คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7238/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนจำเลยที่ 3 ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อศาลจังหวัดปัตตานี ขอให้พิพากษาว่านิติกรรมเข้าหุ้นส่วนของจำเลยที่ 3 เป็นโมฆะและศาลจังหวัดปัตตานีพิพากษาว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ คำพิพากษาดังกล่าวมิใช่คำพิพากษาเกี่ยวด้วยฐานะหรือความสามารถของบุคคล หากแต่เกี่ยวด้วยนิติกรรมที่จำเลยที่ 3 กระทำ คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (1)
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดในฐานะที่เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 มิได้ฟ้องให้รับผิดในฐานะที่เป็นผู้ที่จะต้องเสียภาษีอากร ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินมีหน้าที่เพียงแต่หมายเรียก ตรวจสอบไต่สวน และ แจ้งการประเมินจำเลยที่ 1 ไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 เท่านั้น หาจำต้องส่งหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนและหนังสือแจ้งการประเมินไปให้จำเลยที่ 3 และผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นด้วยไม่ เมื่อโจทก์ออกหมายเรียกและแจ้งการประเมินให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดผู้ต้องเสียภาษีอากรแล้ว การหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนและแจ้งการประเมินของโจทก์จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มติดต่อกันเป็นเวลา 12 เดือน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 และ 2538 เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรสงสัยจึงออกหมายเรียกตรวจสอบภาษี แต่จำเลยที่ 1 ไม่มาพบและไม่แจ้งเหตุขัดข้อง เจ้าพนักงานประเมินจึงทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 และ 2538 รวมเป็นเงินภาษีจำนวน 5,928,549 บาท จำเลยที่ 1 ทราบการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินแล้ว จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการได้ยื่นอุทธรณ์เฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีมติให้จำหน่ายอุทธรณ์เพราะมีหลักฐานแก้ไขรายการทางทะเบียนให้จำเลยที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2542 จำเลยที่ 3 และที่ 4 เคยเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2536 ถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2542 จึงต้องร่วมกันรับผิดในหนี้ค่าภาษีของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนจำเลยที่ 3 และที่ 4 จะออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2536 จนถึงปัจจุบัน จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานประเมินได้อายัดเงินฝากในบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 1 นำมาชำระหนี้ภาษีอากรค้างบางส่วนจำนวน 160,455.57 บาท คงมีหนี้ที่ค้างชำระอยู่จำนวน 5,768,093.30 บาท คำนวณเงินเพิ่มถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 6,291,777.67 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 6,291,777.67 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือน ของต้นเงินจำนวน 2,333,425.34 บาท นับแต่วันที่ 16 กันยายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การนั้นไปก่อน ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้รอไว้พิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีเมื่อพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 3 ที่ยื่นคำให้การเสร็จสิ้นแล้ว
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและไม่ได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2542 จำเลยที่ 3 ได้รับหนังสือเตือนจากโจทก์ให้ชำระเงินภาษีอากรค้างจำนวน 5,835,682 บาท จำเลยที่ 3 พยายามติดต่อสอบถามจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมพบ จำเลยที่ 3 ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อศาลจังหวัดปัตตานีเพื่อขอให้พิพากษาว่านิติกรรมที่จำเลยที่ 3 เข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะ ศาลจังหวัดปัตตานีพิพากษาว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะและคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่เคยเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและไม่เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้นและไม่ต้องร่วมรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากร โจทก์ไม่ได้เรียกจำเลยที่ 3 ไปไต่สวนและแจ้งการประเมินแก่จำเลยที่ 3 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 6,291,777.67 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือน ของต้นเงินจำนวน 2,333,425.34 บาท นับแต่วันที่ 16 กันยายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่เมื่อรวมกับเงินเพิ่มที่คำนวณถึงวันฟ้องแล้วต้องไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 8,000 บาท
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2536 มี ห. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ครั้นวันที่ 11 มิถุนายน 2536 จดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนเป็นให้จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและวันที่ 25 สิงหาคม 2538 จดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมให้จำเลยที่ 3 เข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ต่อมาวันที่ 28 กันยายน 2542 จำเลยที่ 3 ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อศาลจังหวัดปัตตานี ขอให้พิพากษาว่านิติกรรมเข้าหุ้นส่วนของจำเลยที่ 3 เป็นโมฆะ และวันที่ 13 ธันวาคม 2542 ศาลจังหวัดปัตตานีมีคำพิพากษาว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ และคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลกับภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 6,291,777.67 บาท หนี้จำนวนดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะจดทะเบียนพ้นจากการเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ข้อแรกมีว่า คำพิพากษาของศาลจังหวัดปัตตานี ระหว่างจำเลยที่ 3 โจทก์ กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลย ที่พิพากษาว่านิติกรรมที่โจทก์ในคดีดังกล่าวเข้าเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะ เป็นคำพิพากษาเกี่ยวด้วยฐานะของบุคคล และ จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 3 จะได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อศาลจังหวัดปัตตานี ขอให้พิพากษาว่านิติกรรมเข้าหุ้นส่วนของจำเลยที่ 3 เป็นโมฆะ และศาลจังหวัดปัตตานีพิพากษาว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ เนื่องจากจำเลยที่ 3 แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม คำพิพากษาของศาลจังหวัดปัตตานีดังกล่าวมิใช่คำพิพากษาเกี่ยวด้วยฐานะหรือความสามารถของบุคคล หากแต่เกี่ยวด้วยนิติกรรมที่จำเลยที่ 3 กระทำ คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (1) โจทก์ย่อมกล่าวอ้างได้ว่านิติกรรมเข้าหุ้นส่วนของจำเลยที่ 3 สมบูรณ์ และจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ทั้งตามหนังสือขอขยายเวลาการยื่นอุทธรณ์ และคำอุทธรณ์เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งจำเลยที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำขึ้น จำเลยที่ 3 ก็รับว่าจำเลยที่ 3 เข้ามาเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดโดยการชักชวนของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ข้อต่อไปมีว่า การที่โจทก์ไม่ได้หมายเรียกตรวจสอบไต่สวนและแจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 3 ทราบ เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบไต่สวนและประเมินภาษีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้ภาษีอากรโจทก์ มิได้ตรวจสอบไต่สวนและประเมินภาษีจำเลยที่ 3 ให้รับผิดในฐานะที่เป็นผู้ที่จะต้องเสียภาษีอากร แต่เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดในฐานะที่เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินจึงมีหน้าที่เพียงหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนผู้จัดการและแจ้งการประเมินจำเลยที่ 1 ไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 เท่านั้น หาจำต้องส่งหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนและหนังสือแจ้งการประเมินไปให้จำเลยที่ 3 และผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นด้วยไม่ เมื่อโจทก์ออกหมายเรียกและแจ้งการประเมินให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดผู้ต้องเสียภาษีอากรแล้ว การหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนและแจ้งการประเมินของโจทก์จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 4,000 บาท แทนโจทก์.

Share