คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 725/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องว่าจำเลยที่ 1,2 สมคบกันจดข้อความเท็จทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 2 ผู้เดียวเอาคนอื่นเป็นเครื่องมือในการจดเท็จ ดังนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นตัวการในการกระทำความผิดข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงไม่แตกต่างกับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้อง

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นเจ้าพนักงานรับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นตรี ตำแหน่งช่างตรี สังกัดกรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมโยธาเทศบาลซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ได้สั่งให้จำเลยช่วยราชการในตำแหน่งนายช่างเทศบาลเมืองพิษณุโลก มีหน้าที่ควบคุมออกแบบแปลนการก่อสร้างต่าง ๆ มีหน้าที่รับแลกและจ่ายแบบแปลนใบประกวดราคาการก่อสร้างให้แก่ผู้เข้ายื่นประมูล ตลอดจนทำบัญชีและควบคุมบัญชีพัสดุ และดูแลเก็บรักษาพัสดุต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างของเทศบาลทุกชนิด กับหน้าที่อื่น ๆ ตามที่นายกเทศมนตรีได้สั่งการมอบหมายให้ปฏิบัติการตามหน้าที่อันชอบด้วยกฎหมาย

จำเลยที่ 2 ในคดีนี้รับราชการเป็นพนักงานวิสามัญประจำของเทศบาลเมืองพิษณุโลกมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ในงานแผนกช่างทุกอย่างดังกล่าว

ครั้นเมื่อเดือนธันวาคม 2497 เทศบาลเมืองพิษณุโลกได้ออกประกาศแจ้งความประกวดราคารับเหมาก่อสร้างคลังพัสดุไฟฟ้า 1 หลัง 1 รายการ และสร้างรางระบายน้ำถนนพญาลิไท กับทำถนนคอนกรีตอีก 1 รายการ โดยประกาศสงวนสิทธิไว้ว่า ผู้ที่จะเข้ายื่นประมูลจะต้องนำกระดาษพิมพ์แบบโอซาลิค(กระดาษชนิดหนึ่งราคาม้วนละ 60 บาท) มาแลกแบบแปลนและรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการก่อสร้างนั้นผู้เข้ายื่นประมูล 1 คน จะต้องนำกระดาษโอซาลิคไปแลกคนละ 2 ม้วนเฉพาะรายการสร้างรางระบายน้ำและทำถนนคอนกรีต ต้องนำกระดาษโอซาลิคไปแลกคนละ 5 ม้วน จึงจะได้แบบแปลนไปประมูล และรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการก่อสร้างจากแผนกช่างไป

ครั้นวันที่ 20 ธันวาคม 2497 เวลากลางวัน จำเลยทั้ง 2 นี้ได้บังอาจสมคบกระทำผิดกฎหมาย กล่าวคือ

ก. ในวันเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นวันเปิดประมูลการก่อสร้างของเทศบาลทั้งสองรายดังกล่าว ได้มีผู้เข้ายื่นประมูล 2 คน คือนายดีและพันตรีวิสุทธิ์ จำเลยทั้งสองได้เข้าไปเกี่ยวข้องมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นในการประมูลดังกล่าว โดยได้ให้ผู้เข้าประมูลทั้ง 2 คนเข้าประมูลไปโดยจำเลยมิได้เรียกกระดาษโอซาลิคตามหน้าที่ คือ ความจริงจำเลยต้องเรียกจากการประมูลทั้งสองรายการทั้ง 2 คน ๆ ละ 7 ม้วน รวม 2 คนเป็น 14 ม้วนเนื่องจากการละเว้นของจำเลยทั้ง 2 ดังกล่าว ทำให้เทศบาลขาดรายได้และเสียหายกระดาษโอซาลิคที่ควรจะได้ 14 ม้วนเป็นเงิน 840 บาท และทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เข้าประมูลทั้ง 2 คน โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อกระดาษดังกล่าวเป็นเงินคนละ 420 บาท

ข. เนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้ง 2 ดังกล่าวแล้ว โดยหน้าที่จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่รับกระดาษโอซาลิค และจำต้องลงบัญชีรับกระดาษโอซาลิคต่อไป แต่จำเลยทั้ง 2 ได้บังอาจสมคบกันจดข้อความเท็จลงในบัญชีคุมพัสดุอันเป็นเอกสารของเทศบาล อยู่ในหน้าที่ของจำเลยว่า ได้รับกระดาษโอซาลิคไว้จากผู้ประมูลทั้ง 2 คนรวมเป็นจำนวน 14 ม้วน และได้ออกใบรับเท็จให้แก่ผู้เข้าประมูลทั้งสองคน ซึ่งความจริงจำเลยทั้งสองและเทศบาลมิได้รับกระดาษโอซาลิคตามจำนวนดังกล่าวไว้จากใครเลย ทำให้เทศบาลเมืองพิษณุโลกเสียหาย ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 133, 230, 63 พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2484 มาตรา 3พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญาพ.ศ. 2485 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152, 162, 83

จำเลยทั้ง 2 ให้การปฏิเสธ

ศาลจังหวัดพิษณุโลกพิพากษาว่า ในฟ้องข้อ ก. โจทก์ไม่นำสืบให้ประจักษ์กรณีเป็นเพียงสงสัยจะฟังลงโทษจำเลยทั้งสองไม่ได้ส่วนในฟ้องข้อ ข. พยานโจทก์ก็มิได้พาดพิงไปถึงจำเลยที่ 1 เลยจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิด ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานจดข้อความเท็จลงในเอกสารตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 230 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 จึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลย จำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง ปรานีลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามมาตรา 78 จึงให้จำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 2 ปี ข้อหาอื่นให้ยก

จำเลยที่ 2 ผู้เดียวอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 2 แรงไปควรบรรเทาโทษลงอีก จึงพิพากษาแก้เฉพาะโทษ เป็นว่าให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 6 เดือน นอกนั้นยืนตาม

จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างเป็นปัญหาข้อกฎหมายมา 3 ข้อ

ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาข้อกฎหมายข้อ 1 ที่ว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองสมคบกันจดข้อความเท็จ แต่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้ให้นายนิตย์จดข้อความเท็จ ข้อเท็จจริงที่ได้ความจึงต่างกับฟ้อง นั้น เห็นว่า ฟ้องของโจทก์ฉบับนี้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาด้วย จึงทำให้เข้าใจความหมายได้ว่าโจทก์มีความประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นตัวการนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นโดยกระทำผิดสองคนร่วมกันหรือกระทำผิดคนเดียว หรือกระทำผิดโดยเอาผู้อื่นเป็นเครื่องมือ ซึ่งก็เป็นความผิดฐานเป็นตัวการด้วยกันทั้งนั้น จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ฯลฯ

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยต้องโทษมาก่อน และเป็นคนมีความประพฤติเรียบร้อย ทั้งต้องขังมาระหว่างอุทธรณ์ฎีกาบ้างแล้ว สมควรรอการลงโทษจำเลยที่ 2 ไว้ก่อนได้

จึงพิพากษาแก้ว่า โจทก์จำคุกจำเลยที่ 2 หกเดือนนี้นั้น ให้รอการลงโทษไว้ภายในกำหนดหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ไขนี้แล้วให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share