แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จะพิจารณา ว่าคดีใดต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องถือโทษที่ศาลลงแก่จำเลยเป็นรายกระทงไป เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด2 กระทง แต่ละกระทงลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน10,000 บาท แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้ให้ระบุวรรคตอนของบทมาตราที่เป็นความผิดและบทลงโทษให้ชัดเจน กับแก้ โทษจำคุกให้น้อยลงโดยไม่รอการลงโทษและไม่ลงโทษปรับจำเลย ก็เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219.
จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามฎีกาการที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีและพกพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519ข้อ 3, 6, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 371 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4และขอให้ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องให้เรียงกระทงลงโทษ แต่การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ตอนแรก กับการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 เป็นกรรมเดียวกันให้ลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 72 ทวิ วรรคสองตอนแรก การกระทำตามมาตรา 72 วรรคแรก จำคุก 2 ปี และปรับ 6,000 บาท และตามมาตรา 72 ทวิวรรคสอง ตอนแรก จำคุก 1 ปี และปรับ 2,000 บาท รวมจำคุก 3 ปีและปรับ 8,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี6 เดือน ปรับ 4,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและตามสภาพความผิดประกอบกับรายงานการสืบเสาะและพินิจ ให้รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มีกำหนด 2 ปี โดยคุมประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี และให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ2 เดือนต่อครั้ง จนกว่าจะครบกำหนดการคุมความประพฤติทั้งห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับอาวุธปืนที่ผิดกฎหมาย ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางให้ริบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ปืนของกลางเป็นอาวุธร้ายแรงไม่มีทะเบียนจึงยากที่จะควบคุม สมควรปราบปราม จำเลยไม่มีเหตุต้องพาอาวุธปืนไปในงานบวชของเพื่อนพฤติการณ์ไม่สมควรรอการลงโทษ เมื่อไม่รอการลงโทษ จึงไม่ปรับจำเลย และที่ศาลชั้นต้นปรับบทมาตราโดยมิได้ระบุวรรคนั้นไม่ถูกต้อง พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคแรก, 72 วรรคแรก,72 ทวิ วรรคสอง ตอนแรก ที่แก้ไขแล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371ฐานพาอาวุธปืน ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนให้จำคุก 1 ปีฐานพาอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งฐานมีอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 3 เดือน รวม2 กระทง เป็นจำคุก 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่จะพิจารณาว่าคดีใดต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องถือโทษที่ศาลลงแก่จำเลยเป็นรายกระทงไป คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด 2 กระทง แต่ละกระทงให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาทแม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้ให้ระบุวรรคตอนของบทมาตราที่เป็นความผิดและบทลงโทษให้ชัดเจน กับแก้โทษจำคุกให้น้อยลงโดยไม่รอการลงโทษและไม่ลงโทษปรับจำเลย ก็เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาเป็นการมิชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลย