แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522มาตรา 75 สัตต บัญญัติว่า กรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท กระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่บริษัทนั้นต้องระวางโทษ ดังนี้เมื่อได้ความว่าจำเลยมีอำนาจและหน้าที่ดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ในกิจการของบริษัทผู้เสียหายจำเลยได้ทำการซื้อขายหลักทรัพย์ไม่เป็นไปตามลำดับตามคำสั่งซื้อขายก่อนหลัง ทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย และ จำเลยกระทำการหรือไม่กระทำการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่ผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ผู้เสียหายสั่งซื้อขายหุ้นในลำดับก่อน น. ทั้งสิ้นน. จึงไม่มีสิทธิซื้อขายหุ้นได้ก่อนผู้เสียหาย ส่วนพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517มาตรา 21 ตรี เป็นเพียงบทสันนิษฐานทั่วไปในกรณีที่ไม่ปรากฏชัดว่าบริษัทหลักทรัพย์ครอบครองหุ้นเพื่อตนเองหรือเพื่อลูกค้า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้เสียหายสั่งซื้อขายหุ้นในลำดับก่อน น. ทั้งสิ้น จึงไม่ต้องด้วยบทสันนิษฐานตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ จำกัดผู้เสียหายเป็นบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ รวมทั้งเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้เสียหาย มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายคอมพิวเตอร์ และผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลกิจการทั้งปวงในฝ่ายพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ เมื่อระหว่างวันที่1 กุมภาพันธ์ 2531 ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2531 ต่อเนื่องกันจำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้เสียหายไม่กระทำการซื้อหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ที่ผู้เสียหายสั่งซื้อจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระหว่างวันที่29 กุมภาพันธ์ 2531 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2531 เรียงตามลำดับก่อนหลังให้ครบจำนวนที่สั่งซื้อเสียก่อน จำเลยทำการซื้อหุ้นดังกล่าวเพียงจำนวนหนึ่ง และสั่งยกเลิกคำสั่งซื้อหุ้นที่เหลือโดยไม่มีเหตุอันสมควรเพื่อเปิดโอกาสให้นางสาวนงคราญลูกค้าของผู้เสียหาย ซึ่งสั่งซื้อหุ้นดังกล่าวในลำดับที่หลังกว่าสามารถซื้อหุ้นที่เหลือนั้นในราคาที่เท่ากันหรือต่ำกว่านอกจากนี้จำเลยยังไม่กระทำการขายหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ที่ผู้เสียหายสั่งขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระหว่างวันที่ 15 มีนาคม 2531 ถึงวันที่ 26 เมษายน 2531 เรียงตามลำดับก่อนหลังให้ครบจำนวนที่สั่งขายเสียก่อน โดยจำเลยกระทำการขายหุ้นดังกล่าวเพียงจำนวนหนึ่ง และสั่งยกเลิกคำสั่งขายหุ้นที่เหลือ และในวันที่26 เมษายน 2531 จำเลยสั่งยกเลิกคำสั่งขายหุ้น โดยไม่มีเหตุอันสมควรเพื่อเปิดโอกาสให้นางสาวนงคราญลูกค้าของผู้เสียหายซึ่งสั่งขายหุ้นดังกล่าวในลำดับที่หลังว่า สามารถขายหุ้นที่เหลือนั้นในราคาที่เท่ากันหรือสูงกว่าทั้งนี้เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองและนางสาวนงคราญ และทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายไม่สามารถซื้อขายหุ้นอันเป็นสิทธิของผู้เสียหายและทำให้ผู้เสียหายขาดประโยชน์ที่ควรได้รับขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522มาตรา 75 สัตต ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์พ.ศ. 2522 มาตรา 75 สัตต ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2)การกระทำเป็นความผิดรวม 11 กรรม ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปจำคุกกระทงละ 5 ปี ซึ่งรวมโทษจำคุกแล้วเกิน 20 ปี คงจำคุกจำเลย20 ปี ส่วนข้อหานอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายใด ๆ และนางสาวนงคราญ อาจศิริลูกค้าของผู้เสียหายเป็นผู้มีสิทธิซื้อขายหุ้นได้ก่อนผู้เสียหายในการพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ จำกัดผู้เสียหาย เป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หมายเลขที่ 24 ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จากกระทรวงการคลังมีสิทธิซื้อขายหลักทรัพย์ในนามของตนเอง และเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ให้แก่ผู้อื่น ในระหว่างปี 2530 ถึงเดือนมิถุนายน2531 จำเลยเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายคอมพิวเตอร์และตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์อีกตำแหน่งหนึ่ง มีอำนาจและหน้าที่ดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ในกิจการของผู้เสียหาย วันที่ 30 ตุลาคม 2530 นางสาวนงคราญอาจศิริ สมัครเป็นลูกค้าของผู้เสียหายโดยเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับผู้เสียหาย เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2531ผู้เสียหายสั่งซื้อหุ้นบริษัทเอเซียไฟเบอร์ จำกัด (เอ เอฟ ซีเพื่อตนเอง ลำดับที่ 6 จำนวน 4,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 92 บาทและสั่งซื้อเพื่อนางสาวนงคราญลำดับที่ 58 จำนวน 2,300 หุ้นราคาหุ้นละ 91.50 บาท วันนั้นผู้เสียหายซื้อเพื่อตนเองได้เพียง1,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 92 บาท หุ้นที่เหลือถูกยกเลิก แต่ซื้อเพื่อนางสาวนงคราญได้ 2,300 หุ้น ราคาหุ้นละ 91 บาท จำนวน800 หุ้น ราคาหุ้นละ 89.50 บาท จำนวน 500 หุ้น และราคา91.50 บาท จำนวน 1,000 หุ้น วันที่ 8 เมษายน 2531 ผู้เสียหายสั่งซื้อหุ้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติจำกัด (เอ็น เอฟ เอส)เพื่อตนเองลำดับที่ 3 จำนวน 20,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 432 บาทและสั่งซื้อเพื่อนางสาวนงคราญ ลำดับที่ 29 จำนวน 3,000 หุ้นราคาหุ้นละ 428 บาท วันนั้นผู้เสียหายซื้อเพื่อตนเองได้เพียง6,200 หุ้น ราคาหุ้นละ 432 บาท จำนวน 2,000 หุ้น ราคาหุ้นละ430 บาท จำนวน 3,000 หุ้น และราคาหุ้นละ 428 บาท จำนวน1,200 หุ้น หุ้นที่เหลือถูกยกเลิก แต่ซื้อเพื่อนางสาวนงคราญได้ 3,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 428 บาท วันที่ 12 เมษายน 2531ผู้เสียหายสั่งซื้อหุ้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ จำกัด(เอ็น เอฟ เอส) เพื่อตนเอง ลำดับที่ 1 จำนวน 50,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 442 บาท และสั่งซื้อเพื่อนางสาวนงคราญลำดับที่ 51จำนวน 3,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 436 ถึง 438 บาท วันนั้นผู้เสียหายซื้อเพื่อตนเองได้เพียง 4,800 หุ้น ราคาหุ้นละ 442 บาท จำนวน2,400 หุ้น และราคาหุ้นละ 440 บาท จำนวน 2,400 หุ้น หุ้นที่เหลือถูกยกเลิก แต่ซื้อเพื่อนางสาวนงคราญได้ 3,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 436 บาท จำนวน 2,400 หุ้น และราคาหุ้นละ 438 บาท จำนวน600 หุ้น วันที่ 14 เมษายน 2531 ผู้เสียหายสั่งซื้อหุ้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ จำกัด (เอ็น เอฟ เอส) เพื่อตนเอง ลำดับที่ 2 จำนวน 16,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 452 บาท และสั่งซื้อเพื่อนางสาวนงคราญลำดับที่ 34 จำนวน 3,000 บาท หุ้นราคาหุ้นละ 446 บาท วันนั้นผู้เสียหายซื้อเพื่อตนเองได้เพียง4,200 หุ้น ราคาหุ้นละ 458 บาท (ซึ่งสูงกว่าราคาที่สั่งซื้อ)3,200 หุ้น และราคาหุ้นละ 452 บาท จำนวน 1,000 หุ้น หุ้นที่เหลือถูกยกเลิก แต่ซื้อเพื่อนางสาวนงคราญได้ 3,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 446 บาท วันที่ 15 มีนาคม 2531 ผู้เสียหายสั่งซื้อหุ้นบริษัทบางกอกอินเวสท์เมนต์ โฮลดิ้ง จำกัด (บี ไอ ซี)เพื่อตนเอง ลำดับที่ 3 จำนวน 84,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 54.50 บาทและสั่งซื้อเพื่อนางสาวนงคราญลำดับที่ 42 จำนวน 10,000 หุ้นราคาหุ้นละ 54.50 บาท วันนั้นผู้เสียหายซื้อเพื่อตนเองได้เพียง9,400 หุ้น ราคาหุ้นละ 54.50 บาท จำนวน 8,400 หุ้น และราคาหุ้นละ 55.50 บาท (ซึ่งสูงกว่าราคาที่สั่งซื้อ) จำนวน 1,000 หุ้นหุ้นที่เหลือถูกยกเลิก แต่ซื้อเพื่อนางสาวนงคราญได้ 10,000 หุ้นราคาหุ้นละ 54.50 บาท วันที่ 16 มีนาคม 2531 ผู้เสียหายสั่งขายหุ้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บางกอกอินเวสเมนต์ จำกัด(บี ไอ ซี) เพื่อตนเอง ลำดับที่ 14 จำนวน 80,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 58 บาท และสั่งขายเพื่อนางสาวนงคราญลำดับที่ 23 จำนวน10,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 58 บาท วันนั้นผู้เสียหายขายเพื่อตนเองได้เพียง 70,600 หุ้น ราคาหุ้นละ 58 บาท จำนวน 40,200 หุ้นและราคาหุ้นละ 58.50 บาท จำนวน 30,400 หุ้น แต่ขายเพื่อนางสาวนงคราญได้ 9,600 หุ้น ราคาหุ้นละ 59.50 บาท วันที่ 11 เมษายน 2531 ผู้เสียหายสั่งขายหุ้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจนเนอรัลไฟแนนซ์ จำกัด (จี เอฟ)เพื่อตนเอง ลำดับที่ 12 จำนวน 140,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 63.50 บาทและสั่งขายเพื่อนางสาวนงคราญลำดับที่ 104 จำนวน 10,000 หุ้นราคาหุ้นละ 63.50 บาท วันนั้นผู้เสียหายขายหุ้นเพื่อตนเองได้เพียง 49,500 หุ้น ราคาหุ้นละ 62 บาท จำนวน 37,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 62.50 บาท (ซึ่งต่ำกว่าราคาที่ผู้เสียหายสั่งขาย) จำนวน11,000 หุ้น และราคาหุ้นละ 63.50 บาท จำนวน 1,500 หุ้น หุ้นที่เหลือถูกยกเลิก แต่ขายเพื่อนางสาวนงคราญได้ 10,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 63.50 บาท วันที่ 14 เมษายน 2531 ผู้เสียหายสั่งขายหุ้นบริษัทเจนเนอรัลไฟแนนซ์ จำกัด (จี เอฟ) เพื่อตนเองลำดับที่ 15 จำนวน 150,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 63 บาท และสั่งขายเพื่อนางสาวนงคราญลำดับที่ 59 จำนวน 10,000 หุ้น ราคาหุ้นละ65.50 บาท วันนั้นผู้เสียหายขายหุ้นเพื่อตนเองได้เพียง 103,000หุ้น ราคาหุ้นละ 63 บาท จำนวน 5,500 หุ้น ราคาหุ้นละ 63.50 บาทจำนวน 19,500 หุ้น ราคาหุ้นละ 64 บาท จำนวน 6,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 65 บาท จำนวน 42,000 หุ้น และราคาหุ้นละ 65.50 บาทจำนวน 30,000 หุ้น หุ้นที่เหลือถูกยกเลิก แต่ขายเพื่อนางสาวนงคราญได้ 10,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 65.50 บาท วันที่19 เมษายน 2531 ผู้เสียหายสั่งขายหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจนเนอรัลไฟแนนซ์ จำกัด (จี เอฟ) เพื่อตนเองลำดับที่ 11 จำนวน 40,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 59 บาท และสั่งขายเพื่อนางสาวนงคราญลำดับที่ 47 จำนวน 15,000 หุ้น ราคาหุ้นละ60.50 บาท วันนั้นผู้เสียหายขายหุ้นเพื่อตนเองได้เพียง 11,500หุ้น ราคาหุ้นละ 60.50 บาท หุ้นที่เหลือถูกยกเลิก แต่ขายเพื่อนางสาวนงคราญได้ 15,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 60.50 บาท วันที่ 19 เมษายน 2531 ผู้เสียหายสั่งขายหุ้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ จำกัด (เอ็น เอฟ เอส) เพื่อตนเองลำดับที่ 12 จำนวน 30,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 412 บาท และสั่งขายเพื่อนางสาวนงคราญลำดับที่ 49 จำนวน 3,000 หุ้น ราคาหุ้นละ430 บาท วันนั้นผู้เสียหายขายหุ้นเพื่อตนเองได้เพียง 24,000 หุ้นราคาหุ้นละ 412 บาท จำนวน 1,400 หุ้น ราคาหุ้นละ 414 บาทจำนวน 15,400 หุ้น ราคาหุ้นละ 416 บาท จำนวน 3,600 หุ้น ราคาหุ้นละ 418 บาท จำนวน 3,000 หุ้น และราคาหุ้นละ 420 บาท จำนวน 600 หุ้น หุ้นที่เหลือถูกยกเลิก แต่ขายเพื่อนางสาวนงคราญได้ 2,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 430 บาท และวันที่ 26 เมษายน 2531ผู้เสียหายสั่งขายหุ้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจนเนอรัลไฟแนนซ์จำกัด (จี เอฟ) เพื่อตนเอง ลำดับที่ 12 จำนวน 500,000 หุ้นราคาหุ้นละ 62 บาท และสั่งขายเพื่อนางสาวนงคราญลำดับที่ 52จำนวน 20,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 