คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7205/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และพวกทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการในการกระทำความผิดดังกล่าวจึงต้องรับผิดในผลของการกระทำของจำเลยที่ 1 และพวกที่ร่วมกระทำผิดด้วยกันเสมือนหนึ่งเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 เอง จำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายของผู้เสียหายโดยใช้อาวุธปืนยิงจนผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส แม้จำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนร่วมในการยิงผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดในผลของการกระทำดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายถึงสาหัส
จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย แม้ที่ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกา แต่ถ้าศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างลงโทษหนักเกินไป ศาลฎีกาก็ย่อม มีอำนาจแก้ไขให้เหมาะสมแก่ความผิดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๘๐, ๙๑, ๒๘๘, ๓๗๑ ริบอาวุธปืน ลูกกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืนของกลาง
จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๘๐, ๓๗๑ … จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗, ๘๓ (ที่ถูกมาตรา ๒๙๗ (๘) , ๘๓ )…
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยที่ ๑ ฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐาน ในสำนวนว่าจำเลยที่ ๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ และพวกทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นตัวการในการกระทำผิด ดังกล่าวจึงต้องรับผิดในผลของการกระทำด้วยกันเสมือนหนึ่งเป็นการกระทำของจำเลยที่ ๑ เอง ดังนั้นเมื่อได้ความว่าจำเลยที่ ๑ ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายโดยใช้อาวุธปืนยิงจนผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส แม้จำเลยที่ ๒ ไม่มีส่วนร่วมในการยิงผู้เสียหาย จำเลยที่ ๒ ก็ต้องรับผิดในผลของการกระทำดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ ๒ มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัสจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ ๒ ด้วยนั้น แม้เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาแต่ถ้าศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างลงโทษหนักเกินไป ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจแก้ไขให้ เหมาะสมแก่ความผิดได้ ได้ความว่าขณะกระทำความผิดจำเลยที่ ๒ เป็นนักศึกษา ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายโดยการ ชกต่อยไม่รุนแรงและไม่มีอาวุธทั้งได้สำนึกผิดด้วยการชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้เสียหายแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงมีเหตุอันสมควรแก้ไขโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีและสมควรให้โอกาสจำเลยที่ ๒ ได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ฐานมีอาวุธปืนจำคุก ๑ ปี ฐานพาอาวุธปืนจำคุก ๖ เดือน รวมกับ โทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นที่ศาลอุทธรณ์จำคุก ๑๐ ปี แล้ว เป็นจำคุก ๑๑ ปี ๖ เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ แล้ว คงจำคุก ๕ ปี ๙ เดือน ลงโทษจำเลยที่ ๒ ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัสจำคุก ๓ ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ แล้ว คงจำคุก ๒ ปี โทษ จำคุกสำหรับจำเลยที่ ๒ ให้รอการลงโทษไว้ ๓ ปี และคุมความประพฤติจำเลยที่ ๒ ไว้ ๒ ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่าน คำพิพากษาฎีกาให้จำเลยที่ ๒ ฟังโดยให้จำเลยที่ ๒ ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ ๔ ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด ให้จำเลยที่ ๒ ละเว้นการประพฤติใดที่อาจนำไปสู่ การกระทำความผิดทำนองนี้อีก กับให้จำเลยที่ ๒ ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงาน คุมประพฤติและจำเลยที่ ๒ เห็นสมควรมีกำหนด ๓๐ ชั่งโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share