คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 727/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ผู้ทำพินัยกรรมใช้ถ้อยคำว่า ‘ขอทำพินัยกรรมไว้’ ในพินัยกรรมที่ทำขึ้นนั้น ถือว่าเป็นการกำหนดการเผื่อตายไว้แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1647
เมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมแต่ผู้เดียวผู้คัดค้านไม่มีส่วนได้เสียในมรดกตามพินัยกรรมนั้น จึงไม่มีเหตุที่จะตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนผู้คัดค้านฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นบุตรนายคีหุย แซ่อั้ง ผู้ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2522

ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.2 ไม่เป็นพินัยกรรมเพราะไม่มีข้อความกำหนดการเผื่อตายนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าที่นายคีหุยแซ่อั้ง ใช้ถ้อยคำว่า ” ขอทำพินัยกรรมไว้ ” ตามความเข้าใจของสามัญชนที่เห็นข้อความดังกล่าว ย่อมเข้าใจว่า นายคีหุย แซ่อั้ง เจตนายกทรัพย์สมบัติให้แก่ผู้มีชื่อในพินัยกรรมนั้นเมื่อนายคีหุย แซ่อั้งถึงแก่กรรมแล้ว ทั้งคำว่า ” พินัยกรรม”ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแปลว่า “หนังสือสำคัญที่ทำไว้ก่อนตายเพื่อมอบมรดก” ดังนี้ ถือได้ว่า นายคีหุย แซ่อั้ง ได้กำหนดการเผื่อตายไว้แล้ว หนังสือพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.2 จึงใช้ได้สมบูรณ์ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1647 ฎีกาผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นพินัยกรรมปลอมนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ฝ่ายผู้ร้องมีนายสืบเชื้อ นางศรีสุขเจียมประเสริฐ ซึ่งเป็นญาติกับผู้ร้องและผู้คัดค้านเบิกความว่า นายคีหุยแซ่อั้ง บอกให้ไปเป็นพยานพินัยกรรม ได้ทำพินัยกรรมแล้ว และลงลายมือชื่อ ต่อหน้าพยานทั้งสอง ฝ่ายผู้คัดค้านนำสืบว่า ก่อนตายนายคีหุย แซ่อั้ง บอกว่าไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ เคยแต่ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าให้ผู้ร้องไปนั้น ก็คงมีแต่คำเบิกความของผู้คัดค้านแต่เพียงผู้เดียว ไม่มีพยานอื่นใดสนับสนุน ทั้งข้อที่ผู้คัดค้านอ้างว่านายคีหุย แซ่อั้ง เขียนจดหมายหรือติดต่อการงานต้องเขียนด้วยตนเอง และลงลายมือชื่อเป็นภาษาอังกฤษหรือไทย สุดแต่จดหมายหรือหนังสือนั้นเป็นภาษาใดนั้น เห็นว่า พินัยกรรมมิใช่จดหมายหรือหนังสือติดต่อการงาน หากแต่เป็นคำสั่ง ซึ่งนายคีหุย แซ่อั้งรู้อยู่แล้วว่า หากทำไม่ถูกต้องตามกฎหมายอาจไม่มีผลตามความประสงค์จึงได้ปรึกษาผู้รู้ก่อนและให้ผู้รู้ทำพินัยกรรมให้ แล้วนายคีหุย แซ่อั้ง จึงได้ลงชื่อให้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หากผู้ร้องเอากระดาษเปล่ามาให้นายคีหุย แซ่อั้ง ลงลายมือชื่อจริง ก็ไม่น่าที่จะให้ลงลายมือชื่อถึงสองภาษา ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า เป็นพินัยกรรมปลอม

เมื่อข้อเท็จจริงเชื่อว่า พินัยกรรมดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายผู้ร้องเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมแต่ผู้เดียว ผู้คัดค้านจึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในมรดกตามพินัยกรรมนั้น ไม่มีเหตุที่จะตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด”

พิพากษายืน

Share