คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7210/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้ารูปกรงนกประกอบอักษรโรมันคำว่าMACYS ที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ และเครื่องหมายการค้ารูปนกบินประกอบอักษรโรมันคำว่า MACY’S ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียน ต่างออกเสียงว่า เมซี่ส์ เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 สาระสำคัญของการเรียกขานเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงอยู่ที่คำว่า MACYS หรือMACY’S ฉะนั้นลูกค้าที่ซื้อสินค้าจะเรียกสินค้าของโจทก์ว่า เมซี่ส์ เหมือนกับสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงอาจทำให้ประชาชนผู้ซื้อสินค้าสับสนหรือหลงผิดในแหล่งกำเนิดและคุณภาพของสินค้าได้ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าคำว่า MACY’S และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ยังต่างประเทศก่อนโจทก์ สินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นที่แพร่หลายมาประมาณ100 ปีแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่าMACY’S ดีกว่าโจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะยังมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทย และจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 ในประเทศไทยก็ตาม แม้คำฟ้องของโจทก์จะขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ถอนคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปนกบินและคำว่า MACY’S ของโจทก์เท่านั้น แต่เมื่อโจทก์ได้กล่าวอ้างถึงเครื่องหมายการค้ารูปกรงนกและคำว่า MACYS ที่ได้รับการจดทะเบียนมาในคำฟ้องด้วย จำเลยที่ 1 ก็ย่อมมีสิทธิที่จะให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า MACY’S ของจำเลยที่ 1 ดีกว่าสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า MACYS ที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วและคำว่าMACY’S ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียน และจำเลยที่ 1 ย่อมอาศัยสิทธิที่ตนได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474ฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสียในเครื่องหมายการค้านั้น ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมจำเลยที่ 1 ชอบที่จะฟ้องแย้งมาในคำให้การได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 44ห้ามมิให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนเสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนฝ่ายอื่น แต่บทบัญญัติมิได้ห้ามคู่ความฝ่ายอื่นเสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนนายทะเบียน ฉะนั้น ศาลจึงสั่งให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสองได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความสำหรับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 4,000 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น เมื่อคดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ การกำหนดค่าทนายความดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเกินอัตราขั้นสูงในศาลชั้นต้นจำนวน3,000 บาท ตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งศาลฎีกากำหนดเสียใหม่ให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ผลิตสินค้าประเภทเสื้อผ้าชุดชั้นในสตรีออกจำหน่ายในประเทศภายใต้เครื่องหมายการค้ารูปนกบินมีคำว่า MACY’S อยู่ในกรอบ และเครื่องหมายการค้ารูปกรงนกมีภาษีญี่ปุ่นอยู่ข้างในคำว่า MACYS อยู่ใต้กรงนก ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปกรงนกมีคำว่า MACYS อยู่ใต้กรงนก สำหรับสินค้าจำพวก 38 เฉพาะเสื้อยกทรง นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไว้ หลังจากนั้น โจทก์จึงยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปนกบินมีคำว่า MACY’S อยู่ในกรอบเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 38 จำเลยที่ 1 ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนของโจทก์ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์ยื่นคำโต้แย้งคำคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำเลยที่ 2 ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยว่าให้ระงับการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไว้ การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ไม่สามารถจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปนกบินมีคำว่าMACY’S ได้ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถอนคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ให้จำเลยที่ 2 เพิกถอนคำวินิจฉัยการระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่าคำว่า MACY’S เป็นคำเดียวกับส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทและเป็นเครื่องหมายการค้าซึ่งจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนไว้แล้วในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่พ.ศ. 2401 ถึงปัจจุบันและจดทะเบียนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอีกทั้งจำเลยที่ 1 ยังได้ใช้คำดังกล่าวเป็นชื่อห้างสรรพสินค้าในประเทศสหรัฐอเมริกามากกว่า 90 แห่ง และจดทะเบียนคำดังกล่าวเป็นเครื่องหมายบริการของจำเลยที่ 1 ไว้ในประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ชื่อเครื่องหมายการค้าพิพาทนี้สาธารณชนจะเรียกขานชื่อเครื่องหมายการค้าโจทก์ว่า “เมซี่ส์” หรือ “มาซี่ส์” โดยจะไม่เรียกขานรวมไปถึงรูปลวดลาย และคำอักษรญี่ปุ่นแต่อย่างใดการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาททั้งสองเครื่องหมายของโจทก์ โจทก์เน้นให้อ่านออกเสียงว่า “เมซี่ส์” หรือ “มาซี่ส์”เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหรือหลงผิดในแหล่งกำเนิดและคุณภาพของสินค้า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย แต่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนให้ เพราะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งได้รับจดทะเบียนไว้แล้ว โจทก์มีเจตนาไม่สุจริต นำเอาเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จำเลยที่ 1 มีสิทธิดีกว่าโจทก์ ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์กับสินค้าจำพวก 38 ทั้งจำพวกให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และให้ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์กับห้ามโจทก์ใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าจำพวก 38 ทั้งจำพวก
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะนายทะเบียนได้พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า MACY’S โดยเป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นเอง เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ขอจดทะเบียนไม่ชอบที่จะรับจดทะเบียน คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าวและรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ได้ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องแย้งเพราะไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามหนังสือคู่มือรับจดทะเบียนเรื่องเลขที่(ก) 74851 ให้ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ (ก) 149603 ห้ามโจทก์ใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าจำพวก 38 ทั้งจำพวก หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนและให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความสำหรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน4,000 บาท จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 1,500 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์โดยกำหนดค่าทนายความสำหรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1,500 บาท และจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 800 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้ารูปกรงนกประกอบอักษรโรมันคำว่า MACYS ที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ก็ดี เครื่องหมายการค้ารูปนกบินประกอบอักษรโรมันคำว่า MACY’S ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนก็ดี ต่างออกเสียงว่า เมซี่ส์ เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 สาระสำคัญของการเรียกขานเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงอยู่ที่คำว่า MACYS หรือ MACY’S ฉะนั้นลูกค้าที่ซื้อสินค้าจะเรียกสินค้าของโจทก์ว่า เมซี่ส์ เหมือนกับสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่จดทะเบียนไว้ยังต่างประเทศจึงอาจทำให้ประชาชนผู้ซื้อสินค้าสับสนหรือหลงผิดในแหล่งกำเนิดและคุณภาพของสินค้าได้ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าคำว่า MACY’S และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นก่อนโจทก์ สินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นที่แพร่หลายมาประมาณ 100 ปีแล้ว จำเลยที่ 1จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า MACY’S ดีกว่าโจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะยังมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทย และจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 ในประเทศไทยก็ตาม
แม้คำฟ้องของโจทก์จะขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ถอนคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เท่านั้น แต่การขอบังคับของโจทก์ดังกล่าว โจทก์อ้างว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์รูปนกบินประกอบอักษรโรมันคำว่า MACY’S แตกต่างกับเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า MACY’S ของจำเลยที่ 1ไม่ทำให้สาธารณชนหลงผิด และอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าโดยสุจริตแต่ผู้เดียวในประเทศไทยมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และโจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า MACY’S ของจำเลยที่ 1 จะเป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนหรือใช้แพร่หลายในประเทศใด อย่างไร แสดงว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ดีกว่าจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ได้กล่าวอ้างถึงเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนดังกล่าวมาในคำฟ้องด้วย จำเลยที่ 1 ก็ย่อมมีสิทธิที่จะให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า MACY’S ของจำเลยที่ 1 ดีกว่าสิทธิในเครื่องหมายของโจทก์คำว่า MACYS ที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วและคำว่า MACY’S ที่ยื่นขอจดทะเบียน และจำเลยที่ 1 ย่อมอาศัยสิทธิที่ตนได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474ฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสียในเครื่องหมายการค้านั้น ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงเกี่ยวกับคำฟ้องเดิม จำเลยที่ 1ชอบที่จะฟ้องแย้งดังกล่าวมาในคำให้การได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม
ประเด็นข้อสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับปัญหาการใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนนายทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 44 ห้ามมิให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนเสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนฝ่ายอื่น แต่บทบัญญัตินี้มิได้ห้ามคู่ความฝ่ายอื่นเสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนนายทะเบียน ฉะนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองสั่งให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสองจึงชอบแล้ว
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความสำหรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน4,000 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ การกำหนดค่าทนายความดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเกินอัตราขั้นสูงในศาลชั้นต้นจำนวน 3,000 บาท ตามตาราง 6ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเสียใหม่ให้ถูกต้อง
พิพากษายืน แต่ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 3,000 บาท และให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนจำเลยทั้งสองคนละ 1,000 บาท

Share