แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 วรรคสองเป็นบทบัญญัติถึงลักษณะของการที่จะถือว่าคู่ความขาดนัดพิจารณา ส่วนมาตรา 202 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดวิธีการปฏิบัติเมื่อจำเลยขาดนัดพิจารณา บทบัญญัติสองมาตรานี้ผิดแผกแตกต่างกัน
ในกรณีที่จำเลยไม่มาศาลในวันสืบพยานและมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลเสียก่อนลงมือสืบพยาน ซึ่งถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณานั้น ศาลจำต้องมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาเสียก่อน แล้วจึงจะทำการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 202 และมาตราต่อ ๆ ไปได้ หากไม่มีคำสั่งดังกล่าวเสียก่อน ก็ไม่เป็นการพิจารณาฝ่ายเดียวตามกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้สั่งแสดงว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยต่อสู้หลายประการ ซึ่งไม่เป็นปัญหา
วันนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์นัดแรกคู่ความแถลงว่า คดีมีทางตกลงกันได้ขอเลื่อน ศาลอนุญาต แต่แล้วก็ไม่ตกลงกัน ถึงวันนัดสืบพยานโจทก์นัดต่อไป โจทก์ฝ่ายเดียวมาศาล ศาลได้รอจำเลยตามสมควรแล้ว จึงได้สั่งให้สืบพยานโจทก์ไป เมื่อสืบพยานโจทก์ได้ ๓ ปากแล้ว โจทก์ไม่สืบต่อไป ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งในวันเดียวกันนั้นว่า จำเลยเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว หนี้ยังไม่ขาดอายุความ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีนี้ไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้ชี้ลงไปว่า เป็นเรื่องขาดนัดพิจารณาหรือเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยประวิงหรือว่าคดีได้ความพอเพียงแล้วจึงให้งดสืบพยานจำเลย ซึ่งผลแห่งคำสั่งศาลที่ว่าคู่ความขาดนัดพิจารณากับการที่ศาลสั่งงดสืบพยานแล้วมีคำสั่งชี้ขาดคดีไปนั้นแตกต่างกัน การที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งไปโดยมิได้มีการสืบพยานจำเลยเสียก่อนนั้นยังไม่ถูกต้อง พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไป แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๙๗ วรรคสองนั้น บัญญัติถึงแต่ลักษณะของการขาดนัดพิจารณาว่าเป็นเช่นไร ลักษณะอย่างไรจึงจะถือว่าคู่ความฝ่ายนั้น ๆ ขาดนัดพิจารณา ส่วนมาตรา ๒๐๒ นั้นเป็นบทกำหนดวิธีการปฏิบัติเมื่อจำเลยขาดนัดพิจารณาว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป จึงได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าจำเลยขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา แล้วให้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว ซึ่งผิดแผกแตกต่างกันไปคนละอย่าง
คดีนี้ได้ความว่า ในวันนัดสืบพยานโจทก์นั้น คู่ความได้ทราบวันเวลานัดแล้ว ฝ่ายโจทก์มาศาล แต่จำเลยและทนายไม่มาศาล ทั้งไม่ร้องขอเลื่อนหรือแจ้งเหตุขัดข้องอย่างใด ศาลสั่งให้สืบพยานโจทก์ไปได้ ๓ ปากแล้วโจทก์ว่าไม่สืบต่อไป ศาลจึงได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดในวันเดียวกันนั้นเอง ในกรณีที่จำเลยขาดนัดพิจารณาดังกล่าว และไม่มีเหตุผลให้ศาลเห็นเป็นอย่างอื่นเช่นนี้แล้ว ศาลจำต้องมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาเสียก่อน แล้วจึงจะทำการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๒ และมาตราต่อ ๆ ไปได้ เมื่อไม่มีคำสั่งดังกล่าวเสียก่อนก็ไม่เป็นการพิจารณาฝ่ายเดียว หากจะถือว่ากรณีที่จำเลยขาดนัดพิจารณาตามความในมาตรา ๑๙๗ วรรคสองแล้ว ไม่จำต้องมีคำสั่งในรายงานพิจารณาของศาลว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาโดยชัดแจ้งอีกครั้งหนึ่งดังโจทก์ฎีกา ก็ย่อมมีผลเท่ากับว่าการที่บัญญัติมาตรา ๒๐๒ ขึ้นนั้นเป็นการบัญญัติซ้ำกับมาตรา ๑๙๗ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อันเป็นการเปล่าประโยชน์โดยใช่เหตุซึ่งหาเป็นเช่นนั้นไม่
พิพากษายืน.