คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7209/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ใช้คำว่า Reebok เป็นชื่อบริษัทและเป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าที่โจทก์ผลิตขายด้วย โจทก์ใช้ชื่อนี้ในประเทศอังกฤษมาก่อนจำเลยที่ 1 ใช้ ชื่อดังกล่าวเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 และชื่อนี้เป็นคำเฉพาะที่ตั้งขึ้นมาเอง ไม่มีความหมายดังนี้ การที่บริษัท ท. โดยจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ทดลองเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า Reebokของโจทก์ แล้วต่อมาจำเลยที่ 3 ยื่นคำขอใช้คำดังกล่าวเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 และมีวงเล็บว่า ประเทศไทย จึงเป็นการที่จำเลยที่ 3 เอาคำว่า Reebok ซึ่งเป็นซื่อและเครื่องหมายการค้าของโจทก์และได้ใช้ในต่างประเทศมาก่อนแล้วมาใช้เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 โดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวพันในการค้าของโจทก์หรือเป็นส่วนหนึ่งโจทก์ หากจำเลยที่ 1 กระทำการโดยสุจริต จำเลยที่ 1 ก็ไม่ควรใช้ชื่อซ้ำกับโจทก์ การจดทะเบียนบริษัทจำกัดของจำเลยที่ 1โดยใช้ชื่อว่าบริษัทรีบ๊อค (ประเทศไทย) จำกัด จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต เป็นการใช้นามของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 เมื่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าของชื่อ Reebok เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ระงับการใช้ชื่อดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิใช้ชื่อนั้นต่อไป และโจทก์ชอบที่จะขอต่อศาลให้สั่งห้ามจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ชื่อดังกล่าวได้ คำที่พิพาทกันคือคำว่า Reebok ซึ่งเป็นคำภาษาอังกฤษส่วนคำว่า รีบ๊อคที่โจทก์อ้างหรือคำว่ารีบ๊อค ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างเป็นเพียงการสะกดตัวอักษรที่แสดงถึงสำเนียงการอ่านคำภาษาอังกฤษดังกล่าวไม่ใช่สาระที่พิพาทกัน การที่ศาลพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองใช้คำว่า Reebok โดยวงเล็บคำว่า รีบ๊อคหรือรีบ็อคไว้หลังคำว่า Reebok จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศอังกฤษ โดยจดทะเบียนคำว่า (Reebok International Limited)เป็นชื่อบริษัทเมื่อปลายปี 2526 โจทก์ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายรองเท้า เครื่องนุ่งห่มทุกชนิดภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า Reebok อ่านว่า รีบ๊อค เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และโจทก์ได้จดทะเบียนคำว่า Reebok เป็นชื่อบริษัทในประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะส่วนตัวและแทนของจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนบริษัทจำกัดชื่อ บริษัท(รีบ็อค ประเทศไทย) จำกัดใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า REEBOK (THAILAND) CO.,LTD. โดยมีวัตถุประสงค์ในการผลิตและจำหน่ายรองเท้าและเครื่องนุ่งห่มทุกชนิด ซึ่งจำเลยทั้งสามได้นำเอาชื่อของบริษัทโจทก์คำว่าReebok มาจดทะเบียนเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าจำเลยที่ 1 เป็นสาขาของโจทก์เปิดกิจการในประเทศไทยหรือกิจการค้าของจำเลยที่ 1 เป็นกิจการของโจทก์หรือมีความเกี่ยวพันกับโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการแสวงหาประโยชน์จากชื่อบริษัทโจทก์หรือเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ขอศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเลิกใช้คำว่า Reebok และรีบ๊อค(ที่ถูกน่าจะเป็นรีบ๊อค) ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย กับชื่อบริษัทของจำเลยที่ 1 และธุรกิจทั้งปวงของจำเลยที่ 1 และห้ามมิให้จำเลยทั้งสามใช้อีกต่อไป
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์จะได้จดทะเบียนชื่อ Reebokเป็นชื่อบริษัทของโจทก์ในต่างประเทศหรือไม่ จำเลยไม่ทราบไม่รับรอง ถึงแม้โจทก์จะจดทะเบียนชื่อดังกล่าวไว้จริง ก็มีผลเฉพาะในต่างประเทศ ไม่มีผลใช้บังคับในประเทศไทย จำเลยที่ 1ใช้ชื่อว่า รีบ๊อค เป็นภาษาไทย แต่ไม่เคยใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า REEBOK จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อบริษัทว่า บริษัทรีบ็อค(ประเทศไทย) จำกัด ไม่เคยใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า REEBOKTHAILAND) CO.,LTD. ซึ่งแตกต่างกับชื่อบริษัทของโจทก์ที่ว่าREEBOK INTETNATIONAL LIMITED ดังนั้น การใช้ชื่อบริษัทจำเลยจึงไม่ทำให้สาธารณชนทั่วไปเข้าใจผิด ไม่เป็นที่เสื่อมเสียประโยชน์หรือสร้างความเสียหายให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่มีตำแหน่งหน้าที่ในบริษัทจำเลยที่ 1 และไม่ได้เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามมิให้จำเลยทั้งสามใช้คำว่า Reebok(รีบ๊อคหรือรีบ็อค) ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย กับชื่อของจำเลยที่ 1 และในธุรกิจการค้าของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหามีว่า การจดทะเบียนบริษัทจำกัดของจำเลยที่ 1 โดยใช้ชื่อว่า บริษัทรีบ็อค (ประเทศไทย) จำกัดเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และเป็นการใช้นามของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 หรือไม่ปัญหานี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ใช้คำว่า Reebok เป็นชื่อบริษัทและเป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าที่โจทก์ผลิตขายด้วยโจทก์ใช้ชื่อนี้ในประเทศอังกฤษมาก่อนจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อดังกล่าวเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 กล่าวคือ โจทก์ใช้มาตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2526 ส่วนจำเลยที่ 2 เพิ่งมาใช้เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2531 ซึ่งวันทั้งสองดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และชื่อนี้เป็นคำเฉพาะที่ตั้งขึ้นมาเอง ไม่มีความหมายอะไร ดังนี้ การที่บริษัทไทยอินเตอร์เนชั่นแนล โปรดักส์จำกัด โดยจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ทดลองเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า Reebok ของโจทก์ เมื่อวันที่ 19พฤษภาคม 2531 แล้วต่อมาจำเลยที่ 3 ยื่นคำขอใช้คำดังกล่าวเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 และมีวงเล็บว่าประเทศไทย จึงเป็นการที่จำเลยที่ 3 เอาคำว่า Reebok ซึ่งเป็นชื่อและเครื่องหมายการค้าของโจทก์และได้ใช้ในต่างประเทศมาก่อนแล้วมาใช้เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 โดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจว่าจำเลยที่ 1มีส่วนเกี่ยวพันในการค้าของโจทก์หรือเป็นส่วนหนึ่งของโจทก์หากจำเลยที่ 1 กระทำการโดยสุจริต จำเลยที่ 1 ก็ไม่ควรใช้ชื่อซ้ำกับโจทก์ การจดทะเบียนบริษัทจำกัดของจำเลยที่ 1 โดยใช้ชื่อบริษัทรีบ็อค (ประเทศไทย) จำกัด จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นการใช้นามของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 เมื่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าของชื่อ Reebokเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ระงับ การใช้ชื่อดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิใช้ชื่อนั้นต่อไป และโจทก์ชอบที่จะขอต่อศาลให้สั่งห้ามจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ชื่อดังกล่าวได้ และที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาห้ามมิให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้คำว่า รีบ็อค ด้วยทั้งที่โจทก์ขอให้ห้ามใช้คำว่า Rebok และ รีบ๊อคเท่านั้น เป็นการพิพากษาเกินคำขอนั้น เห็นว่า คำที่พิพาทกันคือคำว่า Reebokซึ่งเป็นคำภาษาอังกฤษ ส่วนคำว่า รีบ๊อค ที่โจทก์อ้าง หรือคำว่า รีบ๊อค ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างเป็นเพียงการสะกดตัวอักษรที่แสดงถึงสำเนียงการอ่านคำภาษาอังกฤษดังกล่าวไม่ใช่สาระที่พิพาทกัน การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษา ห้ามใช้คำว่าReebok โดยวงเล็บคำว่า รีบ๊อคหรือรีบ็อค ไว้หลังคำว่า Reebokจึงไม่เป็นคำพิพากษาเกินคำขอ
พิพากษายืน

Share