คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 721/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ธรณีสงฆ์นั้น ตามกฎหมายผู้ใดจะยกอายุความครอบครองโดยอาศัยอำนาจปรปักษ์ขึ้นใช้ยันกับวัดไม่ได้
ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 15/2504

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าเมื่อประมาณ ๒๐ ปีเศษมาแล้ว จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดกลาง ๑ แปลง จำเลยชำระค่าเช่าล่วงหน้า ๑๒ ปี เมื่อครบ ๑๒ ปี ทางวัดทวงค่าเช่า จำเลยไม่ยอมชำระอ้างว่าที่ดินตกเป็นของจำเลย จึงขอให้ขับไล่
จำเลยให้การต่อสู้ว่า เคยขอเช่าที่พิพาทจากวัดอยู่ ๒ ปี ต่อมาเจ้าอาวาสกับกรรมการวัดได้ตกลงแลกที่พิพาทกับกระดานมุงหลังคากับน๊อตของจำเลย ที่พิพาทจึงตกเป็นของจำเลยๆ ได้ครอบครองเป็นเจ้าของมา ๒๗-๒๘ ปีแล้ว
ศาลชั้นต้นไม่เชื่อว่าจำเลยเอาน๊อตกับกระดานแลกกับที่พิพาท ที่พิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ เจ้าอาวาสไม่มีอำนาจยกให้แก่ใคร และใครจะอ้างสิทธิครอบครองในที่ธรณีสงฆ์ไม่ได้ ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาท และชำระค่าเช่าจนกว่าจะออก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่พิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์หรือมิใช่ ข้อนี้พยานโจทก์ว่านายเมืองขวายกที่พิพาทให้วัดกลาง เจ้าอาวาสได้เอาศาลามาปลูกไว้ในที่พิพาทในข้อนี้พยานจำเลยก็เจือสมอยู่แล้ว ต่อมาจำเลยยังได้เช่าที่พิพาทนี้จากเจ้าอาวาสวัดกลางอีก ย่อมเป็นการรับรองว่าที่พิพาทเป็นของวัดกลาง จำเลยจึงต้องเช่าเมื่อฟังว่าที่พิพาทเป็นธรณีสงฆ์ของวัดกลาง โดยมติที่ประชุมใหญ่ จำเลยจะยกอายุความครอบครองโดยอำนาจปรปักษ์ขึ้นใช้กับวัดไม่ได้ เพราะพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ขณะนั้น ได้บัญญัติห้ามไว้ในมาตรา ๗ ว่า ผู้ใดจะโอนกรรมสิทธิ์ทีอันเป็นธรณีสงฆ์ไปไม่ได้ และต่อมาได้มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔๑ ก็ได้บัญญัติให้โอนได้โดยพระราชบัญญัติ ดังนี้ จึงไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นต่อไป
พิพากษายืน

Share