คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7201/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องก่อนที่จำเลยที่ 1 จะถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียน จำเลยที่ 1 จึงมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 แต่งตั้งทนายความต่อสู้คดี แม้ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางมีคำสั่งขีดชื่อจำเลยที่ 1 อันมีผลให้จำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคลนับแต่นั้นก็ตาม แต่ ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 บัญญัติไว้ว่า แต่ความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการผู้เป็นหุ้นส่วน กรรมการ ผู้จัดการ และผู้ถือหุ้นมีอยู่เท่าไรก็คงมีอยู่อย่างนั้น และพึงเรียกบังคับได้เสมือนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น ยังมิได้สิ้นสภาพนิติบุคคล ฉะนั้นจำเลยที่ 1 ยังคงต้องรับผิดชอบในคดีดังกล่าวต่อไป ทนายความของจำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจดำเนินคดีตามที่ได้รับแต่งตั้งต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ฉะนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 หลังจากถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางมีคำสั่งขีดชื่อออกจากทะเบียนจึงมิใช่กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบอันจะต้องเพิกถอนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2555 ต่อมาวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 โจทก์ยื่นคำร้องว่า หลังจากโจทก์ยื่นฟ้องแล้ว เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555 นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางมีคำสั่งขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียน ตามมาตรา 1273/3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยที่ 1 จึงสิ้นสภาพนิติบุคคล การดำเนินกระบวนพิจารณาของทนายความจำเลยที่ 1 และศาลชั้นต้นนับแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2555 ตลอดจนการพิพากษา จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นนับแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2555 และคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2554 ขณะจำเลยที่ 1 ยังเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย และจำเลยที่ 1 ได้แต่งตั้งนายนพดล เป็นทนายความต่อสู้คดี ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2555 โดยปรากฏในภายหลังว่าระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางมีคำสั่งขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียนเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555 ตามมาตรา 1273/3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย และโจทก์ฟ้องก่อนที่จำเลยที่ 1 จะถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียน จำเลยที่ 1 จึงมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 1 ถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางมีคำสั่งขีดชื่อจำเลยที่ 1 อันมีผลให้จำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคลนับแต่นั้นก็ตาม แต่บทบัญญัติมาตรา 1273/3 ได้บัญญัติไว้ว่า แต่ความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้เป็นหุ้นส่วน กรรมการ ผู้จัดการ และผู้ถือหุ้นมีอยู่เท่าไรก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้นและพึงเรียกบังคับได้เสมือนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังมิได้สิ้นสภาพนิติบุคคล ฉะนั้น จำเลยที่ 1 ยังคงต้องรับผิดชอบในคดีดังกล่าวต่อไป ทนายความของจำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจดำเนินคดีตามที่ได้รับแต่งตั้งต่อไปได้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ฉะนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 หลังจากถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางมีคำสั่งขีดชื่อออกจากทะเบียนจึงมิใช่กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบอันจะต้องเพิกถอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share