คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 717/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2531 ซึ่งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา และมีคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีวันที่ 1 ธันวาคม 2531 โดยจำเลยมิได้โต้แย้งไว้ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226(2) ในการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี มีผู้เสนอราคาสูงสุดกว่าราคาประเมินจำเลยคัดค้านลอย ๆ ว่าเป็นราคาต่ำกว่าราคาประเมินของกรมที่ดิน แต่เมื่อราคาที่เสนอเป็นราคาเหมาะสมกับสภาพทรัพย์สิน การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์นั้นไป เป็นการใช้ ดุลพินิจโดยสุจริต มิได้เป็นการแสดงว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีสมรู้กับ โจทก์และผู้ร้องจำเลยจะขอให้ศาลสั่งขายทอดตลาดใหม่ โดยแสดง หนังสือรับรองราคาประเมินเข้ามาหาได้ไม่.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 44,042,739.60 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมภายในหกเดือนนับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อมาจำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์ขอให้บังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินพิพาทของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 444 ตำบลลาดพร้าวฝั่งเหนือ อำเภอบางกะปิกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาด เมื่อวันที่ 7มิถุนายน 2531 ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อได้ โดยให้ราคาสูงสุดเป็นเงิน39,500,000 บาท
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ทราบว่าทรัพย์สินพิพาทมีราคาประเมินรวมทั้งสิ้น 51,388,701 บาท แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ขายทอดตลาดให้แก่ผู้ร้องด้วยราคาเพียง 39,500,000 บาท ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 1ได้คัดค้านในทันทีว่าขายราคาต่ำเกินไป ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีควรจะเลื่อนการขายทอดตลาดไปการกระทำของเจ้าพนักงานบังคับคดีแสดงถึงการกระทำอันเป็นการฉ้อฉลต่อจำเลยที่ 1 โดยสมคบกับโจทก์และผู้ร้องเพื่อให้ผู้ร้องซื้อทรัพย์สินพิพาทของจำเลยที่ 1ไปในราคาถูกกว่าราคาจริงถึง 11,000,000 บาท ขอให้มีคำสั่งขายทอดตลาดใหม่
โจทก์และผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของศาลคัดค้านทำนองเดียวกันว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินพิพาทโดยสุจริตตามวิธีการและระเบียบปฏิบัติทั้งราคาที่ผู้ร้องซื้อได้ก็สูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดี ไม่มีการร่วมมือกันฉ้อฉลเพื่อให้ผู้ร้องซื้อได้ในราคาถูกขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษา มีบุคคลภายนอกเข้าสู้ราคาโดยชอบ และให้ราคาสูงกว่าราคาที่ประเมินไว้ ไม่มีพฤติการณ์ส่อให้เห็นว่า ผู้ซื้อสมรู้กันกดราคาการขายทอดตลาดสมบูรณ์ตามระเบียบแล้ว จึงสั่งให้ขายใหม่ไม่ได้ ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ยังติดใจสืบผู้อำนายการสำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สินกรมที่ดิน แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตัดพยานจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยที่ 1 ที่เหลือนั้นได้ความว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2531 และมีคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีในวันที่1 ธันวาคม 2531 โดยจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งไว้แต่อย่างใด เห็นว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งไว้โดยมีโอกาสที่จะโต้แย้งได้ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 1 คัดค้านราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีและมีหนังสือรับรองราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินเอกสารหมาย ร.2 มาแสดง โจทก์มิได้คัดค้านต้องถือว่าราคาที่ดินตามหนังสือรับรองราคาประเมินเอกสารหมาย ร.2ถูกต้องและเป็นบรรทัดฐานในการขาย ทั้งราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินก็เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่ามีค่าประมาณร้อยละ 70 ของราคาที่แท้จริง ทรัพย์สินพิพาทควรมีราคาแท้จริงไม่น้อยกว่า 65,000,000บาท หากเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีส่วนรู้เห็นกับโจทก์ก็ควรจะเลื่อนการขายทอดตลาดไปนั้น ได้ความตามทางไต่สวนประกอบกับรายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดี รายงานข้อเท็จจริงในการบังคับคดีต่อศาลว่าเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2531 ผู้แทนโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินพิพาทของจำเลยที่ 1 ได้ประเมินราคาไว้ 34,910,000บาท ได้แจ้งการยึดและราคาประเมินทรัพย์สินพิพาทที่ยึดให้จำเลยที่ 1 ทราบโดยชอบแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินพิพาทเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2531 ในวันขายทอดตลาดปรากฏว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มาฟังการขาย มีผู้สนใจเข้าฟังการขาย 40 คนและมีผู้เข้าสู้ราคา 5 คน ผู้ร้องเป็นผู้เสนอราคาสูงสุดเป็นเงิน39,500,000 บาท จำเลยที่ 1 ค้านว่าราคาต่ำ ราคาประเมินทรัพย์สินพิพาทของทางราชการเปลี่ยนแปลงไปโดยประเมินราคาปัจจุบันไว้51,000,000 บาทเศษ เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าราคาที่เสนอสูงกว่าราคาประเมินและราคาประเมินนี้ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบในชั้นยึดทรัพย์แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้คัดค้าน ราคาที่เสนอเป็นราคาที่เหมาะสมกับสภาพทรัพย์สินพิพาท จึงได้เคาะไม้ขายไปในราคาดังกล่าวเเห็นว่าจำเลยที่ 1 คัดค้านการขายว่าราคาต่ำกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและอ้างว่าราคาประเมินตามหนังสือรับรองราคาประเมินเอกสารหมาย ร.2 ต้องถือเป็นบรรทัดฐานในการขาย แต่วันขายทอดตลาดนั้นจำเลยที่ 1 อ้างราคาประเมินของทางราชการโดยไม่มีหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ในการขายทอดตลาดมีผู้มาฟังการขายถึง 40 คน และมีผู้เข้าสู้ราคา 5 คน เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ขายทอดตลาดทรัพย์สินพิพาทของจำเลยที่ 1ได้ทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาทั้งมีบุคคลภายนอกเข้าสู้ราคาโดยชอบ เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่ามีผู้สู้ราคาสูงกว่าราคาที่ประเมินไว้ และเป็นราคาเหมาะสมกับสภาพทรัพย์สินพิพาท จึงขายทอดตลาดทรัพย์สินพิพาทไปเป็นการใช้ดุลพินิจโดยสุจริต มิได้เป็นการแสดงว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีสมรู้กับโจทก์และผู้ร้อง ถือได้ว่าการขายทอดตลาดสมบูรณ์แล้ว จำเลยที่ 1 จะขอให้ศาลสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินพิพาทใหม่ โดยแสดงหนังสือรับรองราคาประเมินเอกสารหมาย ร.2 เข้ามาหาได้ไม่”
พิพากษายืน.

Share