คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 718/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้องทางทะเล ย่อมต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายของสินค้าดังกล่าวที่ได้เกิดขึ้นระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่ขนส่งสินค้าจากเมืองท่าสิงคโปร์มายังท่าเรือกรุงเทพซึ่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 39 วรรคสองและมาตรา 40 (3) ให้ถือว่าสินค้าตามฟ้องยังคงอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1และที่ 2 ผู้ขนส่งจนกว่าจะได้มีการส่งมอบสินค้าให้แก่เจ้าหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เมื่อเรือขนส่งสินค้ามาจอดเทียบท่าเรือกรุงเทพจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าของเรือได้ติดต่อเช่ารถปั้นจั่นของการท่าเรือแห่งประเทศไทยมาทำการขนสินค้าขึ้นจากเรือและตามหลักฐานการชำระค่าเช่าระบุว่ามีการคิดค่าเช่าโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้จ่าย แสดงให้เห็นได้ว่าหน้าที่ในการขนส่งสินค้าขึ้นจากเรือยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ขนส่งอยู่ เพียงแต่อาจมีเหตุจำเป็นที่ปั้นจั่นของเรือขนส่งสินค้าไม่สามารถยกสินค้าดังกล่าวขึ้นจากเรือได้จึงต้องมีการเช่ารถปั้นจั่นของการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อให้ทำหน้าที่แทนปั้นจั่นของเรือ การทำหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงเป็นการทำงานแทนและเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเห็นได้ว่าการขนสินค้าตามฟ้องขึ้นจากเรือลงไปวางไว้ที่พื้นหน้าท่าเป็นขั้นตอนหนึ่งในการส่งมอบสินค้าให้ไปอยู่ในความครอบครองดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทย การที่ลวดสลิงที่รัดยึดสินค้าเกิดขาดในระหว่างที่ปั้นจั่นยกลอยขึ้นจากเรือกำลังจะเคลื่อนย้ายมาวางที่พื้นหน้าท่าและตกกระแทกพื้นที่หน้าท่าทำให้สินค้าได้รับความเสียหายนั้น ถือว่าเป็นเหตุที่เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าดังกล่าวยังอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยทั้งสองย่อมต้องรับผิดเพื่อความเสียหายดังกล่าว โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าความเสียหายนั้นเกิดจากความผิดหรือประมาทเลินเล่อของผู้ควบคุมรถปั้นจั่นซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยหรือไม่ เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ขนส่งย่อมต้องรับผิดในความผิดหรือประมาทเลินเล่อของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยทั้งสองอยู่แล้ว กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 42 (13)

ย่อยาว

คดีนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับโอนมาจากศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 46
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,642,702.69 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,640,006.79 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ให้เรียกการท่าเรือแห่งประเทศไทยเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ตามคำร้องขอของจำเลยที่ 1 และที่ 2
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 469,470 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างคู่ความทุกฝ่ายให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า บริษัทดีทแฮล์ม จำกัด ได้สั่งซื้อรถยกและไสดินสแคร็พเปอร์ จำนวน 11 คัน จากบริษัทเดรสเซอร์ สิงคโปร์ พีทีอี จำกัด สินค้าดังกล่าวได้บรรทุกลงเรือพิชิตสมุทรจากเมืองท่าสิงคโปร์มายังท่าเรือกรุงเทพเพื่อส่งมอบให้แก่บริษัทดีทแฮล์ม จำกัด ผู้ซื้อ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ขนส่ง จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนเรือ โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าดังกล่าวในวงเงิน 1,704,890ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเรือพิชิตสมุทรเดินทางมาถึงและจอดเทียบท่าที่ท่าเรือกรุงเทพ จำเลยที่ 3 ได้ว่าจ้างบริษัทจัน แอนด์ ซัน จำกัด ให้ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือพิชิตสมุทรรวมทั้งรถยกและไสดินสแคร็พเปอร์ทั้งสิบเอ็ดคันด้วย โดยได้มีการติดต่อเช่ารถปั้นจั่นของจำเลยร่วมเพื่อใช้ยกรถยกและไสดินสแคร็พเปอร์ทั้งสิบเอ็ดคัน ซึ่งในการยกรถยกและไสดินสแคร็พเปอร์ขึ้นจากเรือ คนงานของบริษัทจัน แอนด์ ซัน จำกัด จะเป็นผู้นำตะขอของรถปั้นจั่นเกี่ยวคล้องเข้ากับลวดสลิงที่คล้องผูกอยู่กับตัวรถ เจ้าหน้าที่ของจำเลยร่วมจะเป็นผู้ควบคุมรถปั้นจั่นโดยจะทำการยกรถยกและไสดินสแคร็พเปอร์ขึ้นจากเรือพิชิตสมุทรไปวางที่พื้นหน้าท่าทีละคัน ในการยกรถยกและไสดินสแคร็พเปอร์คันที่ 3 ขณะที่ยังไม่ทันถึงพื้นที่หน้าท่า ปรากฏว่าลวดสลิงที่คล้องตัวรถยกและไสดินสแคร็พเปอร์ขาด เป็นเหตุให้รถยกและไสดินสแคร็พเปอร์คันที่ 3 เสียการสมดุลและแกว่งตกลงกระแทกพื้นที่หน้าที่ได้รับความเสียหายคิดเป็นค่าเสียหายจำนวน 1,640,006.79 บาท โจทก์ได้ชำระค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวให้แก่บริษัทดีทแฮล์ม จำกัด ผู้รับตราส่ง ไปแล้วเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2537 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ขนส่งต้องรับผิดเพื่อความเสียหายของรถยกและไสดินสแคร็พเปอร์ดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด

พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ว่า ความเสียหายของรถยกและไสดินตามฟ้องมิได้เกิดขึ้นขณะอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ขนส่งแต่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของจำเลยร่วมและความเสียหายก็มิได้เกิดจากความผิดหรือความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้ารถยกและไสดินสแคร็พเปอร์ตามฟ้องทางทะเล จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายของรถยกและไสดินดังกล่าวที่ได้เกิดขึ้นระหว่างที่รถยกและไสดินดังกล่าวอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่ขนส่งรถยกและไสดิน สแคร็พเปอร์ตามฟ้องจำนวน 11 คัน จากเมืองท่าสิงคโปร์มายังท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 39 วรรคสองและมาตรา 40 (3) ให้ถือว่าสินค้ารถยกและไสดินตามฟ้องยังคงอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ขนส่งจนกว่าจะได้มีส่งมอบสินค้าดังกล่าวให้แก่เจ้าหน้าที่ของจำเลยร่วม ได้ความว่าเมื่อเรือพิชิตสมุทรมาจอดเทียบท่าที่ท่าเรือกรุงเทพ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าของเรือได้ติดต่อเช่ารถปั้นจั่นของจำเลยร่วมมาทำการขนรถยกและไสดินตามฟ้องขึ้นจากเรือพิชิตสมุทรมาวางไว้ที่หน้าท่าเรือ และตามหลักฐานการชำระค่าเช่าเอกสารหมาย ล.11 ถึง ล.14 ระบุว่ามีการคิดค่าเช่ากันเป็นชั่วโมง ชั่วโมงละ 4,000 บาท โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้จ่ายค่าเช่าดังกล่าว แสดงให้เห็นได้ว่าหน้าที่ในการขนสินค้ารถยกและไสดินสแคร็พเปอร์ขึ้นจากเรือยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ขนส่งอยู่ เพียงแต่อาจมีเหตุจำเป็นที่ปั้นจั่นของเรือพิชิตสมุทรไม่สามารถยกสินค้าดังกล่าวขึ้นจากเรือได้ จึงต้องมีการเช่ารถปั้นจั่นของจำเลยร่วมเพื่อให้ทำหน้าที่แทนปั้นจั่นของเรือ การทำหน้าที่ขนรถยกและไสดินดังกล่าวขึ้นจากเรือพิชิตสมุทรมาวางไว้ที่พื้นท่าเรือของจำเลยร่วมจึงเป็นการทำงานแทนและเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นายกัมพล หัวหน้าแผนกโรงพักสินค้า 3 ซึ่งมีหน้าที่ในการรับและดูแลสินค้าที่ขนลงจากเรือมาไว้ในความดูแลของจำเลยร่วมได้มาเบิกความเป็นพยานจำเลยร่วมว่าตามระเบียบของจำเลยร่วมสินค้าที่ขนลงจากเรือจะถือว่าอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของจำเลยร่วมต่อเมื่อสินค้านั้นถูกขนถ่ายลงถึงพื้นหน้าท่าของจำเลยร่วม ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อกำหนดความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งได้ระบุไว้ในใบตราส่ง เอกสารหมาย จ.8 หรือ ล.5 ว่า ความรับผิดของเจ้าของเรือจะสิ้นสุดลงโดยเด็ดขาดเมื่อสินค้าได้หลุดพ้นไปจากรอกยกของเรือแล้ว ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าการขนสินค้ารถยกและไสดินตามฟ้องขึ้นจากเรือพิชิตสมุทรลงไปวางไว้ที่พื้นหน้าท่าเป็นขั้นตอนหนึ่งในการส่งมอบสินค้าให้ไปอยู่ในความครอบครองดูแลของจำเลยร่วม การที่ลวดสลิงที่รัดยึดระหว่างหัวรถกับตัวรถยกและไสดินเกิดขาดในระหว่างที่ปั้นจั่นยกลอยขึ้นจากเรือกำลังจะเคลื่อนย้ายมาวางที่พื้นหน้าท่า ทำให้หัวรถและตัวรถพับเข้าหากัน รถยกและไสดินดังกล่าวเสียการสมดุลและแกว่ง และต่อมาได้ตกลงกระแทกพื้นที่หน้าท่าอย่างแรง ทำให้รถยกและไสดินคันดังกล่าวได้รับความเสียหายนั้นถือว่าเป็นเหตุที่เกิดขึ้นในขณะที่การส่งมอบสินค้าแก่จำเลยร่วมยังไม่เสร็จสมบูรณ์ความเสียหายดังกล่าวจึงถือได้ว่าได้เกิดขึ้นในระหว่างที่รถยกและไสดินคันที่ 3 ยังอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมต้องรับผิดเพื่อความเสียหายดังกล่าว โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าความเสียหายนั้นเกิดจากความผิดหรือประมาทเลินเล่อของผู้ควบคุมรถปั้นจั่นซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยร่วมหรือไม่ เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ขนส่งย่อมต้องรับผิดในความผิดหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยร่วม ซึ่งขณะนั้นอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อยู่แล้ว กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่งตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 52(13) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share