แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรโดยอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออก ซึ่งเป็นความเท็จ จนได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษีไปจากโจทก์นั้น เป็นการจงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายแก่ทรัพย์สิน อันเป็นการทำละเมิด จำเลยได้ชื่อว่าเป็นผู้ผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด จึงต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันได้รับบัตรภาษีไปจากโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420, 206 และ 224 วรรคแรก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงิน 2,246,582.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,293,278.99 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และโจทก์ร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 1,293,278.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้อง (วันที่ 29 มีนาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า วันที่ 30 มีนาคม 2538 จำเลยยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ โดยระบุว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกตามพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ.2524 และขอโอนสิทธิในการรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรดังกล่าวให้แก่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) โดยธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ผู้รับโอนได้ทำหนังสือขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีดังกล่าวและสัญญาว่า กรณีที่เกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใดๆ ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้น พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์เชื่อว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรจึงอนุมัติจ่ายเงินชดเชยค่าภาษีอากรและออกบัตรภาษีมูลค่า 1,293,278.99 บาท ให้แก่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ซึ่งธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) นำบัตรภาษีดังกล่าวไปใช้แทนเงินสดในการชำระค่าภาษีอากรแล้ว ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่าจำเลยสำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาออกที่จำเลยยื่นประกอบคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร และจำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรตามกฎหมาย โจทก์ทวงถามจำเลยให้ใช้เงินตามมูลค่าบัตรภาษีที่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) นำไปใช้แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงว่า จำเลยต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ได้รับบัตรภาษีไปจากโจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรตามกฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์หลงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากร จึงออกบัตรภาษีให้แก่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ตามคำขอของจำเลย ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ได้นำบัตรภาษีไปใช้ชำระค่าภาษีอากรแทนเงินสด และโจทก์ได้ใช้เงินตามมูลค่าบัตรภาษีเป็นค่าภาษีอากรแทนแล้ว โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยรับผิดใช้เงินตามมูลค่าบัตรภาษีดังกล่าว การกระทำของจำเลยเช่นนี้เป็นการจงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายแก่ทรัพย์สินอันเป็นการทำละเมิด ซึ่งจำเลยได้ชื่อว่าเป็นผู้ผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารดังกล่าวได้รับบัตรภาษีไปจากโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420, 206 และ 224 วรรคแรก ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าจำเลยต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันครบกำหนดทวงถาม เมื่อไม่ปรากฏวันที่โจทก์ทวงถามจึงให้จำเลยรับผิดใช้ดอกเบี้ยนับแต่ฟ้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 2,246,582.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,293,278.99 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