แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เช็คพิพาทเป็นเช็คผู้ถือ ย่อมโอนไปเพียงด้วยการส่งมอบให้แก่กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 918 ประกอบมาตรา 989 เมื่อ ศ. นำเช็คพิพาทมาขายลดให้แก่โจทก์โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาท เมื่อโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยในฐานะทายาทของ พ. จึงต้องร่วมรับผิดชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์ แต่ต้องไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรม และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายไพรัชร่วมกันใช้เงินตามเช็คและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินคิดถึงวันฟ้องเป็นจำนวนเงิน 5,128,424.65 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดจากต้นเงิน 5,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจำนวน 5,128,424.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 5,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นภริยา จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นบุตร โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของนายไพรัช โฆสิตสกุล ผู้ตาย ผู้ตายลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.3 โจทก์นำเช็คพิพาทเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินให้เหตุผลว่า “ผู้สั่งจ่ายถึงแก่กรรม”ตามเอกสารหมาย จ.4 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่าจำเลยทั้งสามต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์และนายศักดิ์ชาย วิมลเกียรติขจร เป็นพยานเบิกความว่า นายไพรัชกู้ยืมจากนายศักดิ์ชายโดยออกเช็คพิพาทให้ไว้ ต่อมานายศักดิ์ชายนำเช็คพิพาทมาขายลดให้แก่โจทก์ เห็นว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คผู้ถือ ย่อมโอนไปเพียงด้วยการส่งมอบให้แก่กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 918ประกอบมาตรา 989 เมื่อนายศักดิ์ชายนำเช็คพิพาทมาขายลดให้แก่โจทก์โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทที่จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ว่า โจทก์กับนายศักดิ์ชายคบคิดกันฉ้อฉลโอนเช็คกันโดยไม่มีมูลหนี้ ซึ่งจำเลยทั้งสามมีภาระต้องพิสูจน์นั้นก็คงได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1แต่เพียงว่าระหว่างจัดงานศพของนายไพรัช ได้มีนายศักดิ์ชายไปหาพยานในงานศพและบอกว่าเป็นเจ้าหนี้ผู้ตายจำนวน 5,000,000 บาทพยานบอกนายศักดิ์ชายว่าเข้าใจว่าเป็นหนี้การพนัน และได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ว่า ผู้ตายเป็นหนี้ธนาคารและบุคคลภายนอกประมาณ 60,000,000 ถึง 70,000,000 บาท ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงยังไม่พอฟังว่า โจทก์กับนายศักดิ์ชายคบคิดกันฉ้อฉลโอนเช็คพิพาทกันโดยไม่มีมูลหนี้ตามที่จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดี เมื่อโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสามในฐานะทายาทของนายไพรัชจึงต้องร่วมรับผิดชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์ แต่ต้องไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสามในฐานะทายาทให้ชำระหนี้ก่อนจึงถือว่าหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระตามกฎหมาย โจทก์ไม่อาจฟ้องคดีได้นั้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลอุทธรณ์ฎีกาของจำเลยทั้งสามดังกล่าวจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน