คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7236/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์กับจำเลยทำสัญญาตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือสัญญาร่วมลงทุนขึ้นเพื่อร่วมกันสร้างอาคารพาณิชย์ขายแบ่งผลกำไรกันเป็นสัญญาตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างสัญญาจำเลยได้มีหนังสือบอกเลิกห้างหุ้นส่วนกับโจทก์ โจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายความแจ้งให้จำเลยไถ่ถอนการขายฝากที่ดินที่นำมาขายฝากไว้กับโจทก์และให้จำเลยชำระเงินค่าก่อสร้างอาคารพาณิชย์ที่โจทก์ได้ใช้ไปให้แก่โจทก์อันเป็นการแสดงเจตนาสนองรับการบอกเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญของจำเลยแล้วโดยปริยาย สัญญาตั้งห้างหุ้นส่วนระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นอันเลิกกันโดยเจตนาของคู่สัญญา มีผลให้ห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันโดยชอบ กรณีมิใช่การขอเลิกห้างหุ้นส่วนโดยบทบัญญัติของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1056
เมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันแล้ว ข้อตกลงตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นอันระงับไม่มีผลบังคับอีกต่อไป ทั้งได้มีการตกลงกันให้จำเลยชำระเงินที่โจทก์ได้ใช้ไป อันเป็นการตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นภายหลังเลิกห้างหุ้นส่วนในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน แสดงว่าคู่สัญญาไม่ได้ถือว่าที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนสามัญอีกต่อไป โจทก์กับจำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้กันในที่ดินดังกล่าว อันจะทำให้โจทก์มีสิทธิบังคับเอาแก่ที่ดินของจำเลยได้ จำเลยในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวจึงมีสิทธิโอนขายที่ดินดังกล่าวได้การกระทำของจำเลยไม่เป็นการฉ้อฉลต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนการโอนที่ดินดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินทั้งสามโฉนดระหว่างจำเลยทั้งสอง

จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการทำนิติกรรมการขายที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 60558, 60559 และ 60560ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินฉบับวันที่ 13 กันยายน 2537

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นให้ยุติตามฟ้อง คำให้การและคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2536 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน มีวัตถุประสงค์สร้างอาคารพาณิชย์ขายแบ่งผลกำไรกันฝ่ายละครึ่ง โจทก์ลงหุ้นเป็นค่าก่อสร้าง จำเลยที่ 1 ลงหุ้นเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 60558 ถึง 60560 ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ตามเอกสารหมายจ.1 วันที่ 12 พฤษภาคม 2537 จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาห้างหุ้นส่วนสามัญกับโจทก์ตามเอกสารหมายจ.18 หรือ ล.7 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินที่ทั้งสามแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าสัญญาตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระงับไปแล้วหรือไม่เห็นว่า สัญญาตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือสัญญาร่วมลงทุนเอกสารหมาย จ.1โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำขึ้นเพื่อร่วมกันสร้างอาคารพาณิชย์ขายแบ่งผลกำไรกันเป็นสัญญาตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระหว่างสัญญาจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือบอกเลิกห้างหุ้นส่วนกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.18หรือ ล.7 หลังจากได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว โจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือฉบับลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2537 ตามเอกสารหมาย จ.12 แจ้งให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนการขายฝากที่ดินทั้งสามแปลงที่นำมาขายฝากไว้กับโจทก์และให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าก่อสร้างอาคารพาณิชย์ที่โจทก์ได้ใช้ไปจำนวน1,156,000 บาท ให้แก่โจทก์อันเป็นการแสดงเจตนาสนองรับการบอกเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญของจำเลยที่ 1 แล้วโดยปริยาย สัญญาตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.1 จึงเป็นอันเลิกกันโดยเจตนาของคู่สัญญา มีผลให้ห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันโดยชอบกรณีมิใช่การขอเลิกห้างหุ้นส่วนโดยบทบัญญัติของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1056 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัย เมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันแล้ว ข้อตกลงตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นอันระงับไม่มีผลบังคับอีกต่อไป ทั้งตามเอกสารหมายจ.12 ที่โจทก์มีถึงจำเลยที่ 1 ได้ระบุว่า ได้มีการตกลงกันให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,156,000 บาท ที่โจทก์ได้ใช้ไปอันเป็นการตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นภายหลังเลิกห้างหุ้นส่วนในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน แสดงว่าคู่สัญญาไม่ได้ถือว่าที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนสามัญอีกต่อไป โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้กันในที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว อันจะทำให้โจทก์มีสิทธิบังคับเอาแก่ที่ดินทั้งสามแปลงของจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวจึงมีสิทธิโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ได้การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นการฉ้อฉลต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนการโอนที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวของจำเลยทั้งสอง ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share