แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่ห้องพักเกิดเหตุก็เพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 ชำระหนี้ที่กู้ยืมไปจากกลุ่มของจำเลยทั้งหกให้แก่จำเลยที่ 1 ประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องให้ผู้เสียหายที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าไถ่ตามความหมายในบทนิยามคำว่า “ค่าไถ่” ตาม ป.อ. มาตรา 1 (13) การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 จึงไม่เป็นความผิดฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ โดยการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังบุคคลใด
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกจำเลยที่ 3 ในสำนวนแรกและจำเลยที่ 5 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 3 เรียกจำเลยที่ 4 ในสำนวนแรกและจำเลยที่ 3 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 4 เรียกจำเลยที่ 5 ในสำนวนแรก และจำเลยที่ 6 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 5 เรียกจำเลยที่ 6 ในสำนวนแรก และจำเลยที่ 6 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 5 เรียกจำเลยที่ 6 ในสำนวนแรกและจำเลยที่ 4 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 6 และเรียกผู้เสียหายในสำนวนแรกว่า ผู้เสียหายที่ 1 เรียกผู้เสียหายในสำนวนหลังว่า ผู้เสียหายที่ 2
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 295, 313 (3), 337 (1) (2), 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 8 ทวิ, 72 ทวิ ริบอาวุธปืนของกลาง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 5 ให้การรับสารภาพเฉพาะฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 313 วรรคแรก ประกอบมาตรา 316, 337 วรรคสอง ประกอบมาตรา 80, 83 จำเลยที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย จำคุกคนละ 3 เดือน ฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังบุคคลใด เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 8 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 คนละ 8 ปี 3 เดือน สำหรับจำเลยที่ 5 ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 2,000 บาท จำเลยที่ 5 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 1,000 บาท หากจำเลยที่ 5 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 5 และคำขออื่นสำหรับจำเลยทั้งหกนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ในความผิดฐานพยายามกรรโชกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคสอง ประกอบมาตรา 80, 93, จำคุกคนละ 3 ปี สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเป็นจำคุกคนละ 3 ปี 3 เดือน ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 6 ในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ในความผิดฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังบุคคลใด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 มีความผิดฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังบุคคลใดตามฟ้องหรือไม่ ผู้เสียหายที่ 1 เองที่จะเข้าไปในห้องพักดังกล่าวและร่วมเสพยาเสพติดโดยผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้เตรียมยาเสพติดไปเพื่อเสพร่วมกัน และผู้เสียหายที่ 1 ยังเบิกความอีกว่า ระหว่างอยู่ภายในห้องพัก ไม่มีการใช้เชือกหรือวัสดุอย่างใดผูกขาและมือไว้ ประตูห้องมีลักษณะเป็นลูกบิดเปิดเข้าออกได้ จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ไม่ได้ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายที่ 1 และการที่ผู้เสียหายที่ 1 เดินทางไปที่ห้องพักเกิดเหตุก็เนื่องจากไปเจรจาตกลงเกี่ยวกับเรื่องเงินของจำเลยที่ 1 โดยร้อยตำรวจโทผงเพชร ผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งหกก็เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 3 ถามค้านว่า ผู้เสียหายที่ 2 เล่าให้ฟังว่าเงินจำนวน 15,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 เรียกให้ผู้เสียหายที่ 2 ชำระนั้นเป็นเงินที่ผู้เสียหายที่ 1 กู้ยืมจากกลุ่มของจำเลยทั้งหก ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ร่วมกันพาผู้เสียที่ 1 ไปที่ห้องพักเกิดเหตุก็เพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วยเหตุเช่นนี้ ประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องให้ผู้เสียหายที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าไถ่ตามความหมายในบทนิยามคำว่า “ค่าไถ่” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (13) การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 จึงไม่เป็นความผิดฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังบุคคลใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน