คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 72/2538

แหล่งที่มา : เนติบัญฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ได้ผลิตกระเป๋าส่งมอบให้แก่จำเลยรับไปครบถ้วนตามสัญญาซื้อขายแล้วแต่จำเลยยังค้างชำระค่ากระเป๋าอยู่อีกร้อยละ75โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยชำระราคาทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งจำเลยซื้อไปและยังไม่ได้ชำระราคาได้แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยเจตนาฉ้อโกงก็เป็นการบรรยายฟ้องในลักษณะเล่าเรื่องตามความเข้าใจของโจทก์เองว่าถูกจำเลยหลอกลวงให้ทำกระเป๋าโดยจ่ายเงินเพียงร้อยละ25ของราคาทั้งหมดการจะปรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าเข้าลักษณะสัญญาหรือละเมิดเป็นข้อหารือบทเป็นหน้าที่ของศาลที่จะปรับกฎหมายเองแม้โจทก์จะกล่าวในฟ้องว่าเป็นเรื่องเรียกทรัพย์คืนหรือใช้ราคาก็หาเป็นเรื่องละเมิดเสมอไปไม่ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายศาลมีอำนาจวินิจฉัยไปตามฟ้องได้ว่าเป็นเรื่องซื้อขายไม่เป็นการนอกฟ้อง ในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยฐานร่วมกันฉ้อโกงและขอให้คืนหรือใช้ราคาเงินค่ากระเป๋าที่ฉ้อโกงซึ่งเป็นผู้เสียหายไปศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องแต่การขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้ผู้เสียหายที่พนักงานอัยการขอมาแม้จะถือว่าเป็นการขอแทนโจทก์ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา43ก็ตามแต่ก็เป็นกรณีที่ความเสียหายนั้นเนื่องจากการกระทำผิดอาญาเท่านั้นส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาซื้อขายที่เป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องในมูลแห่งสัญญาซื้อขายที่มีต่อกันอยู่ในคดีอาญาดังกล่าวกับคดีนี้ถึงแม้คำขอบังคับจะมีการขอคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นอย่างเดียวกันก็ตามแต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาก็มิได้เป็นอย่างเดียวกันซึ่งในคดีอาญาข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อที่พนักงานอัยการขอบังคับในส่วนแพ่งมาจากการกระทำผิดอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิดอันเกิดจากข้อกล่าวหาว่าฉ้อโกงแต่คดีนี้มีที่มาจากมูลหนี้แห่งสัญญาซื้อขายโดยโจทก์เรียกร้องเอามูลค่าทรัพย์สินของโจทก์ที่จำเลยยังค้างชำระอยู่มิใช่ฟ้องคดีในเรื่องเดียวกันฟ้องของโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา173วรรคสอง(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลประกอบธุรกิจรับผลิตกระเป๋าหนัง สินค้าจำพวกเครื่องหนังให้แก่ลูกค้าโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน และจำเลยที่ 2ในฐานะส่วนตัวได้ร่วมหลอกลวงนางสาวจันทร์ฉาย แท่นเพชรรัตน์หุ้นส่วนของโจทก์และนางสาวนิตยา เรืองชาติสมบัติ พนักงานติดต่อลูกค้าว่าจำเลยทั้งสองต้องการซื้อกระเป๋าหนังใส่เอกสาร จำนวน1,500 ใบ ราคา 804,336 บาท จากโจทก์เพื่อไปขายต่างประเทศ จำเลยขอชำระราคาล่วงหน้าก่อนร้อยละ 25 เป็นเงิน 198,900 บาท ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 75 เป็นเงิน 605,436 บาท จะชำระภายใน 7 วันนับแต่จำเลยทั้งสองได้รับเอกสารส่งออก ด้วยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้นางสาวจันทร์ฉายและนางสาวนิตยา หลงเชื่อ จึงได้ทำกระเป๋าหนังจำนวนดังกล่าวและได้ส่งมอบให้แก่จำเลยทั้งสองไป โจทก์ไปขอรับชำระราคาจำเลยปฏิเสธ โจทก์ได้ร้องทุกข์ว่า จำเลยทั้งสองฉ้อโกงคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแขวงพระนครใต้คดีอาญาหมายเลขดำที่ 8024/2531 โจทก์ติดต่อทวงถามขอคืนกระเป๋าหนัง1,500 ใบ จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงขอให้จำเลยชำระราคาส่วนที่เหลือจำนวน 605,436 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 กันยายน 2530 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 79,618.98 บาท จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้เงิน 685,054.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 605,436 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า บริษัทเอ๊กซอน เคมิคอล ประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องการกระเป๋าหนังจากจำเลยที่ 1 จำนวน 1,500 ใบจำเลยจึงไปติดต่อซื้อกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ชำระราคาล่วงหน้าร้อยละ25 เป็นเงิน 198,900 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ไปตรวจกระเป๋าเห็นว่าไม่ได้มาตรฐานจึงไม่รับมอบและให้โจทก์แก้ไข โจทก์ไม่ได้แก้ไขจำเลยจึงไม่รับมอบ แต่โจทก์ให้จำเลยรับมอบไปก่อน จำเลยที่ 1จึงรับมอบกระเป๋าส่งให้แก่บริษัทในต่างประเทศแล้ว กรรมสิทธิ์ในกระเป๋าพิพาทจึงเป็นของจำเลยที่ 1 โจทก์ต้องเรียกเอาทรัพย์คืนก่อน หากไม่สามารถเอาทรัพย์คืนได้จึงจะมีสิทธิให้ชำระราคาแทนโจทก์ฟ้องคดีเป็นอาญาไว้แล้ว การที่โจทก์มาฟ้องเป็นคดีนี้อีกให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นมูลคดีเดียวกันกับคดีอาญา จึงเป็นฟ้องซ้อน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคากระเป๋าเป็นเงิน605,436 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดวันที่ 23 กันยายน 2530 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระให้โจทก์เสร็จ คำขออื่นของโจทก์ให้ยก จำเลยที่ 1อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ประกอบธุรกิจรับผลิตกระเป๋าหนังและสินค้าจำพวกเครื่องหนัง เมื่อประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2530 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนได้สั่งให้โจทก์ทำกระเป๋าหนังใส่เอกสารทำด้วยหนังกระบือขัดมัด จำนวน 1,500 ใบ ในราคา 804,336 บาทโดยจำเลยที่ 1 จะส่งไปขายยังต่างประเทศ ในการสั่งทำดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ชำระราคาให้แก่โจทก์ร้อยละ 25 ของราคาสินค้าเป็นเงิน198,900 บาท ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 75 จำเลยที่ 1 จะชำระภายใน7 วัน หลังจากได้รับเอกสารการส่งออก ต่อมาโจทก์ได้ผลิตกระเป๋าให้แก่จำเลยที่ 1 รับไปครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระค่ากระเป๋าส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 75 เป็นจำนวนเงิน 605,436 บาทก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาฐานฉ้อโกงแก่จำเลยทั้งสอง พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานฉ้อโกงและมีคำขอในส่วนแพ่งให้จำเลยทั้งสองคืนกระเป๋าหนัง จำนวน 1,500 บาท หรือใช้เงินแก่ผู้เสียหาย 804,336 บาทและโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีนั้นได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการด้วย ต่อมาศาลพิพากษายกฟ้องปรากฏตามคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 14117/2532 ของศาลแขวงพระนครใต้ตามเอกสารหมาย ล.25
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประการแรกว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองฐานฉ้อโกงและให้ใช้ราคาที่อ้างว่าจำเลยฉ้อโกงเอาไปแล้วโจทก์จะฟ้องเรียกเอาเงินค่ากระเป๋าที่ยังค้างชำระจากจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ได้หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องในคดีนี้ลักษณะเดียวกับในคดีอาญาดังกล่าวเพื่อให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์ เท่ากับโจทก์ต้องการบังคับจำเลยให้รับผิดฐานละเมิดโดยอาศัยมูลฐานจากคดีอาญา เมื่อศาลแขวงพระนครใต้พิพากษายกฟ้องเสียแล้ว จำเลยจึงไม่ควรที่จะต้องรับผิดหรือคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์อีกต่อไป และที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเป็นเรื่องจ้างทำของนั้นก็ไม่ถูกต้องเพราะโจทก์กับจำเลยมีนิติสัมพันธ์กันในเรื่องซื้อขาย แต่ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องละเมิดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องบรรยายว่า โจทก์ประกอบธุรกิจรับผลิตกระเป๋าหนัง เมื่อมีลูกค้าสั่งทำสั่งซื้อ โจทก์ก็จะทำการผลิตตามที่ลูกค้ากำหนดแล้วส่งมอบให้แก่ลูกค้า เมื่อจำเลยที่ 1ในฐานะลูกค้าสั่งให้โจทก์ผลิตกระเป๋าส่งให้ เห็นว่า กรณีเป็นการผลิตและขายให้ลูกค้าผู้สั่งซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างมีเจตนาให้มีการโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ซื้อและผู้ซื้อตอบแทนด้วยการใช้ราคาอันมีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขาย มิใช่เป็นสัญญาจ้างทำของดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เมื่อเป็นสัญญาซื้อขายและได้ความว่าโจทก์ได้ผลิตกระเป๋าส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 รับไปครบถ้วนตามข้อตกลงแล้วแต่จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระค่ากระเป๋าอยู่อีกร้อยละ 75 ของโจทก์จึงชอบที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระราคาทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 ซื้อไปและยังไม่ได้ชำระราคาได้ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยมีเจตนาฉ้อโกงโจทก์ก็เป็นการบรรยายฟ้องในลักษณะเล่าเรื่องตามความเข้าใจของโจทก์เองว่าถูกจำเลยหลอกลวงให้ทำกระเป๋าโดยจ่ายเงินเพียงร้อยละ 25 ของราคาทั้งหมด การจะปรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าเข้าลักษณะสัญญาหรือละเมิดนั้นเป็นข้อหารือบทเป็นหน้าที่ของศาลที่จะปรับบทกฎหมายเอง แม้จะกล่าวในฟ้องว่าเป็นเรื่องเรียกทรัพย์คืนหรือใช้ราคา ก็หาเป็นเรื่องละเมิดเสมอไปไม่ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายศาลมีอำนาจวินิจฉัยไปตามฟ้องได้ ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นและเกินคำขอดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประการต่อไปมีว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 14117/2532 ของศาลแขวงพระนครใต้ หรือไม่ เห็นว่า ในคดีอาญาดังกล่าวพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานความผิดร่วมกันฉ้อโกง และขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ฉ้อโกงไป ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง แต่การขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้ผู้เสียหายที่พนักงานอัยการขอมาในคำฟ้องคดีอาญานั้น แม้จะถือว่าเป็นการขอแทนผู้เสียหาย ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ก็ตามแต่ก็เป็นกรณีที่ความเสียหายนั้นเนื่องมาจากกระทำผิดอาญาเท่านั้นส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาซื้อขายที่ทำให้เป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องในมูลแห่งสัญญาซื้อขายที่มีต่อกันอยู่ ในคดีอาญาดังกล่าวกับคดีนี้ถึงแม้คำขอบังคับจะมีการขอคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นอย่างเดียวกันคือขอให้จำเลยที่ 1ใช้ราคาทรัพย์คือกระเป๋าหนังที่จำเลยที่ 1 รับไปแต่ยังค้างชำระแก่โจทก์อยู่ ดังนี้เห็นว่าข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหามิได้เป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งในคดีอาญานั้นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแหล่งข้อหาที่พนักงานอัยการขอบังคับในส่วนแพ่งเป็นที่เห็นได้ว่ามาจากข้ออ้างเนื่องจากการกระทำอันผิดอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิดอันเกิดจากข้อกล่าวหาว่าฉ้อโกง แต่คดีนี้มีที่มาจากมูลหนี้แห่งสัญญาซื้อขายโดยโจทก์เรียกร้องเอามูลค่าทรัพย์สินของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระอยู่มิใช่ฟ้องคดีในเรื่องเดียวกัน ฟ้องของโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง(1) ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างมาอีกว่าเป็นฟ้องซ้ำด้วยนั้น เห็นว่ากรณีไม่ใช่เป็นการฟ้องซ้ำ เพราะขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ คดีอาญาดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแขวงพระนครใต้ยังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share