แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 50 ผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรา 24 ต้องระวางโทษปรับสิบห้าเท่าของ ค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดหรือที่ยังขาดอยู่แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยบาทเป็นการกำหนดโทษปรับไว้ตายตัว ศาลจึงกำหนดโทษปรับให้น้อยกว่าสิบห้าเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งมิใช่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบได้มีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งยาสูบที่ผลิตในต่างประเทศที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบจำนวน 750 ของ น้ำหนัก 15,750 กรัมคิดเป็นค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดทั้งสิ้น 13,500 บาทขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 4, 5,15, 19, 23, 24, 44, 49, 50 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 19 วรรคแรก, 24 วรรคแรก,49, 50 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่ผลิตในต่างประเทศที่ไม่ได้ปิดแสตมป์ยาสูบซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 วางโทษปรับ 202,500 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30แต่มิให้เกิน 2 ปี ริบยาสูบของกลางเป็นของกรมสรรพสามิต
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่ามาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 เป็นบทกำหนดโทษให้ศาลมีอำนาจที่จะปรับเท่าใดก็ได้ แต่ต้องไม่เกินสิบห้าเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิด จึงขอให้กำหนดโทษปรับให้น้อยลงอีกนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 50บัญญัติว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 24 ต้องระวางโทษปรับสิบห้าเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดหรือที่ยังขาดอยู่แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยบาท ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดโทษปรับไว้ตายตัวว่าจะต้องปรับสิบห้าเท่าของแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิด โดยมิได้ให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าจะกำหนดโทษปรับเท่าใดก็ได้ แต่ต้องไม่เกินสิบห้าเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิด ดังนั้น ศาลจึงไม่อาจกำหนดโทษปรับให้น้อยกว่าสิบห้าเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน