที่ตกลงกันไว้นั้น โจทก์ย่อมมีความผูกพันที่จะต้องชำระค่าซ่อมให้แก่อู่ผู้ทำการซ่อมตามจำนวนเงินที่ตกลงกันไว้ ทั้งข้อเท็จจริงก็ปรากฏต่อมาว่าทางอู่ได้ทำการซ่อมรถยนต์จนเสร็จและมอบรถยนต์ให้แก่นายอดุลย์ไปเรียบร้อยแล้ว กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วตามจำนวนเงินราคาค่าจ้างที่ได้ตกลงไว้กับอู่ผู้ทำการซ่อม โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าของรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยมาเรียกร้องค่าซ่อมรถยนต์จำนวนดังกล่าวจากจำเลยทั้งสามได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่ง
ส่วนปัญหาว่า จำเลยทั้งสามจะต้องชดใช้ค่าซ่อมรถยนต์แก่โจทก์เพียงใดนั้น ปัญหานี้ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองพิจารณาพิพากษาใหม่ ปัญหานี้โจทก์นำสืบว่า รถคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายในส่วนหน้าทั้งหมดตามภาพถ่ายหมาย จ.8 โจทก์ได้นำไปซ่อมอู่ยอดการช่างเสียค่าซ่อมเป็นเงินทั้งสิ้น 370,000 บาท โจทก์ได้ชำระค่าซ่อมไปครบถ้วนแล้วตามใบเสร็จรับเงินหมาย จ.15 จำเลยที่ 3 ไม่สืบพยานบุคคลโดยส่งกรมธรรม์เอกสารหมาย ล.1 เห็นว่า เมื่อพิจารณาสภาพรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยตามภาพถ่ายหมาย จ.8 แล้วรถยนต์ถูกชนได้รับความเสียหายมากโดยเฉพาะบริเวณตอนหน้า และได้ความจากนายธวัฒน์ เทียนแก้ว ผู้จัดการอู่ยอดการช่างผู้ซ่อมรถยนต์คันนี้ว่า ทางอู่ตกลงซ่อมโดยคิดค่าแรงและค่าอะไหล่แบบราคาเหมาซ่อมเป็นเงิน 370,000 บาท ในการซ่อมจะต้องตัดส่วนหน้าของรถทิ้ง อะไหล่ที่ใช้ซ่อมมีทั้งของเก่าและของใหม่ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอะไหล่มือสองมีส่วนที่ยังคงใช้ของเดิมเช่น แผงหลังเครื่อง คัสซี และเครื่องยนต์ซึ่งมีการเปลี่ยนอะไหล่บางชิ้นที่ได้รับความเสียหาย อู่ได้ซ่อมรถยนต์คันดังกล่าวเสร็จแล้วและได้รับเงินค่าซ่อมจากโจทก์ครบถ้วนแล้วตามสำเนาใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.15ส่วนฝ่ายจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่น พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า โจทก์ได้เสียค่าซ่อมรถยนต์ไปเป็นเงิน 370,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมกับความเสียหายที่เกิดแก่รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัย จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าซ่อมรถยนต์แก่โจทก์ แต่เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เอกสารหมาย ล.1ที่จำเลยที่ 2 ทำกับจำเลยที่ 3 ข้อ 2.3 ระบุให้จำเลยที่ 3 รับผิดในความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกไม่เกิน 250,000 บาท ต่ออุบัติเหตุหนึ่งครั้ง จำเลยที่ 3 จึงร่วมรับผิดไม่เกินจำนวนเงินดังกล่าว สำหรับดอกเบี้ยของค่าซ่อมรถยนต์ที่โจทก์ขอมานับแต่วันฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดต่อโจทก์ในฐานะโจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิ โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้คิดดอกเบี้ยในเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ได้จ่ายเงินจำนวนนั้นไป คดีนี้โจทก์จ่ายค่าซ่อมรถยนต์ให้อู่ไปเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2542 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าซ่อมรถยนต์แก่โจทก์อีกจำนวน 370,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในค่าเสียหายดังกล่าวจำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์