62 บาท ผู้เสียหายไม่ขายหุ้นเพื่อตนเองโดยยกเลิกคำสั่งขายหุ้นเพื่อตนเองทั้งหมด แต่ขายเพื่อนางสาวนงคราญได้ 4,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 62 บาท การซื้อขายหุ้นทั้งสิบเอ็ดครั้งไม่เป็นไปตามลำดับก่อนหลังตามคำสั่งซื้อขายของผู้เสียหายเพื่อตนเองและนางสาวนงคราญ การซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งสิบเอ็ดครั้งตามฟ้องมิได้จัดสรรตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามสำเนาหนังสือเรื่องการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานและการจัดทำทะเบียนคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์เอกสารหมาย จ.59จำเลยเป็นผู้สั่งให้ยกเลิกคำสั่งซื้อขายหุ้นของผู้เสียหายเพื่อตนเองซึ่งอยู่ในลำดับก่อนนางสาวนงคราญเพื่อเปิดโอกาสให้นางสาวนงคราญเป็นผู้ซื้อขายหุ้นได้ก่อนผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายซื้อขายหุ้นได้ไม่ครบจำนวนตามคำสั่ง อีกทั้งซื้อหุ้นดังกล่าวส่วนใหญ่ได้ในราคาที่สูงกว่านางสาวนงคราญซื้อแต่ขายหุ้นดังกล่าวส่วนใหญ่ได้ในราคาต่ำกว่านางสาวนงคราญขายการสั่งซื้อหุ้นของนางสาวนงคราญทั้งหมดจำเลยเป็นผู้ชำระราคาแทน วงเงินที่จำเลยซื้อขายหุ้นในนามของนางสาวนงคราญประมาณ 7,000,000 บาท ถึง 8,000,000 บาท ทั้ง ๆ ที่นางสาวนงคราญมอบเงินให้จำเลยนำมาทำการซื้อขายหุ้นเพียง200,000 บาท การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเหตุให้มีกำไรพฤติการณ์ของจำเลยเป็นการซื้อขายหุ้นในนามของนางสาวนงคราญเพื่อประโยชน์ของจำเลย
สำหรับปัญหาที่จำเลยฎีกาข้อแรกว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายใด ๆ นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522มาตรา 75 สัตต บัญญัติว่า “กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท กระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่บริษัทนั้น ต้องระวางโทษ”ได้ความว่า จำเลยมีอำนาจและหน้าที่ดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ในกิจการของบริษัทผู้เสียหาย จำเลยได้ทำการซื้อขายหลักทรัพย์ไม่เป็นไปตามลำดับตามคำสั่งซื้อขายก่อนหลัง ทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย และตามพฤติการณ์แห่งคดี เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยกระทำการหรือไม่กระทำการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่ผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
ปัญหาที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า นางสาวนงคราญลูกค้าของผู้เสียหายเป็นผู้มีสิทธิซื้อหุ้นได้ก่อนผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517มาตรา 21 ตรี นั้น เห็นว่า ได้ความว่าผู้เสียหายสั่งซื้อขายหุ้นในลำดับก่อนนางสาวนงคราญทั้งสิ้น นางสาวนงคราญจึงไม่มีสิทธิซื้อขายหุ้นได้ก่อนผู้เสียหาย การที่พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 มาตรา 21 ตรี บัญญัติว่า”ภายใต้บังคับ มาตรา 21 ฉ ผู้ใดครอบครองใบหุ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นเจ้าของหลักทรัพย์นั้น
ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับหุ้น ที่บริษัทหลักทรัพย์ครอบครองอยู่ในขณะใดขณะหนึ่งว่า บริษัทหลักทรัพย์ได้ครอบครองไว้เพื่อตนเองหรือเพื่อลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทได้ครอบครองไว้เพื่อลูกค้ารายใด ให้ใช้บทสันนิษฐานในวรรคหนึ่งตามลำดับก่อนหลัง ดังต่อไปนี้
(1) ให้การครอบครองของบริษัทหลักทรัพย์เพื่อลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์อยู่ในลำดับก่อนการครอบครองของบริษัทหลักทรัพย์เพื่อตนเอง” นั้น เป็นเพียงบทสันนิษฐานทั่วไปในกรณีที่ไม่ปรากฏชัดว่าบริษัทหลักทรัพย์ครอบครองหุ้นเพื่อตนเองหรือเพื่อลูกค้าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้เสียหายสั่งซื้อขายหุ้นในลำดับก่อนนางสาวนงคราญทั้งสิ้น จึงไม่ต้องด้วยบทสันนิษฐานตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
พิพากษายืน