แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องว่าจำเลยที่ 1, 2 สมคบกันจดข้อความเท็จทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 2 ผู้เดียวเอาคนอื่นเป็นเครื่องมือในการจดเท็จ ดังนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นตัวการในการกระทำความผิด ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในการพิจารณาจึงไม่แตกต่างกับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้อง.
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ ในคดีนี้เป็นเจ้าพนักงานรับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นตรี ตำแหน่งช่างตรี สังกัดกรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมโยธาเทศบาลซึ่งเป็นผู้บังคังบัญชา ได้สั่งให้จำเลยช่วยราชการในตำแหน่งนายช่างเทศบาลเมืองพิษณุโลก มีหน้าที่ควบคุมออกแบบแปลนการก่อสร้างต่าง ๆ มีหน้าที่รับแลกและจ่ายแบบแปลนในหระกวดราคาการก่อสร้างให้แก่ผู้เข้ายื่นประมูล ตลอดจนทำบัญชีและควบคุมบัญชีพัสดุ และดูแลเก็บรักษาพัสดุต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างของเทศบาลทุกชนิด กับหน้าที่อื่นๆตามที่นายกเทศมนตรีได้สั่งการมอบหมายให้ปฏิบัติการตามหน้าที่อันชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ ๒ ในคดีนี้รับราชการเป็นพนักงานวิสามัญประจำของเทศบาลเมืองพิษณุโลกมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยจำเลยที่ ๑ ทำหน้าที่ในงานแผนกช่างทุกอย่างดังกล่าว
ครั้นเมื่อเดือนธันวาคม ๒๔๙๗ เทศบาลเมืองพิษณุโลกได้ออกประกาศแจ้งความประกวดราคารับเหมาก่อสร้างคลังพัสุดไฟฟ้า ๑ หลัง ๑ รายการ และสร้างรางระบายน้ำถนนพญาลิไท กับทำถนนคอนกรีตอีก ๑ รายการ โดยประกาศสงวนสิทธิไว้ว่า ผู้ที่จะเข้ายื่นประมูลจะต้องนำกระดาษพิมพ์แบบโอซาลิค(กระดาษชนิดหนึ่ง ราคาม้วนละ ๒๐๐ บาท) มาแลกแบบแปลนและรายละเอียดต่างๆเดี่ยวกับการก่อสร้างนั้น ผู้เข้ายื่นประมูล ๑ คน จะต้องนำกระดาษโอซาลิคไปแลกคนละ ๒ ม้วนเฉพาะรายการสร้างรางระบายน้ำและทำถนนคอนกรีต ต้องนำกระดาษโอซาลิคไปแลกคนละ ๕ ม้วนจึงจะได้แบบแปลนไปประมูล และรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการก่อสร้างจากแผนกช่างไป
ครั้นวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๙๗ เวลากลางวัน จำเลยทั้ง ๒ นี้ได้บังอาจสมคบกระทำผิดกฎหมาย กล่าวคือ
ก. ในวันเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นวันเปิดประมูลการก่อสร้างของเทศบาลทั้งสองรายดังกล่าว ได้มีผู้เข้ายื่นประมูล ๒ คน คือ นายดี และพันตรีพิสุทธิ์ จำเลยทั้งสองได้เข้าไปเกี่ยวข้องมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นในการประมูลดังกล่าว โดยได้ให้ผู้เข้าประมูลทั้ง ๒ คนเข้าประมูลไปโดยจำเลยมิได้เรียกกระดาษโอซาลิคตามหน้าที่ คือ ความจริงจำเลยต้องเรียกจากการประมูลทั้งสองรายการทั้ง ๒ คน ๆ ละ ๗ ม้วน รวม ๒ คนเป็น ๑๔ ม้วน เนื่องจากการละเว้นของจำเลยทั้ง ๒ ดังกล่าว ทำให้เทศบาลขาดรายได้และเสียกาย กระดาษโอซาลิคที่ควรจะได้ ๑๔ ม้วนเป็นเงิน ๘๔๐ บาท และทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เข้าประมูลทั้ง ๒ คน โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อกระดาษดังกล่าวเป็นเงินคนละ ๔๒๐ บาท
ข. เนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้ง ๒ ดังกล่าวแล้ว โดยหน้าที่ จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่รับกระดาษโอซาลิค และจำต้องลงบัญชีรับกระดาษโอซาลิคต่อไป แต่จำเลยทั้ง ๒ ได้บังอาจสมคบกันจดข้อความเท็จลงในบัญชีคุมพัสดุอันเป็นเอกสารของเทศบาล อยู่ในหน้าที่ของจำเลยว่า ได้รับกระดาษโอซาลิคไว้จากผู้ประมูลทั้ง ๒ คน รวมเป็นจำนวน ๑๔ ม้วน และได้ออกใบรับเท็จให้แก่ผู้เข้าประมูลทั้งสองคน ซึ่งความจริงจำเลยทั้งสองและเทศบาลมิได้รับกระดาษโอซาลิคตามจำนวนดังกล่าวไว้จากใครเลย ทำให้เทศบาลเมืองพิษณุโลกเสียหาย ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๑๓๓,๒๓๐,๖๓ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๓ พระราชบัญญติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๓ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๒,๑๖๒,๘๓
จำเลยทั้ง ๒ ให้การปฏิเสธ
ศาลจังหวัดพิษณุโลกพิพากษาว่า ในฟ้องข้อ ก. โจทก์ไม่นำสืบให้ประจักษ์ กรณีเป็นเพียงสงสัยจะฟังลงโทษจำเลยทั้งสองไม่ได้ ส่วนในฟ้องข้อ ข. พยานโจทก์ก็มิได้พาดพิงไปถึงจำเลยที่ ๑ เลย จำเลยที่ ๑ จึงไม่มีความผิด ส่วนจำเลยที่ ๒ มีความผิดฐานจดข้อความเท็จลงในเอกสารตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๓๐ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๖๒ จึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๒ เป็นคุณแก่จำเลย จำคุกจำเลยที่ ๒ ไว้ ๓ ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยที่ ๒ ผู้เดียวอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า ศษลชั้นต้นลงดทษจำเลยที่ ๒ แรงไป ควรบรรเทาโทษลงอีก จึงพิพากษาแก้เฉพาะโทษ เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๖ เดือน นอกนั้นยืนตาม
จำเลยที่ ๒ ฎีกาอ้างเป็นปัญหาข้อกฎหมายมา ๓ ข้อ
ศาลฎีกาเห็ฯว่า ปัญหาข้อกฎหมายข้อ ๑ ที่ว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองสมคบกันจดข้อความเท็จ แต่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ ๒ ได้ใช้ให้นายนิตย์จดข้อความเท็จ ข้อเท็จจริงที่ได้ความจึงต่างกับฟ้อง นั้น เห็นว่า ฟ้องของโจทก์ฉบับนี้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ มาด้วย จึงทำให้เข้าใจความหมายได้ว่า โจทก์มีความประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ในฐานเป็นตัวการนั่นเองไม่ว่าจะเป็นโดยกระทำผิดสองคนร่วมกันหรือกระทำผิดคนเดียว หรือกระทำผิดโดยเอาผู้อื่นเป็นเครื่องมือซึ่งก็เป็นความผิดฐานเป็นตัวการด้วยกันทั้งนั้น จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฎในการพิจารณาแตกต่างกันข้องเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง
ฯลฯ
ข้อเท็จจริงปรากฎว่า จำเลยที่ ๒ ไม่เคยต้องโทษมาก่อน และเป็นคนมีความประพฤติเรียบร้อยทั้งต้องขังมาระหว่างอุทธรณ์ฎีกาบ้างแล้ว สมควรรอการลงโทษจำเลยที่ ๒ ไว้ก่อนได้
จึงพิพากษาแก้ว่า โทษจำคุกจำเลยที่ ๒ หกเดือนนี้นั้น ให้รอการลงโทษไว้ภายในกำหนดหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ นอกจากที่แก้ไขแล้ว ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์