คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7246/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยฎีกาว่า ในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความกันได้ ผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดคดีเป็นอันขาดอายุความ แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225 จำเลยจึงยกปัญหานี้ขึ้นฎีกาได้
แม้โจทก์ร่วมทั้งสี่ไม่ประสงค์จะเอาความผิดแก่จำเลยและภายหลังโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ได้ถอนคำร้องทุกข์จำเลยในความผิดฐานฉ้อโกง แต่โจทก์ร่วมที่ 2 มิได้ร่วมเจรจาตกลงกับจำเลยด้วย และโจทก์ร่วมที่ 2 มิได้แถลงว่าไม่ประสงค์จะเอาความผิดแก่จำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงและมิได้ถอนคำร้องทุกข์จำเลย ดังนั้น สิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีอาญาตามความผิดฐานฉ้อโกงมาฟ้องจำเลย สำหรับโจทก์ร่วมที่ 2 จึงยังไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 91, 83 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 มาตรา 4, 30, 82 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินแก่ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 คนละ 150,000 บาท ด้วย

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นายธีระวัฒน์ สีขอน ผู้เสียหายที่ 1นายอุตสาห์ โคตรศรีเมือง ผู้เสียหายที่ 2 นางบุญมี สีขอน ผู้เสียหายที่ 3และนางเกษา สุกเพ็ง ผู้เสียหายที่ 4 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมเฉพาะความผิดฐานฉ้อโกงโดยให้เรียกเป็นโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 4 ตามลำดับ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341 จำคุก 3 ปี และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 83 จำคุก 3 ปี เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมแล้วจำคุก 6 ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินแก่โจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 คนละ 150,000 บาท

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสองสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 3และที่ 4 ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ จำเลยทั้งสองไม่คัดค้าน

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวและยังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) จึงให้จำหน่ายคดีสำหรับโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เสียจากสารบบความ

คดีคงมีปัญหาในชั้นนี้เฉพาะโจทก์ร่วมที่ 2 กับจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยหรือไม่ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความกันได้ ผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ผู้เสียหายได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีเป็นอันขาดอายุความแล้ว เพราะโจทก์ร่วมทั้งสี่ทราบว่าจำเลยทั้งสองฉ้อโกงไม่เกินวันที่ 17 พฤศจิกายน2537 หลังจากนั้นโจทก์ร่วมทั้งสี่จึงติดตามทวงถามเอาเงินคืนจากจำเลยทั้งสองตลอดมาหลายครั้งเป็นเวลาอีก 8 เดือน จึงได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2538 อันเกินกำหนดอายุความร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนแล้ว สิทธิในการนำคดีอาญาในความผิดฐานฉ้อโกงมาฟ้องย่อมระงับไปแล้วนั้น เห็นว่า ในปัญหาดังกล่าว แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 จำเลยทั้งสองจึงย่อมหยิบยกปัญหานี้ขึ้นฎีกาได้คดีนี้ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่า โจทก์ร่วมที่ 2 รู้เรื่องความผิดที่จำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ร่วมที่ 2 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2538และโจทก์ร่วมที่ 2 ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2538 ภายในระยะเวลา 2 เดือนเศษซึ่งยังไม่เกิน 3 เดือน นับแต่ที่โจทก์ร่วมที่ 2 รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว ฟ้องโจทก์ในข้อหาฐานร่วมกันฉ้อโกงตามฟ้องจึงไม่ขาดอายุความ

ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาอีกว่า จำเลยทั้งสองได้จ่ายเงินไปบางส่วนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 แล้ว โจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4พอใจไม่ประสงค์จะเอาผิดแก่จำเลยทั้งสองตามคำแถลงของโจทก์ร่วมลงวันที่ 9 ธันวาคม 2542 ถือเป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(2) ทำให้สิทธินำคดีอาญาฐานฉ้อโกงของโจทก์มาฟ้องย่อมระงับไปนั้น เห็นว่า แม้โจทก์ร่วมทั้งสี่ไม่ประสงค์จะเอาความผิดแก่จำเลยทั้งสอง และภายหลังโจทก์ร่วมที่ 1ที่ 3 และที่ 4 ได้ถอนคำร้องทุกข์ จำเลยทั้งสองในความผิดฐานฉ้อโกง แต่โจทก์ร่วมที่ 2 มิได้ร่วมเจรจาตกลงกับจำเลยทั้งสองด้วย และโจทก์ร่วมที่ 2 มิได้แถลงว่าไม่ประสงค์จะเอาความผิดแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานฉ้อโกง และมิได้ถอนคำร้องทุกข์จำเลยทั้งสอง ดังนั้น สิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีอาญาตามความผิดฐานฉ้อโกงมาฟ้องจำเลยทั้งสองสำหรับโจทก์ร่วมที่ 2 จึงยังไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)

อนึ่ง แม้จำเลยทั้งสองจะได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จนเป็นที่พอใจแล้ว โจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 3 และที่ 4ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสองต่อไป และได้ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ด้วยก็ตาม แต่โจทก์ร่วมที่ 2 มิได้ขอถอนคำร้องทุกข์ ประกอบกับเมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวการในการกระทำความผิด ส่วนจำเลยที่ 2เป็นภริยาจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุ และปัจจุบันยังรับราชการครูอยู่เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีด้วยก็เนื่องจากเป็นภริยาของจำเลยที่ 1ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรปรับโทษจำเลยที่ 2 เสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2คนละ 1 ปี ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 6,000 บาท จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกเห็นสมควรรอการลงโทษไว้มีกำหนด2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share