คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7269/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 7 มิถุนายน 2553 ในส่วนของจำเลยที่ 2 และให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นฉบับเดิม คือฉบับลงวันที่ 24 มีนาคม 2551 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นไม่อาจทำคำพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ 2 ใหม่ให้เปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาฉบับเดิมได้ ในชั้นอุทธรณ์จึงมีประเด็นว่า ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ในส่วนของจำเลยที่ 2 นั้น ชอบหรือไม่ ไม่มีประเด็นว่าหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ระงับไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่ การที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ว่าหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ระงับสิ้นไปเพราะมีการแปลงหนี้ใหม่ ย่อมเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ข้อที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 599,279.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 433,103.44 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ และหากยังได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 599,279.69 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 433,103.84 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 ตุลาคม 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดเครื่องกลึง YAM รุ่น Cl 56125 AG หมายเลขเครื่อง B 92568 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ และหากยังได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนของจำเลยที่ 3 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ตามรูปคดีสำหรับจำเลยที่ 3 คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 2 ค่าธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 599,279.69 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 433,103.84 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 ตุลาคม 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดเครื่องกลึง YAM รุ่น Cl 56125 AG หมายเลขเครื่อง B 92568 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้และหากยังได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 4,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 7 มิถุนายน 2553 ในส่วนของจำเลยที่ 2 และให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 24 มีนาคม 2551 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 7 มิถุนายน 2553 ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงิน ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และขอให้บังคับจำนอง จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 กับโจทก์จริง แต่หนี้ดังกล่าวได้ระงับไปเพราะมีการแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2551 โดยวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้กู้และจำนอง และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันที่ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โดยฟังว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้มีการแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 2 ยังคงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมด้วย จึงพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดต่อโจทก์และให้บังคับทรัพย์ที่จำนองรวมทั้งทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาฉบับลงวันที่ 16 ธันวาคม 2552 ว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 2 ในวันที่ 10 มีนาคม 2551 เวลา 9 นาฬิกา โดยมิได้แจ้งนัดให้จำเลยที่ 3 ทราบ และเมื่อถึงวันนัด ศาลชั้นต้นก็ดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานไปจนเสร็จสิ้นแล้วมีคำพิพากษาโดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้มาศาลในวันดังกล่าวเนื่องจากไม่ทราบวันนัด ย่อมเป็นการมิชอบ มีเหตุสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนของจำเลยที่ 3 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาตามรูปคดีสำหรับจำเลยที่ 3 ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใหม่ฉบับลงวันที่ 7 มิถุนายน 2553 โดยพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์และให้บังคับทรัพย์ที่จำนอง หากยังมีหนี้เหลือให้บังคับทรัพย์อื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จนกว่าจะชำระหนี้ครบถ้วน ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากศาลชั้นต้นฟังว่ามีการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ โจทก์อุทธรณ์ว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนของจำเลยที่ 3 และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีสำหรับจำเลยที่ 3 แต่ศาลชั้นต้นกลับดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ทั้งคดี โดยยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วยเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงมีคำพิพากษาฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม 2553 ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาฉบับลงวันที่ 16 ธันวาคม 2552 ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนของจำเลยที่ 3 และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ตามรูปคดีสำหรับจำเลยที่ 3 เท่านั้น มิได้ให้พิพากษาใหม่ในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย คำพิพากษาเดิมของศาลชั้นต้นในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงยังคงเป็นคำพิพากษาที่สมบูรณ์และมีผลบังคับอยู่ ศาลชั้นต้นไม่อาจทำคำพิพากษาใหม่ให้เปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาฉบับเดิมได้ ที่ศาลชั้นต้นทำคำพิพากษาใหม่และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น เป็นการไม่ชอบ จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 7 มิถุนายน 2553 ในส่วนของจำเลยที่ 2 และให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ 24 มีนาคม 2551 จำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาขอให้ยกฟ้อง โดยฎีกาแต่เพียงว่าหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันได้ระงับสิ้นไปโดยการแปลงหนี้ใหม่ โดยมิได้ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นฉบับเดิมนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร ดังนี้ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 7 มิถุนายน 2553 ในส่วนของจำเลยที่ 2 และให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นฉบับเดิมคือฉบับลงวันที่ 24 มีนาคม 2551 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นไม่อาจทำคำพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ 2 ใหม่ให้เปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาฉบับเดิมได้ ในชั้นอุทธรณ์จึงมีประเด็นว่าศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ในส่วนของจำเลยที่ 2 นั้น ชอบหรือไม่ ไม่มีประเด็นว่าหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ระงับไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่ การที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ระงับสิ้นไปเพราะมีการแปลงหนี้ใหม่ ย่อมเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ข้อที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 2 ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาแก่จำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้ตกเป็นพับ

Share