คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7206/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสหกรณ์แท็กซี่ร่วมมิตร จำกัด กับสหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จำกัด เป็นนิติบุคคลเดียวกัน การขอแก้ไขเพิ่มเติมชื่อสหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จำกัด เข้ามาจึงมิใช่เป็นกรณีฟ้องจำเลยผิดตัวหรือฟ้องคดีต่างบุคคลกันและมิใช่เป็นการเพิ่มเติมข้อหาใหม่หากแต่เป็นการเพิ่มเติมในรายละเอียดให้ชัดเจนถูกต้องตรงตามความเป็นจริง แม้จะอยู่ในชั้นบังคับคดีแต่ก็มิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาหรือเป็นการบังคับคดีนอกเหนือไปจากคำพิพากษาแต่อย่างใด ทั้งกรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการแก้ไขคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 ฉะนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 180 และ 181 ที่จะต้องถูกจำกัดระยะเวลาการยื่นคำร้องว่าต้องยื่นก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานและไม่จำต้องส่งสำเนาคำร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งก่อนศาลจึงจะมีคำสั่งได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย

ชั้นบังคับคดีโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องและคำพิพากษาเกี่ยวกับชื่อของจำเลยที่ 2 เป็นว่า สหกรณ์แท็กซี่ร่วมมิตร จำกัด หรือสหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จำกัด

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้แก้ไขชื่อจำเลยที่ 2 ตามคำร้อง

จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ศาลชั้นต้นมิได้ส่งสำเนาคำร้องของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอแก้ไขชื่อของจำเลยที่ 2

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในคำพิพากษาว่าให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วมีการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นแก้ไขคำฟ้องและคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับชื่อของจำเลยที่ 2จากเดิม “สหกรณ์แท็กซี่ร่วมมิตร จำกัด” เป็นว่า “สหกรณ์แท็กซี่ร่วมมิตร จำกัดหรือสหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จำกัด” จึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 2 ในคดีนี้คือ สหกรณ์แท็กซี่ร่วมมิตร จำกัด กับสหกรณ์แท็กซี่รวมมิตรจำกัด เป็นนิติบุคคลเดียวกันหรือไม่ ในข้อนี้ตามฟ้องของโจทก์ระบุว่า จำเลยที่ 2มีฐานะเป็นนิติบุคคลปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองของกรมส่งเสริมสหกรณ์เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 เห็นว่า ในเอกสารดังกล่าว แม้จะระบุชื่อสหกรณ์ว่า “สหกรณ์ร่วมมิตร จำกัด” แต่เอกสารฉบับเดียวกันนี้เมื่อกล่าวถึงข้อบังคับในข้อที่ 1 กลับระบุว่า “สหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จำกัด” นอกจากนี้รายละเอียดในข้อสัญญาว่าด้วยการนำรถยนต์เข้ามาเดินร่วมในสหกรณ์ที่จำเลยที่ 2 อ้างส่งศาลตามเอกสารหมาย ล.3 ปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนว่า รถยนต์ที่นำเข้ามาเดินร่วมในสหกรณ์จำเลยที่ 2 ตามสัญญาเอกสารดังกล่าวเป็นรถยนต์ตรงกับที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องนี้ ในทางพิจารณาแม้จำเลยที่ 2จะใช้ชื่อว่าสหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จำกัด แต่ก็หาได้ปฏิเสธว่าตนไม่ได้มีนิติสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับรถยนต์ตามที่โจทก์ฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ในคดีนี้คือ สหกรณ์แท็กซี่ร่วมมิตร จำกัด กับสหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จำกัด นั้นเป็นนิติบุคคลเดียวกัน ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่าศาลชั้นต้นมีอำนาจแก้ไขชื่อของจำเลยที่ 2 ในชั้นบังคับคดีได้หรือไม่เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสหกรณ์แท็กซี่ร่วมมิตร จำกัด กับสหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จำกัด เป็นนิติบุคคลเดียวกัน การขอแก้ไขเพิ่มเติมชื่อสหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จำกัด เข้ามาจึงมิใช่เป็นกรณีฟ้องจำเลยผิดตัวหรือฟ้องคดีต่างบุคคลกันและมิใช่เป็นการเพิ่มเติมข้อหาใหม่ หากแต่เป็นการเพิ่มเติมในรายละเอียดให้ชัดเจนถูกต้องตรงตามความเป็นจริงแม้จะอยู่ในชั้นบังคับคดีแต่ก็มิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาหรือเป็นการบังคับคดีนอกเหนือไปจากคำพิพากษาอย่างใด ทั้งกรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการแก้ไขคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 179 ฉะนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 180 และ 181 ที่จะต้องถูกจำกัดระยะเวลาการยื่นคำร้องว่าต้องยื่นก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานและไม่จำต้องส่งสำเนาคำร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งก่อนศาลจึงจะมีคำสั่งได้ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”

พิพากษายืน

Share