คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7216/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่าโจทก์อาศัยสิทธิใดในการเรียกดอกเบี้ยและโจทก์ได้รับชำระดอกเบี้ยกับต้นเงินจากจำเลยที่ 1 แล้วจำนวนเท่าใดแต่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะบรรยายแต่เพียงลอย ๆระบุยอดหนี้รวมมา ไม่แยกแยะให้เห็นว่ามีการชำระหนี้เงินต้นเมื่อไรอย่างไร ชำระดอกเบี้ยกันอย่างไร กี่ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อไรข้อฎีกาของจำเลยจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นต้องห้ามฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249วรรคหนึ่ง สัญญากู้ยืมเงินมีกำหนดเวลาชำระหนี้เสร็จสิ้นใน 20 เดือน แต่มีข้อตกลงให้ผู้ให้กู้มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้ตามสัญญาทั้งหมดหรือบางส่วนก่อนถึงกำหนดได้โดยผู้ให้กู้ไม่จำต้องชี้แจงแสดงเหตุ ผู้ให้กู้จึงมีสิทธิฟ้องบังคับผู้กู้ให้ชำระหนี้ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อนแม้หนี้จะยังไม่ถึงกำหนดและผู้กู้ไม่ได้ผิดนัดและการที่หนี้ระหว่างผู้ให้กู้และผู้กู้เปลี่ยนเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ ก็หาทำให้สิทธิของผู้ให้กู้ตามข้อตกลงดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปไม่ แม้สัญญาค้ำประกันจะไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดไว้ แต่ก็ได้เท้าความถึงสัญญากู้ยืมเงินที่ผู้ค้ำประกันตกลงค้ำประกันหนี้ไว้ชัดแจ้งและมีข้อความอีกว่า ถ้าลูกหนี้ผิดนัดการชำระหนี้ผู้ค้ำประกันตกลงชำระหนี้นั้นแก่ผู้ให้กู้ทันทีพร้อมดอกเบี้ย กรณีจึงถือได้ว่าผู้ค้ำประกันตกลงค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน400,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี มีจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียงบางส่วนโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสามไม่ยอมชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน274,023 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปีในต้นเงิน 163,957 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายผิดนัด หากโจทก์จะเลิกสัญญาเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้โจทก์จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อน แต่ก่อนฟ้องโจทก์มิได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้โดยชอบ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมในเรื่องดอกเบี้ยว่าโจทก์อาศัยสิทธิใดในการเรียกดอกเบี้ยตามฟ้อง และโจทก์ได้รับชำระดอกเบี้ยและต้นเงินจากจำเลยที่ 1แล้วจำนวนเท่าใด โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปีดอกเบี้ยที่โจทก์คิดมาไม่ถูกต้องและผิดต่อกฎหมายโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปีมาตลอด ทั้ง ๆ ที่ต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทยได้ลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือไม่เกินร้อยละ 18 ต่อปี ดอกเบี้ยทั้งหมดจึงเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1และไม่ได้ตกลงในเรื่องดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อปีกับโจทก์ โจทก์จึงเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่ได้ฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน274,023 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปีในต้นเงิน163,957 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะบรรยายแต่เพียงลอย ๆ ระบุยอดหนี้รวมมาไม่แยกแยะให้เห็นว่ามีการชำระหนี้เงินต้นเมื่อไร อย่างไร ชำระดอกเบี้ยกันอย่างไรกี่ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อไร เป็นเหตุให้จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้ถูกต้อง แต่ข้อฎีกาของจำเลยทั้งสามดังกล่าว เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ อีกทั้งมิได้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 3 มีข้อความว่า “ทั้งนี้ผู้กู้ตกลงว่าระยะเวลาชำระหนี้ดังกล่าวไม่ลบล้างตัดสิทธิของบริษัทในอันที่จะเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก่อนถึงกำหนดโดยมิพักต้องชี้แจงแสดงเหตุแต่ประการใด และผู้กู้ตกลงชำระหนี้แก่บริษัททันที” ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวให้อำนาจแก่ผู้ให้กู้ฟ้องบังคับผู้กู้ชำระหนี้ได้ทันทีโดยมิต้องบอกกล่าวแม้หนี้จะยังไม่ถึงกำหนดและลูกหนี้ไม่ได้ผิดนัดก็ตาม การที่หนี้ระหว่างผู้ให้กู้และผู้กู้เปลี่ยนเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนก็หาทำให้สิทธิของผู้ให้กู้ตามข้อตกลงดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
สำหรับปัญหาที่ว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสามในอัตราร้อยละ 21 ต่อปีโดยตลอดหรือไม่ จำเลยทั้งสามฎีกาว่า เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงไปจากที่ตกลงกันไว้เดิม โจทก์ต้องปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว ข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเดิมถือว่าถูกยกเลิกไปโดยปริยายเห็นว่าถึงแม้หลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ตามเอกสารหมายจ.3 แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง แต่เมื่อพิจารณาข้อความในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ไม่มีข้อความตอนใดที่กำหนดให้อัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย คงกำหนดให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จอีกทั้งให้ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มได้ตามแต่โจทก์จะเห็นสมควรโดยไม่เกินอัตราดอกเบี้ยขั้นสูงที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น เมื่อข้อกำหนดในสัญญาให้สิทธิแก่โจทก์เช่นนี้ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสามในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี โดยตลอด
ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ในหนี้ส่วนดอกเบี้ยด้วยหรือไม่ เห็นว่าถึงแม้จะไม่ได้มีการกรอกข้อความระบุอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดไว้ในสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 แต่สัญญาดังกล่าวก็ได้เท้าความถึงสัญญากู้ยืมเงินที่ผู้ค้ำประกันตกลงค้ำประกันหนี้ไว้ชัดแจ้งว่า “ข้อ 1. ตามที่บริษัทสยามหัตถภัณฑ์ จำกัด(ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า “ลูกหนี้”) ได้กู้เงินจากบริษัทจำนวน 400,000บาท (สี่แสนบาทถ้วน) ปรากฏตามสัญญากู้เงินลงวันที่ 30 เดือนกันยายนพ.ศ. 2524 นั้น ผู้ค้ำประกันตกลงค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ตามสัญญาดังกล่าว ถ้าลูกหนี้ผิดนัดการชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันตกลงชำระหนี้นั้นแก่บริษัททันทีพร้อมดอกเบี้ยในฐานะลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ตลอดไปจนกว่าบริษัทจะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิง” นอกจากนั้นข้อความในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวก็ยังระบุถึงการชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยไว้อย่างชัดเจนด้วย ส่วนสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6 ได้มีการระบุอัตราดอกเบี้ยไว้แล้ว ดังนี้ กรณีจึงถือได้ว่าผู้ค้ำประกันตกลงค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย จำเลยที่ 2และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ในหนี้ส่วนดอกเบี้ยด้วย
พิพากษายืน

Share