คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7222/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความแล้ว อายุความจึงสะดุดหยุดลง การที่โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโดยเรียกค่าเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกตามกรมธรรม์ประกันภัยตามหลักฐานของสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา2 ปี แล้ว ไม่ทำให้คดีของโจทก์ในส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องนั้น ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2)
ตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท จำเลยได้ระบุเรื่องความรับผิดต่อทรัพย์สินว่า บริษัทจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก เนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากการใช้รถยนต์ในระหว่างระยะเวลาประกันภัยความรับผิดของบริษัทจะมีไม่เกินจำนวนเงินจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในตารางแล้ว ดังนี้เมื่อเจ้าของรถยนต์บรรทุกซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ถูกรถโจทก์ผู้เอาประกันภัยชนได้รับความเสียหาย และได้ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากโจทก์จนได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยโจทก์ยอมชำระเงินให้แก่ผู้นั้นและโจทก์ถูกบังคับคดีแล้ว ดังนี้ โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยได้ การที่โจทก์จะยังมิได้ชำระค่าเสียหายให้แก่บุคคลภายนอกหรือบุคคลภายนอกมิได้เข้ามาเรียกร้องต่อจำเลย ก็หาทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปไม่ และศาลย่อมกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงินซึ่งไม่เกินกว่าจำนวนที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้นได้
แม้เงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทกำหนดไว้ว่าผู้เอาประกันภัยจะต้องไม่ตกลงยินยอมเสนอหรือให้สัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลใดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัท เว้นแต่บริษัทมิได้จัดการต่อการเรียกร้องนั้นก็ตาม แต่คดีนี้จำเลยผู้รับประกันภัยได้ปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยสิ้นเชิงมาตั้งแต่ต้นก่อนที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลย โดยจำเลยอ้างว่าได้ยกเลิกกรมธรรม์ไปแล้วตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุวินาศภัยรถยนต์ชนกัน ดังนั้น การที่โจทก์ได้ตกลงชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลภายนอกอันเนื่องมาจากเหตุที่โจทก์ถูกบุคคลภายนอกฟ้องจึงหาเป็นการผิดเงื่อนไขข้อกำหนดตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ไว้กับสำนักงานตัวแทนของจำเลยในวงเงิน 500,000 บาท ตกลงชำระค่าเบี้ยประกันภัยเป็นรายปี ในอัตราปีละ 22,526 บาท ต่อมาวันที่ 9 กันยายน 2535 รถคันดังกล่าวประสบอุบัติเหตุเสียหายทั้งคัน และบุคคลที่นั่งมาในรถถึงแก่ความตายทั้งสองคนทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องชำระเงินค่าปลงศพ 100,000 บาท รถของโจทก์เสียหายทั้งคัน ไม่สามารถซ่อมแซมได้ คิดเป็นเงิน 300,000 บาท ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก ซึ่งโจทก์ถูกฟ้อง 250,000 บาท ค่าปลงศพลูกจ้างคนขับรถของโจทก์และบุคคลซึ่งนั่งมาในรถที่เอาประกันภัยและถึงแก่ความตายทั้งสองคนเป็นเงิน 100,000 บาท และโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวข้างต้น นับจากวันที่ 9 กันยายน 2535 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน65,000 บาทโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหาย แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 715,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น

จำเลยให้การว่า จำเลยยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยรายนี้แล้วก่อนเกิดเหตุ กรมธรรม์ประกันภัยไม่มีผลคุ้มครองถึงค่าปลงศพ และโจทก์มิได้เป็นผู้จ่ายค่าปลงศพจำนวน 100,000 บาท รถยนต์คันเกิดเหตุตามฟ้อง ค่าซ่อมแซมไม่เกิน 150,000 บาท โจทก์ยังไม่ได้จ่ายเงินจำนวน 250,000 บาท แก่บุคคลภายนอก โจทก์จึงไม่มีอำนาจเรียกร้องค่าเสียหายและดอกเบี้ยในส่วนนี้ และฟ้องโจทก์ส่วนนี้ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 650,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 กันยายน 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องไม่ให้เกิน 65,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะต้นเงินให้จำเลยชำระจำนวน600,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประเด็นแรกว่าจำเลยรับประกันรถยนต์พิพาทในขณะเกิดเหตุหรือไม่ เห็นว่า กรณีน่าเชื่อตามทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์ได้ชำระเบี้ยประกันให้แก่บริษัทจำเลยแล้วลายมือชื่อในช่องผู้รับเงินลบเลือนไป ในขณะเกิดเหตุรถยนต์พิพาทชนกันนั้น ทางจำเลยยังไม่ได้ยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยทำไว้กับโจทก์แต่อย่างใด และที่จำเลยยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยมิได้เกิดขึ้นจากการที่ลูกค้าไม่ได้ชำระเบี้ยประกัน แต่เกิดจากนายวสันต์พนักงานของจำเลยมิได้ปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนให้ครบถ้วนถูกต้อง การที่จำเลยมีหนังสือยกเลิกกรมธรรม์จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการยกเลิกอันเนื่องมาจากโจทก์มิได้ชำระเบี้ยประกันให้แก่จำเลย การยกเลิกดังกล่าวจึงไม่มีผลทำให้สัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยระงับสิ้นไปได้

ประเด็นต่อไปที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง โดยเรียกค่าเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา2 ปีแล้ว คดีขาดอายุความหรือไม่นั้น ในประเด็นนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความและในระหว่างดำเนินคดีโจทก์ได้ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเมื่อพ้นกำหนดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า การที่โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องโดยการฟ้องคดีต่อศาลนั้นเป็นการตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือตั้งหลักฐานเพื่อให้จำเลยชำระหนี้แล้ว อายุความจึงสะดุดหยุดลง การที่โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องตามหลักฐานของสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่ย่อมไม่ทำให้คดีของโจทก์ในส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องนั้นขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2)

ส่วนที่จำเลยฎีกาเรื่องค่าเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกตามเอกสารจ.3 ข้อ 2.3 โดยอ้างว่า บุคคลภายนอกมิได้เข้ามาเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายและไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ชำระเงินให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้วแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องเอากับจำเลยได้นั้น เห็นว่าตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.3 ระบุเรื่องความรับผิดต่อทรัพย์สินว่า บริษัทจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก เนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากการใช้รถยนต์ในระหว่างระยะเวลาประกันภัยความรับผิดของบริษัทจะมีไม่เกินจำนวนเงินจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในตาราง ตามข้อสัญญาดังกล่าวเป็นข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยในอันที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินของบุคคลภายนอก เมื่อปรากฏว่าเจ้าของรถยนต์บรรทุกที่ถูกรถโจทก์ชนได้รับความเสียหาย และได้ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ จนได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยโจทก์ยอมชำระเงินให้ 750,000 บาท และโจทก์ถูกบังคับคดีแล้ว โจทก์จึงชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยได้ แม้โจทก์จะยังมิได้ชำระค่าเสียหายให้แก่บุคคลภายนอกหรือบุคคลภายนอกมิได้เข้ามาเรียกร้องต่อจำเลยก็ตาม หาทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใดไม่ เมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกมีจำนวนสูงถึง 750,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 250,000 บาท ซึ่งไม่เกินกว่าจำนวนที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้นจึงเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การที่โจทก์ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย จ.8 โดยจำเลยมิได้มีส่วนรู้เห็นหรือมีนิติสัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วย อันเป็นการผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยหมาย จ.3 ข้อ 1.5 และ 1.5.1 นั้น เห็นว่า ตามข้อสัญญาดังกล่าวกำหนดไว้ว่า “ผู้เอาประกันภัยจะต้องไม่ตกลงยินยอมเสนอหรือให้สัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลใดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัทเว้นแต่บริษัทมิได้จัดการต่อการเรียกร้องนั้น” เมื่อปรากฏจากข้อเท็จจริงในคดีนี้ว่าจำเลยได้ปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยสิ้นเชิงมาตั้งแต่ต้นโดยอ้างว่าได้ยกเลิกกรมธรรม์ไปแล้วตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการเกิดวินาศภัยรถยนต์ชนกัน ตามเอกสารหมาย ล.3 ดังนั้นการที่โจทก์ได้ตกลงชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากเหตุที่โจทก์ถูกฟ้องดังกล่าวจึงหาเป็นการผิดเงื่อนไขข้อกำหนดตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1.5และ 1.5.1 แต่อย่างใดไม่

พิพากษายืน

Share